คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๒


คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๒
พลเอก ชวลิต  ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ – ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
แถลงนโยบายเมื่อวันพุธที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๙

คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ

                ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ นั้น

                บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายหลักของการบริหารราชการแผ่นดินที่จะเทิดทูน และยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะสถาปนาความเชื่อมั่นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สรรค์สร้างความสมัครสมานสามัคคีและนำมาซึ่งการอยู่ดีกินดีของประชาชน จะเร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะเร่งสร้างฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งให้มีการกระจายประโยชน์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม จะผลักดันให้มีการปรับทัศนคติ และระบบการทำงานของภาครัฐจากการปกครองประชาชนมาเป็นการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และปรับระบบการทำงานของภาครัฐจากที่เป็นผู้คิดเองทำเองมาเป็นระบบที่ร่วมคิดร่วมทำกับภาคเอกชนและประชาชน โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านการที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐขณะเดียวกันจะส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนในชาติมีวินัย พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับการบริการที่ดี มีการศึกษาที่ได้มาตรฐาน มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจและสติปัญญาและอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี

               คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินไว้ ๑๑ ด้าน โดยมีรายละเอียด
ของนโยบายดังต่อไปนี้

๑. นโยบายด้านการเมือง

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะดำเนินการ

               ๑.๑ เร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยสนับสนุนให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

               ๑.๒ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน องค์กรเอกชนและสื่อสารมวลชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

               ๑.๓ เร่งรัดผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้มีศาลปกครองขึ้นเป็นเอกเทศจากระบบศาลยุติธรรมโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

               ๑.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนรัฐสภาและพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันที่มีความ เข้มแข็งและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน

๒. นโยบายด้านการบริหาร

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคตเพื่อเผชิญกับยุตโลกาภิวัฒน์ โดยจะดำเนินการ

               ๒.๑ นโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน

                      ๒.๑.๑ ปรับลดบทบาทของรัฐจากที่เป็นผู้ดำเนินการมาเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ กำกับดูแล รักษากติกาวางแผน และประสานงาน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการแทนในกิจการที่รัฐไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเอง

                      ๒.๑.๒ ปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและสนองตอบต่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ

                      ๒.๑.๓ ปรับปรุงกลไกและวิธีการบริหารงบประมาณแผ่นดินให้การจัดสรรงบประมาณตอบสนองต่อนโยบายและเป้าหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                      ๒.๑.๔ ผลักดันให้มีการปรับทัศนคติและระบบการทำงานของภาครัฐจากการปกครองประชาชนมาเป็นการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการบริการของรัฐให้เป็นที่พอใจของประชาชน

                      ๒.๑.๕ ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐนำอุปกรณ์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่และในการให้บริการประชาชน จัดทำระบบฐานข้อมูลทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ

                      ๒.๑.๖ พัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีสมรรถนะสูงขึ้นและให้ได้รับเงินเดือน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สัมพันธ์กับคุณภาพของงานและสอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมอย่างสมฐานะ มีเกียรติ และศักดิ์ศรี

               ๒.๒ นโยบายด้านการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น

                      ๒.๒.๑ ปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกัน เร่งรัดการกระจายภารกิจหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นมากขึ้น และถ่ายเทบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นตามความเหมาะสม

                      ๒.๒.๒ เร่งรัดการกระจายรายได้ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนและเพียงพอที่จะบริหารกิจการตามอำนาจหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว

               ๒.๓ นโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

                      ๒.๓.๑ ให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของรัฐ และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

                      ๒.๓.๒ ให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ในปัญหาสำคัญของชาติ

                      ๒.๓.๓ ให้ประชาชนและสื่อสารมวลชนสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มากยิ่งขึ้น

               ๒.๔ นโยบายด้านการอำนวยความยุติธรรม

                      ๒.๔.๑ ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลโดยการจัดตั้งระบบงานระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในสังคมโดยการไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาท และโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ

                      ๒.๔.๒ ให้บริการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน และสนับสนุนบทบาทของทนายความในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

                      ๒.๔.๓ พัฒนาบุคลากรและกระบวนการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและทั่วถึง เพื่อรองรับสิทธิของบุคคลในการร้องทุกข์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

               ๒.๕ นโยบายด้านการปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               ปรับปรุงระบบกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคต รวมทั้งให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

๓. นโยบายด้านเศรษฐกิจ

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ ลดช่องว่างและขจัดความยากจนในประเทศให้ลดน้อยลงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ โดยจะดำเนินการ

               ๓.๑ นโยบายด้านการเงินการคลัง

               รัฐบาลจะรักษาระเบียบวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และจะดำเนินนโยบายการเงินการคลังให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ตลอดจนพัฒนาตลาดการเงินและตลาดทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคนี้ โดยจะดำเนินการ

                      ๓.๑.๑ ส่งเสริมให้มีการลงทุนในระบบเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตและแหล่งงานของประเทศ

                      ๓.๑.๒ ระดมเงินออมภายใต้ประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือนด้วยมาตรการจูงใจและมาตรการเร่งรัดเพื่อลดช่องว่างระหว่างเงินออมและเงินลงทุนให้ต่ำลงและลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ

                      ๓.๑.๓ รักษาเสถียรภาพของระดับราคาผู้บริโภคและควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินภาครัฐให้อยู่ในระดับที่ไม่กดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

                      ๓.๑.๔ แก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดให้มีระดับต่ำลง ด้วยมาตรการทั้งในด้านการเพิ่มแหล่งรายได้และเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

                      ๓.๑.๕ เร่งรัดฟื้นฟูแก้ไขภาคเศรษฐกิจที่มีปัญหาโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ด้อยประสิทธิภาพการแข่งขัน การเกษตรที่ผลผลิตต่ำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการเงินโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค รวมทั้งจะดูแลรักษาสภาพคล่องทางการเงินภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ

                      ๓.๑.๖ เปิดเสรีและผ่อนคลายข้อจำกัดทางการเงินอย่างเป็นขั้นตอน และในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งในด้านธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต และสถาบันการเงินอื่น ๆ

                      ๓.๑.๗ สนับสนุนให้สถาบันการเงินมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบกระจายรายได้ กระจายแหล่งงาน และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น

                      ๓.๑.๘ พัฒนาตลาดการเงิน ตลาดทุนและตลาดเงินตราต่างประเทศให้มี ประสิทธิภาพและเป็นสากลภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม

               ๓.๒ นโยบายด้านการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ

               รัฐบาลจะดำเนินการให้ราคาและคุณภาพสินค้าอุปโภคบริโภคมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจและจะเพิ่มพูนศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขัน โดยจะดำเนินการ

                      ๓.๒.๑ แก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงและคุณภาพต่ำด้วยการเปิดเสรีและส่งเสริมการแข่งขันในระบบตลาดภายใน เร่งมาตรการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตสินค้าโดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและสินค้าจำเป็น ตลอดจนคุ้มครองดูแลผู้อุปโภคบริโภคให้ได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขัน

                      ๓.๒.๒ รักษาระดับราคาพืชผลให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตด้วยมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการขายทั้งในและต่างประเทศด้วยมาตรการแทรกแซงด้านการตลาด

                      ๓.๒.๓ เสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการแข่งขันกับต่างประเทศด้วยการเพิ่มประสทิธิภาพการผลิต การขนส่งและการตลาด ส่งเสริมภาคบริการที่มีความสำคัญต่อการค้าและการลงทุน ปรับปรุงกฎระเบียบทางธุรกิจให้เป็นสากลและสะดวกคล่องตัว

               ๓.๓ นโยบายด้านอุตสาหกรรม

               รัฐบาลจะดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยนตลาดโลก โดยจะดำเนินการ

                      ๓.๓.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมส่งออกในชนบท

                      ๓.๓.๒ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ได้ด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและสนับสนุนใหมีการลงทุนอย่างเต็มที่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่แข่งขันได้ในเศรษฐกิจยุคใหม่และในอุตสาหกรรมสนับสนุน

                      ๓.๓.๓ ยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศ

                      ๓.๓.๔ ควบคุมมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

                      ๓.๓.๕ สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้าอุตสาหกรรม

               ๓.๔ นโยบายด้านเกษตรกรรม

               รัฐบาลจะดำเนินการพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ของเกตรกร และสร้างโอกาสการมีงานทำโดยมุ่งปรับโครงสร้างการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนให้มีการนำผลิตผลทางการเกษตรมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยระบบอุตสาหกรรมการเกษตร โดยจะดำเนินการ

                      ๓.๔.๑ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจตามความต้องการของตลาด ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วย ยกระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นธรรมต่อเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมนอกภาคเกษตร สนับสนุนข้อมูลข่าวสารการเกษตร และปรับย้ายแรงงานภาคเกษตรให้ไปอยู่ในภาคอื่นตามความเหมาะสม รวมทั้งเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ตลอดจนจัดทำแผนการปรับตัวภาคเกษตรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดสินค้าเกษตรในอนาคต

                      ๓.๔.๒ เร่งรัดการปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนและไม่มีที่ดินทำกินเพียงพอตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

                      ๓.๔.๓ จัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคให้มีเพียงพอและทั่วถึงและจัดทำแผนแม่บทการชลประทานเพื่อวางแผนการจัดหาน้ำให้แก่เกษตรในระยะยาว

                      ๓.๔.๔ แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรทั้งในระบบและนอกระบบด้วยการจัดสรรเงินสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนหนี้ให้เข้าสู่ระบบ ตลอดจนสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรนและขยายเวลาการชำระหนี้ให้เหมาะสม

                      ๓.๔.๕ สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรมีการบริหารและการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นองค์กรสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม

                      ๓.๔.๖ ฟื้นฟูทรัพยากรประมงในน่านน้ำไทย ส่งเสริมและพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำไทยและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงชายฝั่งและสัตว์น้ำจืดที่มีความคัญต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนการปรับปรุงเครื่องมือประมงเพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ชายฝั่ง

                      ๓.๔.๗ ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงและบำรุงพันธุ์ปศุสัตว์ให้มีคุณภาพและเพิ่มผลผลิต รวมทั้งป้องกันและแก้ไขโรคสัตว์ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อการบริโภคและการส่งออกอย่างครบวงจร

               ๓.๕ นโยบายด้านการขนส่งและการสื่อสาร

               รัฐบาลจะดำเนินการกระจายเครือข่ายการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศและการสื่อสารให้ทั่วถึง โดยจะดำเนินการ

                       ๓.๕.๑ การขนส่งทางบก

                                  ๓.๕.๑.๑ พัฒนา ปรับปรุง และขยายเครือข่ายทางหลวงและเส้นทางการขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดต่าง ๆ และระหว่างจังหวัดในทุกภาคของประเทศ โดยเร่งรัดให้มีการก่อสร้างขยายถนนทั้งในแนวราบและแนวยกระดับระหว่างภาครัฐและระหว่าง จังหวัดที่มีการจราจรหนาแน่น

                                  ๓.๕.๑.๒ ปรับปรุงเส้นทางรถไฟสายหลักให้เป็นทางคู่ขนาน และให้มีการนำรถไฟความเร็วสูงมาใช้ในเส้นทางที่เหมาะสม

                                  ๓.๕.๑.๓ เร่งรัดการจัดสร้างเครือข่ายการขนส่งทางรถยนต์และรถไฟกับ ประเทศเพื่อนบ้าน

                       ๓.๕.๒ การขนส่งทางน้ำ

                                 ๓.๕.๒.๑ เร่งรัดให้มีการใช้ท่าเรือน้ำลึกในเขตพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเต็มที่ และเร่งรัดการก่อสร้างและการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่อื่น ๆที่เหมาะสม ตลอดจนประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและใช้ท่าเรือน้ำลึก

                                 ๓.๕.๒.๒ ส่งเสริมและจัดระบบการจราจรและการขนส่งทางน้ำ

                                 ๓.๕.๒.๓ ส่งเสริมการพาณิชย์นาวีอย่างจริงจัง ฟื้นฟูระบบการขนส่งชายฝั่งทะเลและสนับสนุนกิจการอู่เรือ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชย์นาวีให้เพียงพอและได้มาตรฐานสากล

                       ๓.๕.๓ การขนส่งทางอากาศ

                                 ๓.๕.๓.๑ เร่งรัดการก่อสร้างและปรับปรุงสนามบินภายในประเทศและระหว่างระเทศให้ทันสมัย ตามความจำเป็นและเหมาะสม

                                 ๓.๕.๓.๒ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสายการบินเพิ่มขึ้น เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่และศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศนานาชาติ ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารงานของสายการบินแห่งชาติให้มีคุณภาพในการให้บริการมากยิ่งขึ้น

                                 ๓.๕.๓.๓ เพิ่มขีดความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย

                       ๓.๕.๔ การสื่อสาร

                                 ๓.๕.๔.๑ พัฒนา ปรับปรุง และขยายบริการสื่อสารไปรษณีย์และโทรคมนาคมให้สามารถบริการประชาชนได้ทั่วถึงทั้งประเทศ

                                 ๓.๕.๔.๒ เร่งรัดขยายบริการโทรศัพท์ให้มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการและขยายโทรศัพท์ทางไกลชนบทให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน

                                 ๓.๕.๔.๓ เร่งรัดให้มีแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน

               ๓.๖ นโยบายด้านพลังงาน

               รัฐบาลจะดำเนินการให้มีพลังงานเพียงพอกับความต้องการ มีระดับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยจะดำเนินการ

                      ๓.๖.๑ ส่งเสริมและรณรงค์ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสนับสนุนให้มีการผลิตเครื่องใช้พลังงานประสิทธิภาพสูงที่ช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานอื่น ๆ มาใช้ทดแทน

                       ๓.๖.๒ พัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันและแก๊สทางท่อให้กระจายสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการขนส่งและลดปัญหาการจราจร

                       ๓.๖.๓ ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการพลังงานมากขึ้นบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน

               ๓.๗ นโยบายด้านการท่องเที่ยว

               รัฐบาลจะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีค่ายิ่ง โดยจะดำเนินการ

                       ๓.๗.๑ เสริมสร้างค่านิยมให้ประชาชนท่องเที่ยวประเทศมากขึ้น โดยให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคตลอดปี

                       ๓.๗.๒ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวในทิศทางยั่งยืนให้สามารถรองรับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในระยะยาว

                       ๓.๗.๓ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ปลอดภัย มีความสวยงามและเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวตลอดไป

                       ๓.๗.๔ ส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการขยายโครงข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานและการบริการต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ

๔. นโยบายด้านต่างประเทศ

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระและมีเอกภาพ โดยจะดำเนินการ

               ๔.๑ เสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในเอเชีย และสนับสนุนการสร้างสันติภาพของโลก

               ๔.๒ ขจัดปัญหา อุปสรรค และขยายความสัมพันธ์ในทุกด้านกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย

               ๔.๓ ดำเนินนโยบายที่ช่วยเหลือเสริมสร้างและเกื้อกูลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเจรจาพหุพาคีด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยเน้นการทูตเพื่อขยายผลประโยชน์ของไทยในการเจรจาแก้ไขปัญหาและกฎระเบียบในด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการส่งออก การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ การสนับสนุนเอกชนไทยที่ทำธุรกิจในต่างประเทศและการส่งเสริมการท่องเที่ยว

               ๔.๔ เพิ่มบทบาทในองค์การระหว่างประเทศทุกระดับ

               ๔.๕ ให้ความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาซึ่งจะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติ

               ๔.๖ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถานทูตเพื่อการบริการประชาชนใน ต่างประเทศ

               ๔.๗ ขยายงานการส่งเสริมและเผยแพร่ประเทศไทย โดยเน้นความเป็นประชาธิปไตย
และคุณค่าที่ดีงามของสังคมไทยด้วยวิถีทางทางการทูตและการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์

๕. นโยบายด้านการศึกษา

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาและขยายโอกาสให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม เพื่อให้การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง โดยจะดำเนินการ

               ๕.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ๑๒ ปี โดยจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ผู้ยากจน ผู้ด้อยโอกาส และผู้บกพร่องทางร่างกายและปัญญาตามความจำเป็น

               ๕.๒ ขยายการจัดการศึกษาชั้นอนุบาลหรือก่อนประถมศึกษา เพื่อให้เด็กกลุ่มอายุ ๓ – ๕ ปี ได้เข้าเรียนอย่างทั่วถึง

               ๕.๓ ขยายการศึกษานอกระบบทั้งสายสามัญและสายอาชีพอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานได้พัฒนาตนเองและได้รับการศึกษาพื้นฐานเพิ่มขึ้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา

               ๕.๔ ปฏิรูปการอาชีวศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น โดยให้สถานศึกษาและสถานประกอบการร่วมมือกันจัดการศึกษาอย่างใกล้ชิด ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเน้นการสร้างนิสัยความรับผิดชอบให้สูงขึ้น ตลอดจนพัฒนาวิทยาลัยเกษตรกรรมให้เป็นสถาบันทางการเกษตรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรได้อย่างเต็มที่

               ๕.๕ ส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบการจัดการศึกษาอย่างใกล้ชิด

               ๕.๖ ส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐานผ่านกองทุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ และใช้บัตรการศึกษาสำหรับคนยากจนเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนเอกชนได้ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐเพิ่มมากขึ้น

               ๕.๗ ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู

               ๕.๘ เพิ่มสัดส่วนงบประมาณเพื่อการลงทุนและการพัฒนาการศึกษาให้สูงขึ้น

               ๕.๙ ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาในด้านต่าง ๆ รวมทั้งให้มีการจัดการศึกษาที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น

               ๕.๑๐ ขยายโอกาสอุดมศึกษาให้ผลิตบัณฑิตให้มีปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นและภูมิภาคและสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ

๖. ความเป็นเลิศทางวิชาการ

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีระเบียบวินัยมีจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม มีสุขภาพพลานามัยที่ดี พัฒนาสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มั่นคง ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคนและเป็นพลังงานในการพัฒนาประเทศ โดยจะดำเนินการ

               ๖.๑ นโยบายด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการทำนุบำรุงศาสนา

                       ๖.๑.๑ สืบทอดเอกลักษณ์ของความเป็นไทยและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และรับวัฒนธรรมต่างชาติมาอย่างเหมาะสม ตลอดจนให้มีศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศที่สำคัญ

                       ๖.๑.๒ ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐ ท้องถิ่น องค์กรเอกชน ประชาชนและสถาบันการศึกษาในการทำนุบำรุง พัฒนา และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถาน ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น

                       ๖.๑.๓ ส่งเสริมให้มีสื่อคุณภาพเพื่อถ่ายทอดและปลูกฝังค่านิยมที่ดีงาม เสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างชายหญิงและกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติร่วมกัน

                       ๖.๑.๔ ส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ และพัฒนาการบริหารงานด้านศาสนาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้บุคลากรและสถานที่ทางศาสนาในการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

                       ๖.๑.๕ สนับสนุนโครงการสร้างจริยธรรม คุณธรรมและวินัยของคนในชาติ เช่น โครงการลูกเสือ การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร

               ๖.๒ นโยบายด้านสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส

                       ๖.๒.๑ สนับสนุนบทบาทสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการบริหารทุกระดับ รวมทั้งขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

                       ๖.๒.๒ ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศต่อเด็กและสตรี และดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ตลอดจนรณรงค์แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

                       ๖.๒.๓ ส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ถูกทอดทิ้งทางสังคมอย่างจริงจัง

                       ๖.๒.๔ เสริมสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือ และการบริการพื้นฐานทางสังคมทุกด้านอย่างเหมาะสม ทั่วถึง และเป็นธรรม

                       ๖.๒.๕ ให้การสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้และมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

               ๖.๓ นโยบายด้านการสาธารณสุข

                       ๖.๓.๑ เร่งรัดการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและคุณภาพทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

                       ๖.๓.๒ สนับสนุนการสร้างระบบประกันสุขภาพ

                       ๖.๓.๓ ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีคุณภาพและเพียงพอ และให้มีการกระจายบุคลากรอย่างเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทันสมัยและคุ้มค่ามาใช้ในการให้บริการ

                       ๖.๓.๔ เร่งรัดการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในกลุ่มเสี่ยง ทุกกลุ่ม และดูแลรักษาและพัฒนาศักยภาพของผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนให้รู้จักป้องกันและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

                       ๖.๓.๕ เร่งรัดขยายงานสาธารณสุขมูลฐานในชนบท โดยสนับสนุนองค์กรประชาชน
สถาบันครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุข ให้เข้ามามีบทบาทอย่างเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน

                       ๖.๓.๖ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง การดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรค

                       ๖.๓.๗ กวดขันมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารยา สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

                       ๖.๓.๘ ให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาระบบ รูปแบบและเทคโนโลยีการให้บริการสาธารณสุข

                       ๖.๓.๙ ให้มีมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงในภูมิภาคที่เข้ามากับกลุ่มแรงงานต่างชาติและประชาชาติอื่น ๆ

                       ๖.๓.๑๐ เฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อ สุขอนามัยของประชาชนให้อยู่ในระดับมาตรฐานความปลอดภัย สร้างหลักประกันสุขภาพและคุ้มครองความปลอดภัยจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งกำหนดมาตรการเร่งรัดให้มีการกำจัดขยะติดเชื้อและบำบัดน้ำเสียจากสถานบริการสาธารณสุขอย่างจริงจัง ตลอดจนจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในชนบทอย่างทั่วถึง

               ๖.๔ นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม

               รัฐบาลจะส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำด้วยการพัฒนาฝีมือ มีระบบสวัสดิการและระบบความปลอดภัย สร้างหลักประกันสุขภาพและคุ้มครองความปลอดภัยจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งกำหนดมาตรการเร่งรัดให้มีการกำจัดขยะติดเชื้อและบำบัดน้ำเสียจากสถานบริการสาธารณสุขอย่างจริงจัง ตลอดจนจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในชนบทอย่างทั่วถึง

                       ๖.๔.๑ พัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน มีวินัยและมีขีดความสามารถ สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ

                       ๖.๔.๒ จูงใจให้คนไทยระดับนักวิชาชีพ ผู้ชำนาญการและผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในต่างประเทศกลับมาทำงานในประเทศ

                       ๖.๔.๓ ปรับปรุงระบบการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศที่ดำเนินการอยู่ให้มีความเป็นธรรมไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน

                       ๖.๔.๔ ควบคุมการทำงานของแรงงานต่างชาติอย่างเข้มงวดและเป็นระบบ

                       ๖.๔.๕ ส่งเสริมให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ การคุ้มครองแรงงาน และความปลอดภัยในการทำงานทั้งระบบทวิภาคีและไตรภาคี

                       ๖.๔.๖ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและพนักงานรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

                       ๖.๔.๗ เร่งดำเนินการทั้งมาตรการป้องกันและปราบปรามเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและโสเภณีเด็ก

                       ๖.๔.๘ กระจายบริการสวัสดิการสังคมไปยังชนบท โดยสนับสนุนทุนดำเนินการของศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน

                       ๖.๔.๙ เร่งจัดตั้งศูนย์สารสนเทศแรงงานและสวัสดิการสังคม

               ๖.๕ นโยบายด้านกีฬา

               รัฐบาลจะดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาเพื่อสุขภาพอนามัยของคนในชาติ รวมทั้งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ มีศักยภาพทัดเทียมกับอายรประเทศ โดยจะดำเนินการ

                       ๖.๕.๑ จัดเตรียมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ให้มีความพร้อมในทุกด้าน รวมทั้งพัฒนาสมรรถภาพของนักกีฬาให้มีความพร้อมในการเข้าแข่งขัน

                       ๖.๕.๒ ส่งเสริมให้มีกีฬาขั้นพื้นฐานเพื่อการแข่งขัน การอาชีพ และเพื่อสุขภาพ โดยกระจายโอกาสด้านกีฬาไปให้ทั่วทุกภูมิภาคและทุกชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการผลิตอุปกรณ์กีฬาในประเทศให้มีมาตรฐานและมีราคาถูก

                       ๖.๕.๓ ให้มีการเล่นกีฬาตั้งแต่เยาว์วัย และสนับสนุนบริการพื้นฐานด้านกีฬาให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ

                       ๖.๕.๔ จัดตั้งศูนย์กีฬาระดับนานาชาติเพื่อเป็นที่ฝึกซ้อมและเก็บตัวนักกีฬา เสริมสร้างขวัญและกำลังใจนักกีฬาที่นำชื่อเสียงและเกียรติภูมิมาสู่ประเทศให้มีมาตรฐาานการครองชีพที่ดี รวมทั้งจัดสวัสดิกาช่วยเหลือนักกีฬาที่ประสบอุบัติเหตุ

๗. นโยบายด้านการพัฒนาชนบทและกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชนบทและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น โดยขยายบริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้ทั่วถึงในทุกภูมิภาคเพื่อให้การพัฒนาชนบทเป็นการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน โดยจะดำเนินการ

               ๗.๑ เร่งรัดการกระจายรายได้และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยการ ส่งเสริมการดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่อนุภาค พื้นที่ชายแดน พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ตลอดจนกระจายอุตสาหกรรมและการลงทุนไปสู่ภูมิภาคและชนบท

               ๗.๒ เร่งรัดจัดทำผังโครงการพัฒนาทั่วประเทศเพื่อสร้างสมดุลการพัฒนาไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง

๘. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นโดยจะดำเนินการ

               ๘.๑ ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ทั้งหมดให้สอดคล้องกันและเร่งรัดการออกกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชนเพื่อให้คนและป่าสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน

               ๘.๒ ป้องกันและปราบปรามการบุกรุกและการตัดไม้ทำลายป่า อนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารป่าชายเลน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม

               ๘.๓ ปรับปรุงหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษา และจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

               ๘.๔ ใหมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักอนุรักษ์และความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

               ๘.๕ จัดทำแผนแม่บทการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ครบทุกจังหวัด

               ๘.๖ ลดปริมาณมลพิษและการแพร่กระจายในสภาพแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย โดยเสริมสร้างกลไกทางกฎหมายและสมรรถนะขององค์กร รวมทั้งยึดหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย

               ๘.๗ ร่วมมือกับต่างประเทศในการดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกภูมิภาคและของประเทศ

               ๘.๘ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน องค์กรเอกชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

๙. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือของการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมทั้งเสริมสร้างสมรรถนะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระยะยาว โดยจะดำเนินการ

               ๙.๑ ผลิตและพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยีให้มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอกับความต้องการ

               ๙.๒ ร่วมมือทางเทคโนโลยีกับต่างประเทศ ส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติลงทุนด้านการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา และการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่คนไทย

               ๙.๓ พัฒนาเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในทุกภาคการผลิต

               ๙.๔ สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจาก ต่างประเทศและอุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง

               ๙.๕ ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

               ๙.๖ สร้างจิตสำนึกและความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีความคิดสร้างสรรค์เชิงวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น

               ๙.๗ ให้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาคนและการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

๑๐. นโยบายด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเสริมสร้างกำลังทหารให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ จะรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยจะดำเนินการ

               ๑๐.๑ นโยบายด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ

                       ๑๐.๑.๑ พัฒนาและเสริมสร้างให้กำลังทหารมีขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

                       ๑๐.๑.๒ สนับสนุนให้กำลังทหารมีโครงสร้าง กำลังพลหลักนิยม เทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับสงครามสมัยใหม่ และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางการทหารรวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคต

                       ๑๐.๑.๓ ส่งเสริมให้กองทัพมีส่วนร่วมกับหน่วยงานอื่นของรัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับรู้ในกิจการของทหารมากขึ้น

                       ๑๐.๑.๔ ปรับปรุงระบบการคัดเลือกทหารให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ

                       ๑๐.๑.๕ ส่งเสริมและสนับสนุนให้กองทัพมีส่วนร่วมในการช่วยผลิตกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทหาร

                       ๑๐.๑.๖ เสริมสร้างระบบสวัสดิการ บำรุงขวัญกำลังพลและครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมกีฬาทหารเพื่อช่วยพัฒนากีฬาของชาติให้เป็นเลิศ

                       ๑๐.๑.๗ ส่งเสริมและสนับสนุนการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและครอบครัวให้มีรายได้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

               ๑๐.๒ นโยบายด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

                       ๑๐.๒.๑ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตและการค้ายาเสพติด ยาบ้า และสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอื่น รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงมหันตภัยและโทษของสิ่งดังกล่าว

                       ๑๐.๒.๒ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านอุบัติภัยและสาธารณภัย รณรงค์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการป้องกันและระงับอุบัติภัยและสาธารณภัย

                       ๑๐.๒.๓ ป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย และ ภัยแล้งรวมทั้งให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนภายหลังประสบภัย ดังกล่าวโดยเร่งด่วน

๑๑. นโยบายด้านการพัฒนามหานคร

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตลอดจนเมืองหลักในภูมิภาคให้ดีขึ้น โดยจะดำเนินการ

               ๑๑.๑ นโยบายด้านการพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑล

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครที่มีระบบการจราจรและสภาพแวดล้อมโดยรวมที่ดีขึ้น ให้การเดินทางของคนกรุงเทพมหานครจากบ้านไปที่ทำงานและจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งใช้เวลาสั้นลง รวมทั้งวางแผนและกำหนดทิศทางการเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยจะดำเนินการ

                       ๑๑.๑.๑ กำหนดให้มีการใช้ที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม โดยใช้มาตรการทางด้านผังเมือง

                       ๑๑.๑.๒ เร่งรัดดำเนินการตามแผนการแก้ปัญหาชุมชนแออัดในเขตใจกลางเมืองและเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครเข้ากับพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่ด้านตะวันตก และภาคกลางตอนบน

                       ๑๑.๑.๓ เร่งรัดแก้ไขปัญหาการจราจรตามแผนแม่บท

                       ๑๑.๑.๔ เร่งรัดการวางแผนและการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแบบถาวร

                       ๑๑.๑.๕ สนับสนุนการสร้างสวนสาธารณะ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะ โดยใช้ที่ดินของรัฐ

                       ๑๑.๑.๖ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

               ๑๑.๒ นโยบายด้านการพัฒนามหานครในภูมิภาค

               รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะวางระบบแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองที่กำลังขยายเป็นมหานครในภูมิภาคให้ไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืน โดยจะดำเนินการ

                       ๑๑.๒.๑ เร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนามหานครในภูมิภาค

                       ๑๑.๒.๒ ให้รัฐเป็นแกนนำในการปรับปรุงฟื้นฟูเมือง โดยนำที่ดินของรัฐที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะและถนน

                       ๑๑.๒.๓ จัดการด้านผังเมืองอย่างเป็นระบบเพื่อจัดระเบียบการขยายตัวของชุมชนและป้องกันการเกิดชุมชนแออัด รวมทั้งให้มีการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

                       ๑๑.๒.๔ ปรับสภาพแวดล้อมในชุมชนแออัดให้เหมาะสม ขยายบริการสังคมให้เข้าถึงชุมชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้

                       ๑๑.๒.๕ เร่งรัดการจัดระบบการจราจรและการขนส่ง โดยจัดทำแผนนแม่บทเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทุกท่าน

               นโยบายทั้งหมดที่ได้แถลงมานั้น เป็นกรอบและแนวทางหลักในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบจะต้องจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการกำหนดรายละเอียดวิธีการและระยะเวลาในการดำเนินการ และนำไปปฏิบัติให้บรรลุตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้นี้โดยเร็วและแม้ว่าสิ่งใดที่มิได้แถลงไว้ แต่หากดำเนินการแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน รัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการในทันที

               กระผมขอยืนยันกับท่านทั้งหลายว่ารัฐบาลนี้จะมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแห่งนี้ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นเป้าหมายสูงสุดเพือนำพาประเทศไปสู่สังคมโลกยุคใหม่ได้อย่างวัฒนาถาวร

               กระผมเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจากท่านสมาชิกผู้มีเกียรติรัฐบาลจะสามารถบริหารประเทศตามนโยบายที่ได้กล่าวมาให้สัมฤทธิผลสมตามเจตนารมณ์ทุกประการ

*รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๑/๒๕๓๙ (สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๙ หน้า ๒ -๒๖