คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๑


คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๑
นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
แถลงนโยบาย เมื่อวันพุธที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๘

คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*

ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ
ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ นั้น

บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้วซึ่งกระผมจะได้นำเรียนให้ทราบถึงเจตนารมณ์ นโยบาย และเป้าหมายของการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีนี้

สืบเนื่องจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมองว่าหากระบบเศรษฐกิจของประเทศได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นแล้ว ก็จะส่งผลให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จบรรลเป้าหมายด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี แต่ผลของการพัฒนาได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่นช่องว่างของรายได้ยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง สังคมมีความสับสนและมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น มีความย่อหย่อนของศีลธรรมจรรยา ละทิ้งค่านิยมอันดีงามของไทย โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดปัญหาเยาวชนและปัญหาสังคม กล่าวโดยสรุปการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อมของชีวิตซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมเสื่อมโทรมลง เป็นลำดับ

คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดเป้าหมายหลักของการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อพัฒนาคนในสังคมให้มีความสุขมีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายจิตใจ และสติปัญญาสามารถแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้โดยไม่ทิ้งสภาพความเป็นไทย นโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ทั้ง ๑๐ ด้าน จึงเป็นวิธีการไปสู่เป้าหมายให้คนในสังคมได้รับการพัฒนาเต็มตามศักภาพมีภูมิปัญญา มีส่วนร่วมในการพัฒนารวมทั้งมีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะทำให้การพัฒนาทุกด้านเป็นไปอย่างสมดุลโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. นโยบายการเมืองและการบริหาร

รัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขตจะพัฒนาสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงจะสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับรวมทั้งจะบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพโดยยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้องประสานผลประโยชน์ของคนในชาติและธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์อันดีงามของไทยตลอดจนจะกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้บังเกิดความสุขความเจริญแก่ประชาชนโดยจะดำเนินการ

๑.๑ การพัฒนาสถาบันการเมืองและการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง

๑.๑.๑ จัดทำแผนพัฒนาการเมืองที่สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบทางการเมือง

๑.๑.๒ สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันมาตรา ๒๑๑ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย

๑.๑.๓ สนับสนุนองค์การรัฐสภาให้สามารถทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติและตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๑.๑.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนองค์กรประชาชนและสื่อสารมวลชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางการเมือง

๑.๒ การปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เร่งรัดดำเนินการยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์โดยเฉพาะกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารและการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน

๑.๓ การส่งเสริมอุดมการณ์ทางการเมือง ส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันการศึกษาทุกระดับสื่อสารมวลชนทุกแขนง และองค์กรประชาชนให้มีบทบาท ในการถ่ายทอดและปลูกฝังความรู้ความเข้าใจ และความศรัทธาในกระบวนการเนื้อหาสาระและบทบาทหน้าที่ในทางการเมืองของการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดจนสนับสนุนการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย

๑.๔ การบริหารราชการแผ่นดิน

๑.๔.๑ ปรับปรุงการบริหารราชการทั้งในส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงทบวง กรม และส่วนราชการต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกะทัดรัดและพัฒนาระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพขจัดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็นปรับระบบการอนุมัติอนุญาตให้มีหลักเกณฑ์ระยะเวลาในการดำเนินการและขอบเขตการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐพร้อมทั้งเปิดเผยหลักเกณฑ์ระยะเวลา และขอบเขตการใช้ดุลพินิจดังกล่าวให้ประชาชนและผู้ทีเกี่ยวข้องได้ทราบตลอดจนป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีหน้าที่ในการให้บริการแก่ประชาชน

๑.๔.๒ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการและหน่วยงานของรัฐให้ได้ผลอย่างจริงจังด้วยการพัฒนาและเสริมสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีประสิทธิภาพส่งเสริมให้มีระบบการตรวจสอบภายในหน่วยงานของรัฐเสริมสร้างคุณธรรม จรรยาบรรณและวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งสร้างเสริมขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยการยึดหลักคุณธรรมในการพิจารณาความดีความชอบการเลื่อนตำแหน่งตลอดจนส่งเสริรมให้ประชาชนองค์กรประชาชนและสื่อสารมวลชนมีบทบาทในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

๑.๔.๓ ปรับปรุงเงินเดือนค่าตอบแทนของข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพตลอดจนจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆเพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมอย่างสมฐานะมีเกียรติศักดิ์ศรีและมีความมั่นคงในการดำรงชีพ

๑.๕ การอำนวยความยุติธรรม

๑.๕.๑ สร้างความเป็นธรรมในสังคมด้วยการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติรวมทั้งส่งเสริมให้มีการยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้องและหลักกฎหมายโดยเคร่งครัด

๑.๕.๒ ปรับปรุงกระบวนการอำนวยความยุติธรรมทั้งทางปกครอง ทางแพ่ง และทางอาญาให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาให้ทันสมัยเป็นระบบที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดจนส่งเสริมให้มีหลักประกันในความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการและองค์กรที่ทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทอย่างแท้จริง

๑.๖ การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น

๑.๖.๑ กระจายภารกิจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการปกครองและแก้ไขปัญหาของตนเองส่งเสริมสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นส่วนรวม เช่น ปัญหารการจราจรสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ

๑.๖.๒ กระจายรายได้ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อให้สามารถบริหารกิจการของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีอิสระคล่องตัวและบังเกิดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณให้สามารถรองรับกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

๑.๖.๓ ให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับ โดยคำนึงถึงบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะเป็นผู้เชื่อมประสานระหว่างการปกครองส่วนภูมิภาคและการปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับตำบล หมู่บ้าน เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ของประชาชน

๑.๖.๔ ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครองท้องถิ่นของตน และมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการบริหารการพัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการวางผังเมือง

๑.๖.๕ สนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับสามาถบริหารงานตามอำนาจหน้าที่เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

๑.๗ การรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

๑.๗.๑ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทอย่างจริงจัง ด้วยการสนับสนุนปัจจัย การดำเนินงานอย่างเต็มที่ ขยายงานด้านชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชน องค์กร ประชาชนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอาสาสมัคร และส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม รวมทั้งเร่งรัดปราบปรามการผลิตและการค้ายาเสพติด ตลอดจนแหล่งอบายมุขอันเป็นสาเหตุของ การก่ออาชญากรรมอย่างเด็ดขาด

๑.๗.๒ พัฒนาระบบการป้องกัน บรรเทาและระงับอุบัติภัยให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยปฏิบัติทั้งในด้านเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์และเพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่สนับสนุนให้องค์กรประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการดำเนินการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้และจิตสำนึกในการป้องกันและระงับอุบัติภัยแก่กลุ่มเป้าหมายเช่น นักเรียน ผู้ใช้ถนนผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการและกลุ่มเสี่ยงภัยอื่น ๆ

๑.๘ การมีส่วนร่วมของประชาชน

๑.๘.๑ ส่งเสริมให้มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของรัฐ และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐภายในกรอบของกฎหมาย รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเผยแพรข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

๑.๘.๒ ส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญของชาติที่มีข้อโต้เถียงหลายฝ่าย โดยวิธีประชาพิจารณ์เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงาน

๒. นโยบายความมั่นคง

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาและเสริมสร้างกองทัพให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก โดยจะดำเนินการ

๒.๑ พัฒนาและส่งเสริมให้กองทัพมีขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างมีศักดิ์ศรีและสมเกียรติภูมิของทหารโดยถือการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นความเร่งด่วนอันดับแรก

๒.๒ สนับสนุนให้กองทัพมีกำลังพล หลักนิยม เทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับสงครามสมัยใหม่ และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางทหารให้กองทัพสามารถพึ่งตนเองได้ใน อนาคต

๒.๓ จัดให้กองทัพร่วมมือกับส่วนราชการต่าง ๆ ดำเนินการพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์สุข ของประชาชน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้กรอบของการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับรู้ในกิจการของทหารให้มากขึ้น

๒.๔ ส่งเสริมบทบาทของทหารไทยในสหประชาชาติ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ ของประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ

๒.๕ เสริมสร้างระบบสวัสดิการและบำรุงขวัญทหารและครอบครัวทุกชั้นยศ และส่งเสริมกีฬาทหารเพื่อช่วยพัฒนากีฬาของชาติให้เป็นเลิศ

๒.๖ เชิดชูเกียรติของทหารผ่านศึก โดยเฉพาะทหารผ่านศึกที่พิการและทุพพลภาพให้ได้รับสิทธิและความเอื้ออาทรจากสังคมไทยเป็นพิเศษ

๓. นโยบายต่างประเทศ
รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระ เป็นมิตรกับทุกประเทศปรับและส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนานาประเทศทั้งในด้านการเมืองเศรษฐกิจสังคม วิทยาการและวัฒนธรรมบนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลกตลอดจนยกระดับภาพลักษณ์ของไทยสู่ระดับที่เป็นจริงและเหมาะสมและเผยแพร่ภาพลักษณ์ของไทยให้เป็นประเทศที่มีความสามารถมีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบโดยจะดำเนินการ

๓.๑ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้าน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือด้านการศึกษา วิชาการ การพัฒนา  ทรัพยากรมนุษย์ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

๓.๒ เพิ่มพูนความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย เพื่อการพัฒนา การร่วมมือแก้ไขปัญหาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยสนับสนุนให้มีการพบปะอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรประชาชน ตลอดจนสถาบันกองทัพของประเทศต่าง ๆ

๓.๓ เพิ่มพูนการมีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น องค์การสหประชาชาติองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) องค์กรเศรษฐกิจในภูมิภาค และองค์กรกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อยกระดับบทบาทและสถานภาพทางการเมืองระหว่างประเทศ

๓.๔ ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ช่วยเสริมสร้างและเกื้อกูลให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการจัดระเบียบการค้าใหม่ทั้งในระดับภูมิภาค และในระดับโลก เช่น ในกรอบขององค์การการค้าโลก ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก(Asia Pacific Economic Cooperation – APEC) เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) รวมทั้งความร่วมมือในกรอบของเหลี่ยมเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อให้ประเทศ เพื่อนบ้านมีความมั่นคงก้าวหน้า

๓.๕ ส่งเสริมบทบาทของการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) และให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายการทูตในการประชุมดังกล่าว เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๓.๖ ปรับบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะในทางการทูต ด้วยการให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อให้สามารถสนับสนุนการเจรจาทางด้านการค้า การลงทุนการส่งออก การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการสนับสนุนคุ้มครองดูแลและพิทักษ์ประโยชน์ให้แก่นักลงทุนไทยและคนไทยในต่างประเทศ

๓.๗ ปรับเปลี่ยนฐานะจากประเทศผู้รับการช่วยเหลือสู่การเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

๓.๘ สร้างบทบาทนำในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ โดยเน้นบทบาทสร้างสรรค์และภาพลักษณ์ของประเทศในความเป็นประชาธิปไตย การยึด ถือความถูกต้องเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชนและการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยา
๔.นโยบายเศรษฐกิจ

๔.๑ นโยบายด้านการเงิน การคลัง

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง เสริมสร้างเสถียรภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง สนับสนุนให้มีการออมภายในประเทศ เปิดเสรีทางการเงินในระยะเวลาที่เหมาะสมและสอดคล้องักบภาคเศรษฐกิจอื่น ๆพัฒนาตลาดทุนให้ก้าวไปสู่ความเป็นสากล และกระจายอำนาจทางการเงินการคลังให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น โดยจะดำเนินการ

๔.๑.๑ ควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตและสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

๔.๑.๒ ส่งเสริมการระดมเงินออมภายในประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการออมภาคครัวเรือน และการออมเชิงผูกพัน เช่น การจัดตั้งกองทุนบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

๔.๑.๓ รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้เหมาะสม ในทิศทางที่เสริมสร้าง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

๔.๑.๔ พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค โดยสนับสนุนให้มีการเปิด เสรีทางการเงิน

๔.๑.๕ ยกเลิกการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากที่มีวัตถุประสงค์การออมเพื่อการจัดซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อการศึกษาของบุตรและเพื่อการยังชีพภายหลังเกษียณอายุ

๔.๑.๖ พัฒนาตลาดทุนทั้งในแนวกว้างและแนวลึกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นสากลด้วยการเปิดโอกาสให้กิจการทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ตลอดจนกิจการที่ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการ ระดมทุน และส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทุนในประเทศไทยกับตลาดทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะ ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนาตราาสรใหม่ ๆ ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน เพื่อสร้างความหลากหลายและทางเลือกในการระดมทุน

๔.๑.๗ กระจายอำนาจการคลังให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้องค์กร ปกครองท้องถิ่น มีรายรับในสัดส่วนที่เหมาะสมเพียงพอจะบริหารกิจการของคนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๔.๑.๘ ปรับปรุงกระบวนการบริหารงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้การใช้งบประมาณสามารถดำเนินการตามแผนงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

๔.๑.๙ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะอื่น ๆ เพื่อลดภาระด้านงบประมาณของรัฐบาล

๔.๑.๑๐ ริเริ่มการใช้มาตรการทางการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมนักลงทุนไทยในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน

๔.๒ นโยบายด้านเกษตรกรรม

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นโดยในภาคเกษตรก้าวหน้า จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตรวมทั้งใช้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในการเปิดตลาดสินค้าการเกษตรตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อรองรับผลผลิตและยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นสำหรับภาคเกษตรยากจนจะมุ่งเน้นการ
ยกระดับรายได้ให้เกษตรกรด้วยการลดต้นทุนการผลิตการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยจะดำเนินการ

๔.๒.๑ ยกระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้นและเป็นธรรมต่อเกษตรกรด้วยการขยายตลาดส่งออกเพื่อดึงราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดโลกที่จะต้องเปิดเสรีมากขึ้นภายใต้ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและสนับสนุนให้มีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า

๔.๒.๒ ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจที่ศักยภาพทางด้านการตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก

๔.๒.๓ ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถจัดหาปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ๆ เช่น ปุ๋ย สารเคมีและยาปราบศัตรูพืชในราคาถูกลงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าเกษตร

๔.๒.๔ จัดหาน้ำให้มีเพียงพอสำหรับการเกษตรและการอุปโภคบริโภคด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กและที่กักเก็บน้ำตามความเหมาะสมและจำเป็นตลอดจนร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการนำทรัพยากรน้ำจากแหล่งน้ำนานาชาติมาใช้ประโยชน์รวมทั้งพัฒนาระบบชลประทานให้ทั่วถึงควบคู่กับการปรับปรุงระบบการบริหารการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

๔.๒.๕ ส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรรมเจริญเติบโตทัดเทียมกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยส่งเสริมให้ใช้เครื่องจักรกลและเครื่องมือที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยการปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรกลเครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ และส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตรกรรมตลอดจนเพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น

๔.๒.๖ สนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้มีบทบาทเข้มแข็งขึ้นทั้งด้านการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร

๔.๒.๗ สนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการลงทุนเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมทุกประเภทให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

๔.๒.๘ พัฒนาและปรับปรุงกลไกของระบบสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเฉพาะจะเน้นเงินทุนหมุนเวียนให้มีเพียงพอแก่สมาชิก

๔.๒.๙ แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรด้วยการจัดหาสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมรวมทั้งปรับปรุงการบริหารสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

๔.๒.๑๐ เร่งรัดการปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนและไม่มีที่ดินทำกินเพียงพอตามเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

๔.๒.๑๑ เร่งรัดแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ถูกต้อง ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น

๔.๒.๑๒ ส่งเสริมโครงการต่าง ๆ ขององค์กรประชาชนเพื่อหารายได้เสริมให้แก่ครอบครัวของเกษตรกรในชนบท

๔.๓ นโยบายด้านอุตสาหกรรม

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะรักษาและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของ อุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก โดยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการผลิต ควบคู่ไปกับการรักษาสภาวะแวดล้อม กระจายการลงทุนไปยังชนบทโดยขยายสาธารณูปโภคสาธารณูปการให้ทั่วถึง และเน้นบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยจะดำเนินการ

๔.๓.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมไปสู่ชนบทมากขึ้นด้วยการจัดตั้งนิคมและเขตอุตสาหกรรมในชนบท และใช้มาตรการจูงใจการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ไปสู่ชนบท

๔.๓.๒ ส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ อันได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการส่งออกเพื่อให้เป็นแหล่งงานและแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ

๔.๓.๓ สนับสนุนให้มีการลงทุนอย่างเต็มที่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ อันได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการส่งออก เพื่อให้เป็นแหล่งงานและแหล่งรายได้ที่สำคัญ

๔.๓.๔ พัฒนาและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศในปัจจุบัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลก ทั้งในด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน การตลาดการผลิต คุณภาพ การออกแบบ ฯลฯ

๔.๓.๕ เร่งรัดการเสริมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและความจำเป็นพื้นฐาน ตลอดจนสาธารณูปโภคให้ทันเวลาพอเพียง และสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรม ในประเทศ

๔.๓.๖ ปรับปรุงกฎ ระเบียบ เพื่อลดขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาต เพื่อให้เด็กความคล่องตัวและลดภาระแก่ผู้ลงทุน

๔.๓.๗ ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม สนับสนุนเพื่อให้เป็นส่วนเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมหลัก

๔.๓.๘ ควบคุมมลภาวะที่เกิดจากอุตสาหกรรม เพื่อรักษาสภาวะสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพปกติตามมาตรฐานที่กำหนด ด้วยการบังคับใชักฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

๔.๔ นโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ด้วยการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาชาติ โดยเคารพต่อพันธกรณีระหว่างประเทศและคำนึงถึงกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ โดยจะดำเนินการ

๔.๔.๑ เสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศ ด้วยการ

๔.๔.๑.๑ ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบการผลิตและการตลาดของประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดให้มีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนและแน่นอนสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ

๔.๔.๑.๒ ปรับปรุงระบบโครงสร้างภาษีและขจัดอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนโดยเร่งปรับลดโครงสร้างภาษีศุลกากรให้รวดเร็วกว่าเดิมและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิตและส่งเสริมการส่งออก ตลอดจนลดขั้นตอนพิธีการต่าง ๆ ให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

๔.๔.๑.๓ ส่งเสริมภาคบริการที่มีความสำคัญต่อการค้าและการลงทุนให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้า การเดินเรือ กองเรือไทย และการประกันภัย

๔.๔.๒ ดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนในทิศทางที่ลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการส่งเสริมกิจการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ

๔.๔.๓ แสวงหาตลาดและแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

เสริมสร้างบทบาทของประเทศให้โดดเด่นในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อ รักษาผลประโยชน์ของชาติและเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ด้วยการ
๔.๔.๔.๑ ปรับปรุงให้มีการจัดตั้งหน่วยงานประสานงานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหมีความเป็นเอกภาพ และทำหน้าที่ในการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ

๔.๔.๔.๒ กระชับความร่วมมือกับสมาชิกกลุ่มอาเซียนและกลุ่มเอเปคเพื่อเพิ่มบทบาทการเจรจาในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

๔.๔.๔.๓ พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์การผลิต การค้า การเงิน การสื่อสารโทรคมนาคมและการคมนาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๔.๔.๔.๔ ส่งเสริมใหมีการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในประเทศเพิ่มขึ้นและสนับสนุนอุตสาหกรรมและการบริการของไทยที่ไปลงทุนไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศโดยใช้มาตรการทางการทูตกฎหมาย การเงิน การคลังและการจัดตั้งองค์กรที่จำเป็น

๔.๕ นโยบายด้านคมนาคมและสื่อสารโทรคมนาคม

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะกระจายเครือข่ายการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกทางน้ำ และทางอากาศให้ทั่วถึงโดยเน้นการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมส่วนในด้านสื่อสาร โทรคมนาคมจะพัฒนาขยายและเพิ่มเครื่องมือและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้รวมทั้งการลดค่าบริการให้ถูกลงโดยเน้นบทบาทของเอกชนในการดำเนินการและบริหารจัดการภายใต้ระบบการแข่งขันอย่างเสรีโดยจะดำเนินการ

๔.๕.๑ การคมนาคมทางบก

๔.๕.๑.๑ พัฒนาปรับปรุงและขยายเครือข่ายทางหลวงและเส้นทางการขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดต่าง ๆ และระหว่างจังหวัดในทุกภาคของประเทศโดยเร่งรัดให้มีการก่อสร้างขยายถนนระหว่างภาคจาก ๔ ช่องจราจรเป็น ๖ ช่องจราจรและระหว่างจังหวัดที่มีการจราจรหนาแน่นจาก ๒ ช่องจราจรเป็น ๔ ช่องจราจรภายใน ๔ ปี

๔.๕.๑.๒ ปรับปรุงเส้นทางรถไฟสายหลักให้เป็นทางคู่ขนานและให้มีการนำรถไฟความเร็วสูงมาใช้ในเส้นทางที่เหมาะสม

๔.๕.๑.๓ เร่งรัดการจัดสร้างเครือข่ายการคมนาคมทั้งทางรถยนต์และรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้านโดยทางภาคเหนือเชื่อมกับสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้สหภาพพม่าและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประเทศกัมพูชา และภาคใต้เชื่อมกับประเทศมาเลเซีย

๔.๕.๒ การคมนาคมทางอากาศ

๔.๕.๒.๑ เร่งรัดการก่อสร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ ๒ (หนองงูเห่า) ควบคู่ไปกับการพัฒนาและปรับปรุงสนามบินภายในประเทศและระหว่างประเทศให้ทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการคมนาคมทางอากาศให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ตลอดจนสร้างสนามบินภายในเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นและเหมาะสม

๔.๕.๒.๒ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสายการบินและสายการบินแห่งชาติเพิ่มขึ้นเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่และศูนย์กลางการผลิตและขนส่ง ทางอากาศนานาชาติ

๔.๕.๓ การคมนาคมทางน้ำ

๔.๕.๓.๑ เร่งรัดให้มีการใช้ท่าเรือน้ำลึกในเขตพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเต็มที่ เร่งรัดการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในภาคใต้ และในพื้นที่อื่น ๆ  ที่เหมาะสม เช่น บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับประเทศ เพื่อนบ้านในการร่วมลงทุนสร้างและใช้ท่าเรือน้ำลึก

๔.๕.๓.๒ ส่งเสริมและจัดระบบการจราจรและขนส่งทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาจราจร รวมทั้งจัดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ

๔.๕.๔ การสื่อสารโทรคมนาคม

๔.๕.๔.๑ พัฒนาปรับปรุงและขยายบริการสื่อสารโทรคมนาคมให้สามารถบริการประชาชนได้ทั่วประเทศด้วยเครื่องมือเครื่องใช้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในราคาที่ต่ำลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเร่งรัดให้มีชุมสายโทรศัพท์ทุกอำเภอและอาจขยายไปถึงตำบลรวมทั้งให้มีโทรศัพท์ใช้ในหมู่บ้าน
๔.๕.๔.๒ สนับสนุนให้มีการนำระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ก้าวหน้ามาใช้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศควบคู่กับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ
๔.๖ นโยบายด้านพลังงาน
รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการให้มีพลังงานเพียงพอกับความต้องการ ในระดับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม และสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการและบริหารจัดการ โดยจะดำเนินการ

๔.๖.๑ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย ด้วยการสนับสนุนให้มีการผลิตเครื่องใช้พลังงานประสิทธิภาพสูงที่ช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน รวมทั้งรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและเสริมสร้างจิตสานึกของประชาชนให้มีการใช้พลังงาน อย่างประหยัด

๔.๖.๒ จัดหาพลังงานให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการ และมีความมั่นคงในระดับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ด้วยการสำรวจและพัฒนาหาแหล่งพลังงานภายในประเทศ และพัฒนาหน่วยงานของรัฐให้สามารถบริหาร และจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๔.๖.๓ ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานทดแทนอื่น ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ใน อนาคต และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนา และจัดหาพลังงาน

๔.๖.๔ ปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางบ่อ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและให้ น้ำมันมีราคาจำหน่ายปลีกใกล้เคียงกันทั่วประเทศ

๔.๗ นโยบายด้านการท่องเที่ยว

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถ ทำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีค่ายิ่ง โดยจะดำเนินการ

๔.๗.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโรงแรม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ

๔.๗.๒ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีความสมดุลกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งให้มีความสะดวกและปลอดภัยด้วยการพัฒนาปรับปรุงและจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการพื้นฐานต่าง ๆ อย่างทั่วถึงอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมโบราณสถานและทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนคุ้มครองดูแลนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ให้เอาเปรียบนักท่องเที่ยวจนเกิดภาพพจน์ทางลบต่อประเทศโดยส่วนรวม

๔.๗.๓ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื้อให้เกิดเครือข่ายการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในภูมิภาคโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง

๔.๗.๔ เสริมสร้างค่านิยมให้ประชาชนท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น

๔.๗.๕ ขยายการผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับ ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

๕. นโยบายสังคม

๕.๑ นโยบายด้านอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและทำนุบำรุงศาสนารัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทำนุบำรุงส่งเสริมและฟื้นฟูศาสนาโดยให้ประชาชนสนใจในสาระคำสอนเป็นหลัก ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปะท้องถิ่นและอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญของชาติโดยจะดำเนินการ

๕.๑.๑ เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่สถาบันครอบครัว โดยใช้มาตรการจูงใจต่าง ๆ  เช่น ลดภาษี และค่าบริการสำหรับกิจกรรที่ทำโดยครอบครัว

๕.๑.๒ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของแนวคิดและแนวทางในการพัฒนาประเทศ

๕.๑.๓ ส่งเสริมศิลปะท้องถิ่น เช่น ศิลปะการเขียนภาพแกะสลักของไทย การแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุง โขน หมอลำ ลิเก ฯลฯ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมที่แทรกอยู่ในกิจกรรมกีฬา เช่น การแข่งเรือกอแหละ เรือยาว ศิลปการป้องกันตัว โดยสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือเพื่อให้ศิลปินสามารถดำรงชีวิตของความเป็นศิลปินและเป็นผู้รักษาศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้ได้

๕.๑.๔ ส่งเสริมการอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นานาชาติ ถือเป็นมรดกโลก ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ดีเหมาะสำหรับ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเชิญชวนให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศมีส่วนร่วมเช่น การตั้งกองทุน เพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ ตลอดจนให้มีการแยกเขตเมืองเก่าเมืองใหม่เพื่อ ควบคุมสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตเหล่านั้นให้ผสมกลมกลืนและต่อเนื่องกับสถาปัตยกรรมเดิมที่มีอยู่

๕.๑.๕ สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันศาสนา และส่งเสริมให้ประชาชนสนใจในสาระคำสอนของศาสนามากกว่าการมุ่งไปทางวัตถุมงคลหรือถาวรวัตถุต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงหลักธรรมและคำสอนของศาสนาโดยตรง และนำไปปฏิบัติเพื่อให้สังคมมีความสงบสุข

๕.๒ นโยบายด้านสตรี เด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมสถานภาพของสตรีและพัฒนาเด็กและเยาวชนตลอดจน ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มบุคคลพิเศษให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมโดยจะดำเนินการ

๕.๒.๑ ส่งเสริมให้มีการออกกฎหมายรองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี

๕.๒.๒ ส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศ

๕.๒.๓ กวดขันการใช้มาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพของสตรี เพื่อมิให้ถูกเอาเปรียบ และ ป้องกันมิให้เด็กและเยาวสตรีไปประกอบธุรกิจทางเพศ

๕.๒.๔ ส่งเสริมแรงงานสตรีให้ได้รับความเป็นธรรมด้านค่าจ้าง และสวัสดิการ โดยเฉพาะแรงงานสตรีที่ไม่อยู่ในระบบ

๕.๒.๕ ฝึกอบรมและเพิ่มพูนทักษะในการประกอบอาชีพแก่สตรีในชนบทตามความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

๕.๒.๖ สนับสนุนให้มีการพัฒนาเด็ก ทั้งทางกาย จิตใจ สติปัญญา และจริยธรรม โดยมุ่งเน้นให้มีการประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

๕.๒.๗ สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนและค่ายเยาวชนพัฒนาศูนย์เยาวชนให้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ปรับปรุงห้องสมุดประชาชนในระดับต่าง ๆ รวมทั้งสนามกีฬาให้สามารถให้บริการแก่เด็กและเยาวชนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

๕.๒.๘ สนับสนุนสถาบันครอบครัว หน่วยงานของรัฐและเอกชน องค์กรชุมชน สถาบันศาสนา ตลอดจนสื่อมวลชนให้เข้ามีบทบาทในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และพัฒนาเด็กและเยาวชนในภาวะยากลำบากให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่งปกติสุข รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กและโสเภณีอย่างจริงจัง

๕.๒.๙ ดูแล ฟื้นฟูและพัฒนาผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มบุคคลพิเศษ เช่น ผู้พิการ ให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาฝีมือหรือการฝึกอาชีพให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ

๕.๓ นโยบายด้านสาธารณสุข

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะปรับปรุงบริการสาธารณสุขให้กระจายทั่วถึง โดยเน้นที่ระบบในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและการเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้แก่ประชาชนตลอดจนการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นโดยจะดำเนินการ

๕.๓.๑ เร่งรัดขยายงานสาธารณสุขมูลฐานในชนบท

๕.๓.๒ สนับสนุนการสร้างระบบประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้และด้อยโอกาส เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข

๕.๓.๓ รณรงค์และเผยแพร่ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงอันตรายจากโรคเอดส์ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงอันตรายจากโรคเอดส์ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ให้อยู่ร่วมในสังคมได้ตามปกติ

๕.๓.๔ ส่งเสริมโครงการภาครัฐและภาคเอกชนที่มุ่งบำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้คนเหล่านั้นกลับมาเป็นกำลังของชาติต่อไป

๕.๓.๕ กวดขันการเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขนามัยของประชาชน เพื่อควบคุมให้อยู่ในระดับมาตรฐานความปลอดภัย

๕.๓.๖ เร่งรัดให้มีการกำจัดขยะติดเชื้อและบำบัดน้ำเสียจากสถานบริการ สาธารณสุขทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในชนบทอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

๕.๓.๗ กวดขันมาตรฐานคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารและยาที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย

๕.๓.๘ ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีคุณภาพและเพียงพอ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสมัยใหม่มาใช้ในการให้บริการ สาธารณสุข

๕.๓.๙ สนับสนุนการจัดตั้งสถานเลี้ยงเด็กกลางวันที่ได้มาตรฐานด้วยมาตรการทางด้านภาษี

๕.๓.๑๐ ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ความรู้ ความเข้าใจในพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและการดูแลสุขภาพด้วยตนเองแก่ประชาชน

๕.๔ นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีการพัฒนาฝีมือและทักษะในการทำงาน มีระบบสวัสดิการและระบบความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมและได้มาตรฐานสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อการแรงงานสัมพันธ์และคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติในประเทศ โดยจะดำเนินการ

๕.๔.๑ ส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ใช้แรงงานกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้ซึ่งประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจนต้องกลายเป็นคนพิการให้มีความรู้ ฝีมือทักษะในการประกอบอาชีพตลอดจนให้ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการสนับสนุนการฝึกอาชีพระยะสั้นและขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพในสาขาที่ต้องการแรงงานฝีมือและความชำนาญงานเฉพาะด้าน

๕.๔.๒ ส่งเสริมให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ การคุ้มครองแรงงาน และมาตรการความ ปลอดภัยในการทำงานทั้งแบบทวิภาคีและไตรภาคี เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างมีความสัมพันธ์ที่ดี ต่อกัน ร่วมมือกันในการแก้ไขข้อขัดแย้งและข้อพิพาทแรงงาน ให้ลูกจ้างได้รับสวัสดิการที่ เหมาะสมและได้มาตรฐานให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี

๕.๔.๓ ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีเสถียรภาพและได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานรัฐวิสาหกิจให้มีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมตามหลักสากลนิยมในการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาวการณ์มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาการส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและห้ามนัดหยุดงานในกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

๕.๔.๔ ส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการและด้อยโอกาสและผู้ถูกทอดทิ้งทางสังคมอย่างจริงจัง โดยให้มีศูนย์สงเคราะห์ราษฎร และกฎหมายสวัสดิการสังคม

๕.๔.๕ เร่งจัดตั้งศูนย์สารสนเทศแรงงานและสวัสดิการให้เป็นศูนย์ข้อมูลในการจัดหางาน การจัดทำทะเบียนผู้ใช้แรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ผู้ใช้แรงงาน ทุกด้าน

๕.๔.๖ เร่งรัดการศึกษาและจัดทำข้อมูลเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ

๕.๕ นโยบายด้านกีฬา

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาเพื่อสุขภาพอนามัยของคนในชาติรวมทั้งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศมีศักยภาพทัดเทียมกับอารยประเทศโดยจะดำเนินการ

๕.๕.๑ ส่งเสริมให้มีกีฬาขั้นพื้นฐานเพื่อการแข่งขัน เพื่อการอาชีพและเพื่อสุขภาพด้วยการจัดงบประมาณอุดหนุนการดำเนินกิจกรรม และสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการและบริหารจัดการ รวมทั้งกระจายโอกาสด้านกีฬาไปให้ทั่วทุกภูมิภาค

๕.๕.๒ สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาที่นำชื่อเสียงเกียรติภูมิมาสู่ประเทศหรือภายหลังการเข้าร่วมทีมชาติให้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดี

๕.๕.๓ ส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬาตั้งแต่เยาว์วัย และสนับสนุนการพัฒนาการผลิตอุปกรณ์กีฬาภายในประเทศให้มีมาตรฐานและมีราคาถูก รวมทั้งจัดตั้งศูนย์กีฬาระดับนานาชาติเพื่อเป็นที่ฝึกซ้อมและเก็บตัวนักกีฬา
๖. นโยบายด้านกีฬา

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาคน ในฐานะเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาทั้งปวงโดยขยายการศึกษาภาคบังคับพื้นฐาน พร้อมด้วยสวัสดิการอื่น ๆ ที่จำเป็น การให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่น ส่งเสริมการศึกษานอกระบบโรงเรียนโดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อขยายการศึกษาให้เข้าถึงชนบททีห่างไกลได้อย่างทั่วถึง และปรับปรุงสวัสดิการให้แก่ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ โดยจะดำเนินการ

๖.๑ ขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กได้รับการพัฒนาความพร้อมในทุกด้านก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา

๖.๒ ขยายการศึกษาภาคบังคับจาก ๖ ปี เป็น ๙ ปี ให้ทั่วถึงทั้งในและนอกระบบโรงเรียน โดยมีเป้าหมายขยายการศึกษาภาคบังคับให้ถึง ๑๒ ปี โดยเร็ว พร้อมทั้งจัดสวัสดิการการศึกษาและสวัสดิการอื่น ๆ ที่จำเป็นให้แก่นักเรียน

๖.๓ จัดหาทุนการศึกษาและจัดให้มีกองทุนสวัสดิการเงินกู้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น

๖.๔ เร่งรัดการผลิตบุคลากรในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ แพทย์ วิศวกรรม และคอมพิวเตอร์ให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถแก่สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาในการผลิตบุคลากรด้านผู้สอน พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาใน ต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดวิทยาการ

๖.๕ สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาทำการวิจัยและพัฒนาให้กว้างขวาง โดยเน้นการนำผลการวิจัยและพัฒนามาถ่ายทอดและปรับใช้ในความเป็นจริง ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้มากขึ้น

๖.๖ ผลักดันให้มีการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการการเรียน การสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยเน้นการพัฒนาทักษะการคิดและการวิเคราะห์ การเรียนรู้จากประสบการณ์และของจริง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม

๖.๗ ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษานอกระบบโรงเรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยใช้สื่อและเทคโนโลยีการสอนทางไกล ระบบอาจารย์สัญจร การสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์ การบูรณะพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ การสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

๖.๘ สนับสนุนการกระจายอำนาจทางการศึกษา โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้นในการบริหารและจัดการศึกษาในระดับและประเทศที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่น

๖.๙ ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยองค์กรชุมชน สถานประกอบการเอกชน และองค์กรผู้ปกครอง

๖.๑๐ สนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการมีโอกาสเข้าศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

๖.๑๑ ปรับปรุงระบบบริหารในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้มีความคล่องตัวและมีความเป็นอิสระในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ

๖.๑๒ ผ่อนคลายกฎ ระเบียบ และกำหนดมาตรการจูงใจที่เหมาะสม เพื่อให้เอกชนเข้ามีบทบาทในการลงทุนและบริหารการศึกษาและการฝึกฝนอาชีพในทุกระดับมากยิ่งขึ้น

๖.๑๓ เสริมสร้างสวัสดิการ ขวัญ กำลังใจ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและความภาคภูมิใจในอาชีพ

๖.๑๔ ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูโดยจัดให้มีการกำกับดูแลและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและ การปฏิบัติวิชาชีพตามจรรยาบรรณครู รวมทั้งพัฒนาครูประจำการ บุคลากรทางการศึกษาและองค์กรวิชาชีพครูอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
๗. นโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น โดยส่งเสริมให้ประชาชน องค์กรประชาชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการและองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการโดยจะดำเนินการ

๗.๑ เร่งรัดการออกกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชนเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและองค์กรประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูก ป้องกัน รักษา และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน

๗.๒ ปรับปรุงหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล รักษา และจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

๗.๓ ลดความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยกำหนดการใช้ที่ดิน

๗.๔ จัดทำแผนปฏิบัติการและจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแม่บทการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

๗.๕ เร่งรัดการป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะทางน้ำ อากาศ เสียง รวมทั้งปัญหาจากสารพิษและกากของเสียโดยยึดหลักผู้ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นผู้จ่าย

๗.๖ เสริมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในการดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

๗.๗ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน องค์กรประชาชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
๘. นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะเร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะดำเนินการ

๘.๑ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อุตสาหกรรมเกษตรกรรม และการบริการ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางด้านการผลิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

๘.๒ สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การจำหน่าย การค้า และการตลาดรวมทั้งการบริหารระบบสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเอกชนในการแข่งขันกับต่างประเทศ

๘.๓ เร่งรัดการจัดทำแผนหลักในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในวิชาชีพที่เป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ

๘.๔ ขยายความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

๘.๕ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระบบสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถ เชื่อมต่อถึงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

๘.๖ สนับสนุนและส่งเสริมบทบาทเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี โดยใช้มาตรฐานการจูงใจทางด้านภาษี การให้เงินกู้และเงินให้เปล่า

๘.๗ สนับสนุนให้มีหรือพัฒนาเมืองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาและค้นคว้าวิจัยในด้านนี้
๙. นโยบายกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาค

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยขยายบริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค เพื่อให้การพัฒนาชนบทเป็นการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน โดยจะดำเนินการ

๙.๑ ขยายบริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ระบบคมนาคมและสื่อสารโทรคมนาคม สถานศึกษา สถานพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีถนนราดยางในหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท

๙.๒ สนับสนุนและผลักดันสถาบันการเงินให้กระจายบริการสินเชื่อแก่เกษตรกรธุรกิจการเกษตร และอุตสาหกรรมขนาดย่อม ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ริเริ่มประกอบอาชีพส่วนตัวในส่วนภูมิภาคมากขึ้น

๙.๓ ส่งเสริมและสนับสนุนให้กระจายอุตสาหกรรมไปสู่ชนบทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชาวบ้านและเศรษฐกิจชุมชนทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง เพื่อเพิ่มการมีงานทำและยกระดับรายได้ของประชาชนในชนบท

๙.๔ ปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า

๙.๕ สนับสนุนให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพื่อให้การ พัฒนาเป็นไปอย่างเหมาะสมตามศักยภาพและความจำเป็นของภูมิภาค และเป็นฐานสำหรับ การเชื่อมโยงการพัฒนาทางด้านการคมนาคมขนส่ง การค้าและด้านอื่น ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน

๙.๖ สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้และเอื้ออาทร ช่วยเหลือร่วมมือกันในชุมชน เพิ่มให้มีความพร้อมและมีพลังเพียงพอในการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของตนเองและส่วนรวม
๑๐. นโยบายการพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑล

รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างและพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครที่มีสภาพแวดล้อมโดยรวมดีขึ้น เป็นนครแห่งศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้โดยจะดำเนินการ

๑๐.๑ เร่งดำเนินงานตามแผนงานและโครงการฟื้นฟูบูรณะกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภคสาธารณูปการและที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

๑๐.๒ เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรตามแผนแม่บท โดยการปรับปรุงระบบการบริหารการจัดการและการตัดสินใจให้มีความเป็นเอกภาพ รวมทั้งประสานการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเป็นระบบ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบการดำเนินงาน

๑๐.๓ เร่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ ปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำเจ้าพระยาและคูคลองต่าง ๆ ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาควันพิษ และปัญหามลภาวะทางเสียง โดยปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับของเอกชนที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดให้มีการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว และควบคุมปริมาณควันเสียจากยานพาหนะ รวมทั้งจัดสร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นปอดให้กรุงเทพมหานคร ตลอดจนรณรงค์ให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์และการจัดการสิ่งแวดล้อม

๑๐.๔ เร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและชุมชนแออัด โดยกำหนดแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยปรับปรุงชุมชนแออัด และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดให้มีที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ด้วยการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษ จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งเพิ่มบทบาทของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และการเคหะแห่งชาติ ตลอดจนขยายบริการด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้ทั่วถึง

๑๐.๕ กำหนดให้มีการใช้ที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม โดยใช้มาตรการทางด้านผังเมือง

๑๐.๖ เร่งดำเนินการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่ด้านตะวันตกและภาตกลางตอนบน ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ ๒ ที่หนองงูเห่า และเมืองบริวาร

๑๐.๗ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง การควบคุมอาคาร การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การจัดสรรที่ดิน ชุมชนเมืองใหม่ ชุมชนแออัดและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาและฟื้นฟูกรุงเทพมหานคร

๑๐.๘ สนับสนุนการจัดการด้านสาธารณสุขให้แก่ชุมชน โดยขยายบริการศูนย์สาธารณสุขและจัดศูนย์สาธารณสุขเคลื่อนที่อย่างทั่วถึงนอกจากนโยบายที่ได้แถลงมาข้างต้น รัฐบาลจะได้สานต่อนโยบาย งาน หรือโครงการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนของรัฐบาลคณะต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไว้แล้วให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว โดยในการบริหารงานจะมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรประชาชนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์
ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่เคารพ

ในการบริหารราชการแผ่นดินที่ได้แถลงมาข้างต้น กระผมขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะมุ่งปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงมานี้อย่างเคร่งครัด ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ประเทศชาติและประชาชน กระผมเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือสนับสนุนจากท่านสมาชิก ผู้ทรงเกียรติ รัฐบาลจะสามารถนำนโยบายที่ได้กล่าวมา ไปปฏิบัติให้สัมฤทธิผลสมตามเจตนารมณ์ ทุกประการ

*รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ หน้า ๑๐ – ๔๐