คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๐
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๐
นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๕ – ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘
แถลงนโยบาย เมื่อวันพุธที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๕
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
กระผมนายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง นายกรัฐมนตรีตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๕ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๕ นั้น บัดนี้คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว จึงขอแถลงต่อรัฐสภาดังต่อไปนี้
๑. นโยบายการเมืองและการบริหารราชการ
รัฐบาลนี้ มุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและจะพัฒนาสถาบันการเมืองทั้งหลายให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจอย่างสมบูรณ์มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาประโยชน์สุขของประชาชนทั้งจะสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ โดยจะดำเนินการดังนี้
๑.๑ สนับสนุนการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
๑.๒ สนับสนุนกิจการของรัฐสภาให้เอื้ออำนวยต่อการที่สมาชิกรัฐสภาจะทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
๑.๓ ปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองให้สามารถรับการสนับสนุนจากรัฐและเอกชนได้รวมทั้งให้พรรคการเมืองมีบทบาทในการพัฒนาการเมืองยิ่งขึ้น
๑.๔ ปรับปรุงกฎหมายเลือก และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งทุกระดับเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อสอดส่องดูแลการเลือกตั้งดังกล่าว
๑.๕ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้รัฐสภามีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบการรับเงินของแผ่นดิน
๑.๖ ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาทุกระดับและสื่อสารมวลชนของรัฐและเอกชนมีบทบาทในการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจและความศรัทธาในวิธีการและเนื้อหาสาระของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าในด้านทฤษฎีหรือการปฏิบัติ
๑.๗ ส่งเสริมให้สื่อสารมวลชนของรัฐและเอกชน มีสิทธิเสรีภาพในการับรู้กิจการของรัฐและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐภายในกรอบของกฎหมายมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวสารอย่างเที่ยงตรง เป็นธรรมและรวดเร็ว
๑.๘ ปรับปรุงและเร่งรัดการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยจะเน้นการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีและการบังคับคดี ให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วและเป็นธรรมตลอดจนเร่งรัดพัฒนาข้าราชการตุลาการให้มีความชำนาญในอรรถคดีตามสภาพของปัญหาในทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมการจัดตั้งศาลเฉพาะด้าน
ทั้งจะส่งเสริมสถาบันตุลาการให้มีเกียรติ ศักดิ์ศรี สามารถดำรงอำนาจอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
๑.๙ พัฒนาบุคลากรและกระบวนการวินิจฉัยเรื่องราวร้องทุกข์ ตลอดจนเตรียมปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้พร้อม เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศาลปกครองให้ทันภายใน ๔ ปี
๑.๑๐ กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นโดยจัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับตลอดจนเพิ่มบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้อำนาจในการกำหนดนโยบายการพัฒนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการวางผังเมือง เพื่อให้ สอดคล้องกับหลักการปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยและจะส่งเสริมให้องค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลเป็นนิติบุคคล
เพื่อให้มีความคล่องตัวและร่วมแก้ปัญหาของประชาชนในตำบลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๑.๑๑ ปรับปรุงหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน ลดหรือขจัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและปรับปรุงประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน
๑.๑๒ บังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยเร่งรัดและกวดขันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตสำนึกและตระหนักในการเคารพกฎหมายในกรณีที่กฎหมายใดล้าสมัยหรือไม่เป็นธรรมจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกต่อไป
๑.๑๓ เพิ่มประสิทธิภาพระบบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้สามารถอำนวยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงด้วยการพัฒนาคุณภาพของเจ้าหน้าที่ จัดหาเครื่องหรือ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจ
๑.๑๔ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการและหน่วยงานของรัฐด้วยการพัฒนาองค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปรับปรุงระบบการควบคุมภายในของหน่วยงานของรัฐตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์การควบคุมภายในดังกล่าวอย่างเคร่งครัดในขณะเดียวกันจะสร้างขวัญ กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยการยึดหลักคุณธรรมในการพิจารณาความดีความชอบ ตลอดจนการปรับปรุงค่าตอบแทนและสวัสดิการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ
๑.๑๕ จะดำเนินการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยคำนึงถึงความพร้อมและความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
๒. นโยบายด้านความมั่นคง
รัฐบาลตระหนักถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงของโลกและความมั่นคงภายในซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปประกอบกับได้มีการเสริมสร้างสันติภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงในทิศทางใหม่ ดังนี้
๒.๑ ปรับปรุงโครงสร้างกองทัพให้มีขนาดกระทัดรัด แต่มีกำลังพลที่เข้มแข็งและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นหลักประกันในการรักษาเอกราช อธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ
๒.๒ ปรับปรุงระบบกำลังสำรองและการเรียกเกณฑ์ทหารให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ใหม่ ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้มีการร่วมมือในด้านการทหารกับมิตรประเทศให้มากขึ้น
๒.๓ ปรับปรุงหลักสูตรของสถาบันการศึกษาทางทหารทั้งระบบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ
๒.๔ ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทของกองทัพให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางบกและทางทะเล
๒.๕ บำรุงขวัญและกำลังใจของทหารชั้นผู้น้อย ด้วยการปรับปรุงสวัสดิการและจัดให้มีการฝึกอาชีพให้มากขึ้นเพื่อรองรับการประกอบอาชีพเมื่อออกจากประจำการ
๓. นโยบายต่างประเทศ
รัฐบาลจะยึดมั่นในพันธกรณีที่มีอยู่กับต่างประเทศตามสนธิสัญญาและความตกลงต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และจะดำเนินนโยบายเพื่อให้บรรลุประโยชน์แห่งชาติ ทั้งในด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและภูมิภาคซึ่งให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับนานาชาติทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างสถานภาพของประเทศไทยให้มีบทบาทมากขึ้น และมีโอกาสเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงินและการคมนาคมในภูมิภาคนี้ โดยจะดำเนินนโยบาย ดังนี้
๓.๑ ส่งเสริมมิตรภาพ สมานฉันท์ และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๓.๒ เพิ่มพูน และพัฒนาความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยการดำเนินการให้เขตการค้าเสรีอาเซียนประสบผลสำเร็จ
๓.๓ ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญและประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้ระบบการค้าเสรี การแข่งขันอย่างเป็นธรรมตลอดจนร่วมมีบทบาทในการลดความขัดแย้งระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากปัญหาทางการค้า การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงความพร้อมภายในประเทศเป็นหลัก
๓.๔ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับ ทวิภาคี และพหุภาคีโดยเพิ่มบทบาทของไทยในการช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอันจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างประชาชนชาวไทยกับประชาชนของประเทศเหล่านั้น
๓.๕ เสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในด้านการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุล
๓.๖ อำนวยความสะดวก คุ้มครอง ตลอดจนส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทย แรงงานไทย และธุรกิจภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ
๔. นโยบายเศรษฐกิจ
โดยที่ประชาชนบางส่วนของประเทศยังมีฐานะยากจน มีสภาพความเป็นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ความเจริญทางเศรษฐกิจยังมิได้กระจายไปทั่วถึงรัฐบาลนี้จึงมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกสาขาอาชีพให้สูงขึ้นพร้อมกับการกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาคและชนบท ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี โดยใช้กลไกตลาดเป็นหลัก และขจัดการผูกขาดตัดตอนการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพื่อที่จะรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในระดับที่เหมาะสมอย่าง
ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ เสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติ และมุ่งพัฒนาองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าครบทุกด้าน โดยกำหนดนโยบายเพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายไว้ ดังนี้
๔.๑ ด้านการเงินการคลังรัฐบาลจะมุ่งรักษาวินัย และเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการเงินการคลังให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดำเนินนโยบาย ดังนี้
๔.๑.๑ ดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างรัดกุมเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ โดยระมัดระวังการใช้จ่ายเงินของภาครัฐบาลและเอกชนให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับฐานะการเงินและความจำเป็นทางเศรษฐกิจของประเทศ
๔.๑.๒ ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีทุกประเภทให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นรวมทั้งปรับโครงสร้างและอัตราภาษีอากรให้ทันสมัย และมีผลเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางด้านการผลิต การค้า การส่งออก ตลอดจนการลงทุนภายในประเทศรวมทั้งให้เกิดผลทางด้านลดภาระภาษีแก่ผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง
๔.๑.๓ กำหนดมาตรการทางการเงินการคลัง เพื่อส่งเสริมการกระจายการผลิตการจ้างงาน และการเพิ่มพูนประสิทธิภาพการผลิตในภูมิภาค
๔.๑.๔ จัดสรรรายจ่ายเพื่อการลงทุน ขยายบริการสาธารณูปโภคสาธารณูปการขั้นพื้นฐาน การบำรุงรักษาสภาพแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งในเมืองและชนบท และการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของปัจจัยการผลิต ที่รัฐจัดให้แก่เกษตรกรในสัดส่วนสูงขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๖ เป็นต้นไป
๔.๑.๕ จัดสรรงบประมาณสนับสนุนภูมิภาคและท้องถิ่นและกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างจริงจังรวมทั้งสนับสนุนให้รายได้ที่จัดเก็บในท้องถิ่นใด ตกเป็นของท้องถิ่นนั้น ในอัตราที่เหมาะสม
๔.๑.๖ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจให้มีฐานะการเงินที่มั่นคงและส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบกิจการบริการสาธารณะมากขึ้นเพื่อลดภาระทางการเงินของรัฐ
๔.๑.๗ ส่งเสริมการระดมเงินออกภาคเอกชนภายในประเทศอย่างจริงจังด้วยการเสริมสร้างตลาดการเงินและสถาบันการเงินภายในประเทศให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพรวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เพื่อส่งเสริมการออมที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพของประชาชน เช่น การออมเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อการศึกษาบุตร เพื่อเลี้ยงชีพหลังเกษียณอายุทำงาน ตลอดจนการออกระยะยาวประเภทอื่น ๆ
๔.๑.๘ กำกับดูแลสถาบันการเงินทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน ให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้สถาบันการเงินทำหน้าที่กระจายทรัพยากรสู่ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ตลอดจนตอบสนองความต้องการทางการเงินของประชาชนและธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔.๑.๙ พัฒนาระบบการเงินเสรี ด้วยการผ่อนคลายการควบคุมที่ไม่จำเป็นและยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความคล่องตัว โดยคำนึงถึงวินัยและคุณภาพ ของระบบการเงินควบคู่กันไป
๔.๑.๑๐ จัดตั้งและสนับสนุนบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะด้าน เพื่อสนับสนุนการส่งออกโดยจัดตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าพร้อมกับสนับสนุนการกระจายความเจริญและการลงทุน สู่ภูมิภาค โดยสนับสนุนสถาบันการเงินเฉพาะด้านที่มีอยู่แล้วให้จัดสินเชื่อแก่ภาคการผลิตในภูมิภาคให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่อุตสาหกรรมขนาดย่อมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน
๔.๑.๑๑ รักษาเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในค่าเงินบาทโดยยึดระบบส่งเสริมการค้าและการลงทุน และสร้างความเชื่อมโยงของระบบการเงินไทยกับระบบการเงินของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้
๔.๒ ด้านการเกษตรรัฐบาลตระหนักว่า การแก้ไขความยากจนของเกษตรกรเป็นงานที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และเป็นงานที่ต้องดำเนินการหลายด้านด้วยกันจึงได้กำหนดนโยบายที่จะยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น
๔.๒.๑ จัดตั้งสภาการเกษตรแห่งชาติโดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชนในการประสานนโยบายการผลิต การแปรสภาพผลผลิต และการตลาดอย่างเป็นระบบครบวงจร รวมทั้งจะใช้กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพของราคาผลิตผลการเกษตร
๔.๒.๒ ปรับปรุงระบบการผลิตทางการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยกระจายการผลิตทางการเกษตรให้หลากหลายชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรชนิดใหม่ ๆ ที่จะเชื่อมโยงเข้ากับอุตสาหกรรมการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมการทำไร่นาสวนผสม การเลี้ยงปศุสัตว์การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง รวมทั้งการทำประมงร่วมกับต่างประเทศ
๔.๒.๓ เร่งรัดพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำในไร่นา ตลอดจนการกระจายการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม ในระยะยาวจะนำทรัพยากรจากแหล่งน้ำนานาชาติ เข้ามาใช้ประโยชน์ตามสิทธิที่ประเทศไทยพึงมี รวมทั้งปรับปรุงการบริหารการใช้น้ำชลประทานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๔.๒.๔ เร่งรัดการปฏิรูปที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ เพื่อกระจายสิทธิการถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ และเกษตรกรที่ครอบครองทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ โดยจะปรับปรุงกลไกการบริหารและการจัดการของรัฐ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้โดยเฉลี่ยปีละประมาณ ๔ ล้านไร่
๔.๒.๕ สนับสนุนงานวิจัย และพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และระบบการเกษตรกรรมให้ทันสมัยและก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ตลอดจนจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและราคาเป็นธรรมให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ยและเคมีเกษตร ทั้งนี้รวมถึงการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดหาการพัฒนาเทคโนโลยี และการกระจายพันธุ์ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรด้วย
๔.๒.๖ สนับสนุนการพัฒนาสถาบันเกษตรกรที่เชื่อมโยงระบบสหกรณ์และองค์กรของเกษตรกรทุกรูปแบบให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อเพิ่มพูนอำนาจต่อรองของเกษตรกรกับกลุ่มธุรกิจการค้า รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพของเกษตรกรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ โดยเน้นการฝึกอบรมและการฝึกอาชีพให้แก่เกษตรกร ยุวเกษตรกร และแม่บ้านเกษตรอย่างต่อเนื่อง
๔.๒.๗ สนับสนุนให้เกษตรกรประกอบกิจกรรมเสริมนอกภาคเกษตรให้มากขึ้น โดยเผยแพร่ความรู้ในการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน
๔.๒.๘ ให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขภาวะหนี้สินของเกษตรกรด้วยการจัดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้จะปรับปรุงกลไกของรัฐในการอำนวยสินเชื่อการเกษตรอย่างจริงจังด้วย
๔.๒.๙ เพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกและการตัดไม้ทำลายป่า อนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมโดยเร่งรัดการปลูกป่าในพื้นที่อนุรักษ์ที่ถูกบุกรุกทำลายรวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง
๔.๒.๑๐ ปรับปรุงระบบข้อมูลและข่าวสารการเกษตรให้ทันสมัย ถูกต้องและรวดเร็ว ทั้งในระดับภูมิภาคของประเทศและระดับนานาชาติ
๔.๓ ด้านอุตสาหกรรม โดยที่การพัฒนาอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมีการกระจายไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น มีพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ดีและเพียงพอมารองรับรวมทั้งป้องกันมิให้เกิดปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะดำเนินการ ดังนี้
๔.๓.๑ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การตลาด และการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพสูง และเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งปรับปรุงกฎ ระเบียบ และขั้นตอนการขออนุมัติ และการต่ออายุการประกอบกิจการอุตสาหกรรมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้บริการและแนะนำการลงทุน
๔.๓.๒ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยสร้างงานในท้องถิ่นใช้วัตถุดิบในประเทศมาก ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูง มีความได้เปรียบในเชิงการผลิต และเป็นพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอันได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมงานโลหะ และอุตสาหกรรมเหล็ก ตลอดทั้งส่งเสริมระบบการรับช่วงการผลิตให้กระจายไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น
๔.๓.๓ ดำเนินการส่งเสริมให้มีการกระจายการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบและใช้แรงงานมากออกไปสู่ภูมิภาคและชนบท โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาบริการพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน สนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนให้เพียงพอ รวมทั้งจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาค สนับสนุนให้สถาบันการเงินเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่อุตสาหกรรมในต่างจังหวัดโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ตลอดจนการประกอบการค้าด้านวิศวกรรมทั้งที่เป็นการสร้างหรือซ่อมเครื่องยนต์กลไกขนาดเล็ก
๔.๓.๔ ปรับปรุงระบบงานด้านการควบคุม และติดตามการกำจัดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพโดยการตรวจสอบโรงงานอย่างสม่ำเสมอ
๔.๓.๕ ส่งเสริมและกำหนดมาตรการจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔.๓.๖ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าร่วมมีบทบาทและช่วยแบ่งเบาภาระการดำเนินการของรัฐบางประการ เช่น การกำหนดและตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้า การตรวจสอบโรงงาน
๔.๔ ด้านการพาณิชย์ระหว่างประเทศเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สภาวะการณ์ที่มีการกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรง รัฐบาลจะดำเนินการดังนี้
๔.๔.๑ ส่งเสริมและขจัดอุปสรรคทางด้านการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการให้ตรงตามความต้องการของตลาด
๔.๔.๒ สนับสนุนการค้าเสรีภายใต้พันธกรณีทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาติ โดยคำนึงถึงความพร้อมและขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะจะให้ความสำคัญกับการเจรจาข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและอัตราภาษีศุลกากรและการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน
๔.๔.๓ เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าแบบพหุภาคีกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก กลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจเสรีอเมริกาเหนือเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
๔.๔.๔ สนับสนุนความร่วมมือในการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน
๔.๔.๕ เจรจาแก้ไขข้อตกลง สนธิสัญญาตลอดจนพันธกรณีในเรื่องน่านน้ำระหว่างประเทศและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
๔.๔.๖ เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านโดยให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการ การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
๔.๔.๗ ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการวางแผนและกำหนดยุทธวิธีทางการค้ากับต่างประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน
๔.๕ ด้านการพาณิชย์ภายในประเทศรัฐบาลจะมุ่งเน้นบทบาทในการกำกับดูแลให้การค้าภายในประเทศดำเนินการไปตามกลไกการตลาดอย่างเป็นธรรมโดยจะดำเนินการดังนี้
๔.๕.๑ รักษาระดับราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับภาวะตลาดทั้งภายใน และภายนอกประเทศอย่างเป็นธรรมทั้งจะมุ่งขจัดการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรในเรื่องราคา ปริมาณ และคุณภาพ
๔.๕.๒ คุ้มครองผู้บริโภคจากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยการผูกขาดตัดตอนและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
๔.๕ ๓ ปรับปรุงระบบข่าวสารข้อมูลการค้าทั้งในด้านการผลิตและการตลาดให้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เพื่ออำนวยประโยชน์ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค
๔.๕.๔ ส่งเสริมระบบการประกันภัย เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความมั่นคงและเติบโตยิ่งขึ้นพร้อมทั้งกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์
๔.๖ ด้านการคมนาคมเพื่อพัฒนาและขยายระบบการคมนาคมการสื่อสารและการขนส่งให้ทั่วถึงทันสมัย และรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจะดำเนินการดังนี้
๔.๖.๑ สร้างเส้นทางคมนาคมทางบก ให้กระจายและเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะจะขยายถนนให้มีช่องทางเดินรถแยกการจราจรเป็น ๔ ช่องทางตลอดเส้นทางสายประธาน สำหรับทางรถไฟจะเร่งรัดปับเป็นรางคู่ในเส้นทางที่มีความพร้อม
๔.๖.๒ แก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ และเมืองที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม โดยใช้มาตรการด้านผังเมือง การเพิ่มผิวการจราจร การจัดระบบการขนส่งมวลชนและการกวดขันด้านวินัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ตลอดจนเตรียมการป้องกันปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในเมืองอื่น ๆ ในอนาคต
๔.๖.๓ วางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการขนส่งและการสื่อสารให้สามารถรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต โดยส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน และให้บริการด้านการขนส่งและกิจการสื่อสาร
๔.๖.๔ พัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ และการขนส่งชายฝั่งทะเล โดยจัดสร้างท่าเรือขึ้นในจุดที่จะเชื่อมโยงกับการขนส่งทางบก เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในประเทศและประหยัดการใช้พลังงาน
๔.๖.๕ ดำเนินการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งขยายการขนส่งทางอากาศภายในประเทศให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น
๔.๖.๖ พัฒนาข่ายการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมให้ทั่วถึงและทันสมัยโดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่ออำนวยบริการให้สามารถรองรับการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคนี้
๔.๗ ด้านพลังงานเพื่อเร่งรัดพัฒนาแหล่งพลังงาน ให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะดำเนินการดังนี้
๔.๗.๑ จัดหาพลังงานไฟฟ้าและพลังงานอื่น ๆ ให้มีปริมาณเพียงพอทันต่อความต้องการในระดับราคาที่เหมาะสมด้วยการเร่งสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานภายในประเทศตลอดจนร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาแหล่งพลังงานและการจัดหาพลังงาน
๔.๗.๒ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแข่งขันด้านการค้า และการกลั่นน้ำมันอย่างเสรี รวมทั้งขจัดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมภายในประเทศ
๔.๗.๓ เร่งกำหนดมาตรการและดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
๔.๗.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและร่วมทุนกับรัฐด้านพลังงานมากขึ้น
๔.๗.๕ กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ อันเนื่องมาจากการพัฒนาและการผลิตพลังงาน
๔.๗.๖ เร่งรัดและวางมาตรการเพื่อลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการใช้พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะในเมือง เช่น การกำหนดมาตรฐานไอเสียยานพาหนะใหม่ การกำหนดมาตรการบำรุงรักษาเครื่องยนต์และการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน
๔.๘ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยเหตุที่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะที่ผ่านมามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายดังนี้
๔.๘.๑ กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ทีดินให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงสมรรถนะของดินและศักยภาพของพื้นที่ เช่น เขตพื้นที่เกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมชุมชน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์
๔.๘.๒ อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ทั้งป่าบก และป่าชายเลน โดยสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นและประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้และปลูกสร้างป่าชุมชน
๔.๘.๓ เร่งรัดการอนุรักษ์ ควบคุม ดูแลแหล่งน้ำ มิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยกวดขันให้มีการควบคุมคุณภาพน้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศรวมทั้งส่งเสริมการร่วมทุนของรัฐและเอกชนในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวม
๔.๘.๔ กระจายอำนาจการจัดสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นโดยให้จังหวัด ท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการมากขึ้น
๔.๘.๕ กำหนดมาตรการควบคุมการใช้ประโยชน์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่วิกฤติ
๔.๘.๖ ปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และประชาชนตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนองค์กรเอกชนที่ดำเนินการในเรื่องนี้
๔.๙ ด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงมีนโยบายดังนี้
๔.๙.๑ ส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรัฐจะเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกและสนับสนุนรวมทั้งจะกำกับดูแลกิจการมัคคุเทศก์ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและมั่นใจของวงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
๔.๙.๒ ส่งเสริมและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างประเทศรู้จักประเทศไทยในแง่มุมที่ถูกต้องและทราบถึงความมีศักยภาพพร้อมมูลทั้งในด้านการท่องเที่ยว การค้าการลงทุนและการจัดกิจกรรมนานาชาติ
๔.๙.๓ พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ โดยเร่งขยายโครงข่ายบริการพื้นฐาน พัฒนาอุตสาหกรรมบริการให้มีมาตรฐาน และเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว
๔.๙.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น
๔.๙.๕ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวให้อยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตาสหกรรมการท่องเที่ยวนั้นเอง
๕. นโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท
แม้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยที่ผ่านมาจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ความเจริญดังกล่าวยังคงกระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมิได้กระจายไปทั่วประเทศก่อให้เกิดทั้งปัญหาในกรุงเทพมหานครและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาครัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบทอย่างเป็นระบบดังนี้
๕.๑ กระจายระบบบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น ระบบคมนาคมขนส่งระบบสื่อสารโทรคมนาคม ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ไปสู่ภูมิภาคให้ทั่วถึงและเพียงพอเพื่อขยายโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค
๕.๒ จัดบริการพื้นฐานทางสังคม เช่น สถานศึกษา สถานพยาบาล ที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทอย่างทั่วถึง
๕.๓ สนับสนุนการกระจายการลงทุนของภาคเอกชนในภูมิภาคด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนในด้านภาษีอากรเป็นพิเศษและการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน
๕.๔ ส่งเสริมโครงการประเภทต่าง ๆ ของเอกชนทั้งทางด้านธุรกิจการค้า การบริการการเกษตร และอุตสาหกรรม ตามศักยภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การลงทุนและเพิ่มการสร้างงานในต่างจังหวัดให้มากขึ้น
๕.๕ ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น
๕.๖ พัฒนาแผนงานยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ดังนี้
๕.๖.๑ ภาคตะวันออก จะพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนต่อไปเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจที่จะรองรับประชากรอีก ๒ ล้านคน
๕.๖.๒ ภาคใต้ จะวางแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ด้วยสะพานเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงการจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมด้วยและจะพิจารณาเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามความเหมาะสมในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
๕.๖.๓ ภาคเหนือ จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหภาพพม่า
๕.๖.๔ ภาคกลาง จะเร่งรัดพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญและนำน้ำเข้ามาเสริมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค
๕.๖.๕ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเร่งรัดพัฒนาแหล่งน้ำและจะปรับโครงสร้างการผลิตทางเศรษฐกิจให้พึ่งพาการเกษตรน้อยลง ตลอดจนส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและประตูการติดต่อค้าขายกับประเทศกลุ่มอินโดจีน ทั้งจะพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงกับชายฝั่งทะเลตะวันออกอีกด้วย
๖. นโยบายฟื้นฟูบูรณะกรุงเทพมหานคร
เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและไม่มีระบบของกรุงเทพมหานคร รัฐบาลจึงมีนโยบายดังนี้
๖.๑ กำหนดแผนงานและโครงการฟื้นฟูบูรณะกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านการจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยและปัญหาชุมชนแออัด โดยเร่งรัดการจัดระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การปรับปรุงระบบรถโดยสารประจำทางและรถไฟโดยสารชานเมือง การก่อสร้างโครงข่ายระบบถนนสายหลักและสายรองให้เชื่อมโยงเป็นตาราง การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียและการควบคุมมลพิษทางอากาศการขยายบริการระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้ได้มาตรฐานเพียงพอและทั่วถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย การปรับปรุงชุมชนแออัด ตลอดจนการจัดให้มีสวนสาธารณะสนามกีฬา และสนามเด็กเล่นเพิ่มเติมในที่ดินของรัฐ
๖.๒ ดำเนินการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ในการปฏิบัติตามโครงการโดยให้มีการแบ่งภาระสัดส่วนการลงทุนและค่าดำเนินการที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกรุงเทพมหานครและประชาชนผู้ใช้บริการอย่างเป็นธรรม
๖.๓ สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรประสานงานที่มีเอกภาพและมีอำนาจตัดสินใจเพื่อรับผิดชอบในการปฏิบัติตามโครงการ ตลอดจนประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุนตามโครงการต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร
๖.๔ เร่งรัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำเจ้าพระยาและคูคลองต่าง ๆ โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
๖.๕ เร่งรัดแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและชุมชนแออัด โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก ด้วยการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษและจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการนี้ให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จะขยายการจัดบริการระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โดยเฉพาะน้ำประปาและไฟฟ้าในเขตชุมชนแออัดให้ได้มาตรฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
๖.๖ สนับสนุนให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมโยกย้ายไปตั้งที่ทำการนอกกรุงเทพมหานคร เพื่อผ่อนคลายปัญหาการจราจร
๖.๗ พัฒนากรุงเทพมหานครให้เชื่อมโยงกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และเชื่อมโยงกับท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ ๒ ที่หนองงูเห่ารวมทั้งภาคกลาง ตอนบนเพื่อขยายเขตมหานครออกไป
๗. นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจะเร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการแข่งขันระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงกำหนดนโยบายดังนี้
๗.๑ ส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทันสมัและนำมาใช้สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตด้านเกษตร อุตสาหกรรมและการบริการ รวมทั้งการจัดตั้งเขตประมวลและบริการสารสนเทศ
๗.๒ สนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐกับเอกชนอย่างจริงจัง โดยร่วมกันกำหนดทิศทาง ลำดับความสำคัญ และเป้าหมายให้สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว
๗.๓ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐ ทั้งในด้านงบประมาณและกำลังคน เพื่อให้มีขีดความสามารถทัดเทียมกับประเทศคู่แข่งขัน โดยเน้นด้านการวิจัยประยุกต์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อย เพื่อเพิ่มผลผลิตและการจ้างงาน
๗.๔ เร่งรัดให้มีการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการผลิต และพัฒนาบุคลากรเพิ่มขึ้นโดยจัดสรรทุนการศึกษา การฝึกอบรม การวิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
๗.๕ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนในการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ทดแทนการนำเข้า โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีหรือสิทธิพิเศษอื่น
๗.๖ สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว
๗.๗ ขยายความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๘. นโยบายทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดปัญหาในหลายด้าน รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดนโยบายดังนี้
๘.๑ ด้านการศึกษา
๘.๑.๑ เร่งขยายโอกาสการศึกษาในระดับก่อนประถมศึกษาในทุกรูปแบบให้ทั่วถึงโดยมุ่งเน้นการพัฒนาความพร้อมทุกด้านให้แก่เด็กก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา
๘.๑.๒ เร่งขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก ๖ ปี เป็น ๙ ปี ให้ทั่วถึงโดยเร็วอย่างมีคุณภาพ ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนรวมทั้งสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ผู้บกพร่องทางร่างกาย จิตใจ และผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่น ๆ
๘.๑.๓ พัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภททั้งในด้านเนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอันเป็นฐานสำคัญต่อการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ที่จำเป็น และเหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศ
๘.๑.๔ เร่งอบรมปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตสำนึกถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ในด้านคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยเน้นความร่วมมืออย่างจริงจังและใกล้ชิดของสถาบันการศึกษา ศาสนา สังคม และครอบครัว
๘.๑.๕ จัดให้มีการศึกษาและฝึกอบรมอาชีพทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานทุกระดับ รวมทั้งส่งเสริมให้เอกชนและสถานประกอบการเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา และฝึกอบรมให้มากและกว้างขวางยิ่งขึ้น
๘.๑.๖ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรจากองค์กรภาครัฐและเอกชนสถานประกอบการ ชุมชน และแหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและแลกเปลี่ยนข่าวสารการเรียนรู้
๘.๑.๗ กระจายอำนาจการบริหารการศึกษาจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคและไปสู่สถานศึกษาให้มากขึ้น โดยการกำหนดขอบข่ายความรับผิดชอบของหน่วยงานทุกระดับอย่างชัดเจนให้สถานศึกษามีความคล่องตัวในการเลือกวิธีการจัดดำเนินงานตามนโยบายรวมทั้งสนับสนุนให้บุคคลและองค์กรในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชนในรูปคณะกรรมการการศึกษา
๘.๑.๘ ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาทุกสังกัดมีความคล่องตัวและมีความเป็นอิสระเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ
๘.๑.๙ ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ
๘.๑.๑๐ ส่งเสริมบทบาทเอกชนในการร่วมจัดการศึกษาในทุกระดับให้มากยิ่งขึ้น
๘.๑.๑๑ พัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูและมาตรฐานบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพอย่างแท้จริง โดยการปรับกระบวนการผลิตและการใช้ตลอดจนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
๘.๑.๑๒ ปรับปรุงสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่บุคลากรในสถาบันการศึกษาทุกระดับเพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ และความภาคภูมิใจในอาชีพ
๘.๑.๑๓ ขยายกองทุนอาหารกลางวันให้ทั่วถึงในระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษาเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเหล่านั้นได้มีการพัฒนาด้านสุขภาพอนามัยอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งสนับสนุนให้มีกองทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
๘.๒ ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
๘.๒.๑ ทำนุบำรุงศาสนาและส่งเสริมสถาบันศาสนา โดยการพัฒนาการศึกษาของสงฆ์ และการฝึกอบรมบุคลากรทางศาสนาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นผู้นำในการพัฒนาจิตใจจริยธรรม และคุณธรรมของประชาชน
๘.๒.๒ รณรงค์ให้ประชาชน องค์กร สถาบันต่าง ๆ และชุมชนเข้าร่วมในกิจกรรมการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
๘.๒.๓ ดำเนินการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางการศึกษาการค้นคว้า วิจัย การฝึกอบรม การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของชาติรวมทั้งการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาค
๘.๓ ด้านสาธารณสุขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในด้านสาธารณสุขรัฐบาลจึงกำหนดนโยบายด้านพัฒนาระบบบริหารและบริการสาธารณสุข ด้านการควบคุมโรคเอดส์ด้านการส่งเสริมสุขภาพ และด้านการผลิตและพัฒนาระบบบริหารและบริการสาธารณสุขด้านการควบคุมโรคเอดส์ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ และด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรดังนี้
๘.๓.๑ ให้มีระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมีเครือข่ายทั่วประเทศ และขยายบริการสาธารณสุขในภาครัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ทั่วถึงรวมทั้งให้มีการประสานงานบริการกับภาคเอกชน และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ
๘.๓.๒ กระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้นโดยการจัดตั้งสาธารณสุขเขตให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับผิดชอบการให้บริการด้านการรักษา การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาสาธารณสุขของท้องถิ่น
๘.๓.๓ เร่งรัดงานสาธารณสุขมูลฐานในชนบทโดยเพิ่มขีดความสามารถของสถานบริการสาธารณสุขในระดับตำบลรวมทั้งขยายงานและพัฒนาคุณภาพสาธารณสุขมูลฐานในเขตเมือง โดยเฉพาะชุมชนแออัดแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรเอกชนในการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานและผสมผสานการแพทย์แผนโบราณและสมุนไพรเข้ากับระบบบริการสาธารณสุขของชุมชนอย่างเหมาะสม
๘.๓.๔ ปรับปรุงระบบการประกันสุขภาพ ให้สามารถคุ้มครองลูกจ้างอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไปตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนไทยประมาณ ๒๕ ล้านคน ที่ยังไม่หลักประกันสุขภาพได้มีการประกันสุขภาพโดยความสมัครใจ
๘.๓.๕ ให้มีการสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลแก่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุเด็กแรกเกิดจนถึง ๑๒ ปี และผู้พิการโดยให้ได้รับบัตรสงเคราะห์ในการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง
๘.๓.๖ เร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ภาคเอกชนและองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ร่วมมือกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในการป้องกันโรคเอดส์เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง
๘.๓.๗ จัดให้มีการบริการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์โดยเตรียมบุคลากรไว้อย่างเพียงพอและให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข
๘.๓.๘ เร่งรัดจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงจัดให้มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และเร่งรัดเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สิ่งปฏิกูล และขยะติดเชื้อในสถานพยาบาล
๘.๓.๙ รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษของการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการเสพสารเสพติด ตลอดจนการใช้วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างทั่วถึง
๘.๓.๑๐ เร่งรัดการผลิต และพัฒนาสมรรถนะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอ โดยเน้นการกระจายบุคลากรดังกล่าวไปสู่ชนบทให้มากขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างขวัญและกำลังใจพร้อมทั้งให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่บุคลากรทุกระดับอย่างเหมาะสม
๘.๔ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและความเป็นธรรม รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายดังนี้
๘.๔.๑ เร่งรัดการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้สินค้าและบริการที่ดี มีความปลอดภัยและมีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม โดยการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด
๘.๔.๒ ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสมในการผลิตและควบคุมให้การโฆษณาสินค้าและบริการตรงกับความเป็นจริง
๘.๔.๓ ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและปรับปรุงองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความพร้อมในการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
๘.๔.๔ ส่งเสริมให้เอกชนรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรเพื่อมีบทบาทในการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
๘.๕ ด้านแรงงาน} รัฐบาลได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของแรงงานในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงส่งเสริมให้มีการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาความรู้ ฝีมือ และทักษะเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพของผู้ใช้แรงงานทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรมรวมทั้งได้รับการคุ้มครองด้านสภาพการทำงานและการจ้างงานตามกฎหมายอย่างครบถ้วนจึงกำหนดนโยบายดังนี้
๘.๕.๑ ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีเสรีภาพ และได้รับการคุ้มครองแรงงานอย่างเต็มที่โดยให้มีสิทธิตั้งสหภาพแรงงานเพื่อการคุ้มครองแรงงานตลอดจนจัดสวัสดิการให้เข้ามาตรฐานตามหลักสากลนิยมในการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศ
๘.๕.๒ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานรัฐวิสาหกิจให้มีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการห้ามนัดหยุดงานในกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
๘.๕.๓ ส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคเกษตรในชนบท กลุ่มแรงงานยากจนในเมืองเพื่อเสริมสร้างโอกาสการมีงานทำและช่วยยกระดับรายได้
๘.๕.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงานและศูนย์ฝึกฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะสำหรับแรงงานที่ต้องใช้ฝีมือและความชำนาญสูง
๘.๕.๕ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพส่วนตัวขนาดเล็กในด้านข้อมูลทางวิชาการและแหล่งเงินทุน รวมทั้งจัดให้มีการฝึกสอนอาชีพต่าง ๆ ที่จะเสริมรายได้ให้เยาวชนและแม่บ้านในชนบทในฤดูแล้ง และช่วงรอฤดูการเก็บเกี่ยว
๘.๕.๖ วางกฎเกณฑ์ในการกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิต และภาวะค่าครองชีพ
๘.๕.๗ ส่งเสริมระบบสวัสดิการแรงงานที่เหมาะสมและได้มาตรฐานโดยเฉพาะสำหรับแรงงานก่อสร้างนั้น จะส่งเสริมให้มีการจัดที่พักชั่วคราวที่ถูกสุขลักษณะรวมทั้งการจัดการศึกษาสำหรับบุตรหลานคนงานก่อสร้างในลักษณะโรงเรียนเคลื่อนที่
๘.๕.๘ เสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพทั้งระบบทวิภาคีและระบบไตรภาคี เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่เป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ โดยจะดำเนินการอบรมเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบ และประโยชน์อันจะพึงมีพึงได้ตามกฎหมายแรงงาน
๘.๕.๙ ส่งเสริมให้มีความปลอดภัย ตลอดจนการพัฒนาให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน โดยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
๘.๖ ด้านเด็ก และสตรีเพื่อคุ้มครองสิทธิและให้สวัสดิการแก่เด็ก และสตรี รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายดังนี้
๘.๖.๑ สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตเมืองและชนบททั้งจะปรับปรุงห้องสมุดประชาชน ให้สามารถบริการเด็กและเยาวชนได้อย่างเพียงพอ
๘.๖.๒ แก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อสตรี โดยการแก้กฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีสามารถประกอบอาชีพได้เท่าเทียมชาย
๘.๖.๓ สนับสนุนสถาบันครอบครัว หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันศาสนาและสื่อสารมวลชน ให้มีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ปัญหา และพัฒนาเด็กและเยาชนโดยเฉพาะปัญหาเด็กจรจัด แรงงานเด็ก โสเภณี และการมัวเมาหรือมีค่านิยมที่ผิดในสิ่งอบายมุข
๘.๖.๔ ปลกฝังค่านิยมพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในเรื่องความมีเหตุผลการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ความมีน้ำใจนักกีฬา ความมีระเบียบวินัย การประหยัดความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การพึ่งตนเองและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ให้มากขึ้นรวมทั้งให้ตระหนักในคุณค่าของการปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาการยึดมั่นในเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นกำเนิดและการรู้จักคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๘.๗ ด้านการกีฬา
๘.๗.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และประชาชนพัฒนาสุขภาพอนามัยโดยการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา เพื่อความเป็นเลิศในการแข่งขันทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
๘.๗.๒ เร่งพัฒนามาตรฐานการกีฬาของประเทศอย่างเป็นระบบ และเสริมสร้างสนาม กีฬาและอุปกรณ์การกีฬาให้เพียงพอแก่การที่จะเอื้ออำนวยให้นักกีฬาสามารถฝึกซ้อมและเล่นกีฬาได้อย่างเต็มความสามารถ
๘.๗.๓ เสริมสร้างสวัสดิการเพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจของนักกีฬารวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการส่งเสริมการกีฬาของประเทศมากยิ่งขึ้น
๘.๘ ด้านอื่น ๆเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ ของประเทศรัฐบาลมีนโยบายจะดำเนินการดังนี้
๘.๘.๑ เร่งรัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติดโดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดตลอดจนร่วมมือกับสหประชาชาติและมิตรประเทศอย่างใกล้ชิดและผู้ขายที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง
๘.๘.๒ จัดให้มีระบบป้องกันอุบัติภัย ลดอุบัติเหตุและบรรเทาสาธารณภัย
๘.๘.๓ ดูแล ฟื้นฟู และพัฒนาผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มบุคคลที่สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ให้ได้รับการศึกษา การฝึกอาชีพ และการจ้างงานเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ
๘.๘.๔ ดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงมาทั้งหมดนี้ กระผมขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะมุ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอันเป็นปณิธานสูงสุดของการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลกระผมเชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือสนับสนุนด้วยดีจากท่านสมาชิกผู้มีเกียรติของรัฐสภา
*รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ชุดที่ ๑๘ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ หนึ่ง) พุธที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ หน้า ๑๙ – ๕๓