คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๘
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๘
พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕ – ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕
แถลงนโยบาย เมื่อวันพุธที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ
ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๕ นั้น บัดนี้คณะรัฐมนตรี
ได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้วจึงขอนำเรียนให้ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติได้ทราบถึงนโยบายและเจตนารมณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล กระผมขอกราบเรียนในเบื้องต้นว่านโยบายนี้ได้กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการสร้างความผาสุก ความมั่งคั่ง และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติสืบไป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. นโยบายการเมือง
รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาระบบการเมืองให้มีความมั่นคงเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวมโดยให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกหมู่เหล่าในทุกระดับ ทั้งนี้ ภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีนโยบายดังต่อไปนี้
๑.๑ เทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้เป็นที่เคารพสักการะอันสูงยิ่งและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๑.๒ นับสนุนการพัฒนาพรรคการเมืองให้มีบทบาทในฐานะเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดจนสร้างจิตสำนึกในหน้าที่ของชนชาวไทยที่มีตามรัฐธรรมนูญ ทั้งจะสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชาติและระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
๑.๓ จัดให้มีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างมีระบบและเหมาะสมกับสภาวะของแต่ละท้องที่ทั้งจะรีบเร่งพัฒาระบบการบริหารงานบุคคลระบบการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องต่อกันเพื่อรองรับการกระจายอำนาจดังกล่าว
๑.๔ สนับสนุนและส่งเสริมให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
๒. นโยบายการบริหารราชการและการปรับปรุงกฎหมาย
รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแนวความคิดจากการบริหารราชการในลักษณะของการควบคุม มาเป็นการบริหารราชการในเชิงกำกับดูแล ส่งเสริมสนับสนุนและตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีนโยบายดังนี้
๒.๑ ดำเนินการปรับปรุงการบริหารราชการ ดังต่อไปนี้
๒.๑.๑ ปรับทัศนคติของข้าราชการให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน อุทิศตนแก่ราชการและมุ่งปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวมให้มากขึ้น
๒.๑.๒ ปรับปรุงระบบการทำงานของราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน ให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยขจัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นสามารถกระจายอำนาจและความรับผิดชอบลงสู่ระดับล่างได้และขจัดการซ้ำซ้อน ปรับระบบการอนุญาตการอนุมัติหรือการดำเนินการอื่นของข้าราชการและส่วนราชการให้มีหลักเกณฑ์การพิจารณากรอบกำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจและระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน โดยให้เปิดเผยหลักเกณฑ์และระยะเวลาดังกล่าวให้ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบล่วงหน้า ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างและขั้นตอนการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณและการวางแผนให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
๒.๑.๓ ปรับปรุงให้กระทรวง ทบวง กำหนดนโยบายแผนงานให้ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาของประเทศ รวมตลอดทั้งให้มีระบบการติดตามเร่งรัดและการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพ
๒.๑.๔ เร่งรัดให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ขยายการบริการประชาชนไปสู่ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น รวมตลอดทั้งให้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ในทุก ๆ ด้านทั้งทางสารสนเทศและอื่น ๆ มาใช้ เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพตอบสนองต่อภารกิจหน้าที่ของรัฐและความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวกและทั่วถึง
๒.๑.๕ สร้างขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการโดยการปรับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะกับสถานภาพ และสอดคล้องกับค่าครองชีพให้มีระบบสวัสดิการที่เหมาะสมมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ได้มาตรฐานตลอดจนยึดหลักระบบคุณธรรมในการพิจารณาให้บำเหน็จความชอบและการเลื่อนตำแหน่งในระบบราชการ เพื่อให้สามารถสรรหาและรักษาข้าราชการที่มีคุณภาพไว้ได้
๒.๑.๖ ส่งเสริมให้มีมาตรการที่ได้ผลในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ และดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดและได้ผลจริงจัง
๒.๑.๗ ส่งเสริมและจัดระบบงานยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการอำนวยความยุติธรรมให้รวดเร็ว และจัดตั้งศาลเพิ่มมากขึ้น
๒.๒ ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยสอดคล้องต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และสอดคล้องกับนโยบายในการเปลี่ยนบทบาทของราชการจากการควบคุมมาเป็นการกำกับดูและส่งเสริมและสนับสนุน โดยจะสนับสนุนให้สถาบันทางการศึกษา และการวิจัยและนักวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนสาธารณชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะด้วย
๓. นโยบายการกระจายการพัฒนาและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชนบทเพื่อกระจายรายได้และแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนให้เกิดผลอย่างจริงจัง โดยมีนโยบายดังต่อไปนี้
๓.๑ ด้านการพัฒนาชนบท
๓.๑.๑ กระจายการให้บริการประชาชนให้เกิดความรวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น
๓.๑.๒ กระจายอำนาจการบริหารและงบประมาณไปสู่ส่วนภูมิภาคเพื่อให้จังหวัดมีบทบาทในการริเริ่มโครงการพัฒนาของจังหวัดให้เหมาะสมกับความจำเป็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
๓.๑.๓ สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยพัฒนาขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของส่วนท้องถิ่นปรับปรุงโครงสร้างระบบภาษีท้องถิ่นและกระจายรายได้ของรัฐให้ท้องถิ่นมากขึ้น
๓.๑.๔ พัฒนาสภาตำบลให้มีขีดความสามารถสูงขึ้นและสามารถเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นรากฐานในการเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลได้เมื่อมีความพร้อม
๓.๑.๕ เร่งรัดพัฒนาอาชีพเสริมที่สามารถทำได้ทั้งในและนอกฤดูการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ของชาวชนบทให้สูงขึ้น
๓.๑.๖ สนับสนุนให้บริการด้านเทคโนโลยีและการตลาดที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและจำหน่ายผลผลิตได้โดยสะดวกและได้ราคาที่เป็นธรรม
๓.๑.๗ เร่งรัดการกระจายบริการพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการสาธารณสุขพื้นฐาน เป็นต้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชนบทให้ได้มาตรฐานทั่วถึง
๓.๑.๘ ส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการสินเชื่อสำหรับเกษตรกรเพื่อใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเกษตร
๓.๑.๙ จัดที่ทำกินให้แก่เกษตรกรซึ่งไร้ที่ทำกินโดยการใช้การปฏิรูปที่ดินหรือวิธีการอื่นและเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิในที่ดินแต่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ
๓.๑.๑๐ ปรับปรุงมาตรการและวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและมิให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยเฉพาะราษฎรที่เข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว
๓.๒ ด้านการพัฒนาชุมชนสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง
๓.๒.๑ พัฒนาบริการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้องในเขตเมือง ตลอดจนบริการสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่เกี่ยวข้องให้ได้มาตรฐานที่เหมาะสมโดยทั่วถึง
๓.๒.๒ ส่งเสริมและร่วมมือกับภาคเอกชนในการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนเพื่อเพิ่มโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพ และเพิ่มพูนรายได้โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองให้สามารถช่วยตัวเองได้ตลอดจนจัดให้มีบริการด้านสุขภาพอนามัยและการศึกษาอย่างทั่วถึง
๔. นโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยจะดำเนินการดังนี้
๔.๑ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
๔.๑.๑ อนุรักษ์ คุ้มครอง และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่ดิน ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ โดยจะใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและให้ประชาชนในพื้นที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น
๔.๑.๒ ดูแลการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีเหตุผลเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจนันทนาการและการอนุรักษ์ควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม
๔.๑.๓ เร่งสร้างจิตสำนึกของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนกระตุ้นให้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว
๔.๑.๔ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมประมงในน่านน้ำไทยเพื่อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
๔.๒ การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำ
๔.๒.๑ รัฐบาลจะจัดทำแผนแม่บทสำหรับการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำและการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การเกษตรและเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยคำนึงถึงการพัฒนาระบบนิเวศวิทยา การอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้ต้นน้ำลำธารควบคู่กันไป พร้อมทั้งสนับสนุนให้องค์กรประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนา บริหารและบำรุงรักษา
๔.๒.๒ ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค
๔.๒.๓ สนับสนุนส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการจัดหาน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมมากขึ้น
๔.๒.๔ จัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำที่มิใช่เพื่อการเกษตรในอัตราที่เหมาะสมคุ้มกับการลงทุนและเพื่อให้เกิดการประหยัดในการใช้น้ำ
๔.๓ การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้
๔.๓.๑ ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำลำธารโดยจะกวดขันให้เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ภาพถ่ายทางดาวเทียมในการควบคุมดูแลทั้งจะเร่งรัดประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าที่ยังสมบูรณ์เพิ่มขึ้นโดยเร็ว
๔.๓.๒ ดำเนินการสำรวจเพื่อจำแนกพื้นที่ป่าออกเป็นป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร่งด่วน และนำผลจากการสำรวจมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง
๔.๓.๓ สนับสนุนการปลูกป่าของเกษตรกรเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าให้มากขึ้น
๔.๓.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนปลูกสร้างสวนป่าเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการรักษาความชุ่มชื้น
๔.๓.๕ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ชายเลนทั้งจะหามาตรการป้องกันและปราบปรามผู้บุกรุกป่าชายเลน
๔.๔ การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวกับพลังงาน
๔.๔.๑ เร่งรัดการสำรวจ ผลิตและจัดหารแหล่งพลังงานทั้งในและต่างประเทศที่เหมาะสมให้เพียงพอ ควบคู่ไปกับมาตรการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
๔.๔.๒ ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งพลังงานเพื่อประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค
๔.๕ การแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม
๔.๕.๑ เร่งรัดแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะปัญหามลพิษในด้านน้ำ อากาศ เสียง การกำจัดสิ่งปฏิกูลและกากของเสียจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลโดยมีหลักการให้ธุรกิจหรือเอกชนที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมต้องรับผิดชอบทางการเงินในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นธรรม
๔.๕.๒ ป้องกันอันตรายจากสารพิษและวัตถุอันตราย โดยปรับปรุงระบบควบคุมตั้งแต่การขนส่ง การเก็บรักษา และการกำจัด รวมทั้งควบคุมตั้งแต่การขนส่ง และการกำจัดรวมทั้งควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
๔.๕.๓ เร่งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายอันเกิดจากปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนบทบาทของชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับภาครัฐ
๕. นโยบายด้านพัฒนาการเกษตร
โดยที่รัฐตระหนักดีว่าภาคการเกษตรเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจส่วนรวมและประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้แต่เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังมีฐานะยากจน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทีเทคโนโลยีต่ำ ผลผลิตและรายได้จากการขายผลผลิตไม่แน่นอน รัฐจึงมีนโยบายให้ภาคการเกษตรเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศ โดยจะให้ความเอาใจใส่และมีมาตรการในการฟื้นฟูภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพดังนี้
๕.๑ นโยบายด้านการผลิต
๕.๑.๑ สนับสนุนเกษตรกรให้ปรับโครงสร้างการผลิต รวมทั้งการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์และการประมง ให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่และความต้องการของตลาด
๕.๑.๒ ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงบำรุงดินเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาการเกษตรโดยจะเน้นบทบาทของรัฐในการลงทุนเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุและปุ๋ยชีวภาพ
๕.๑.๓ จะลงทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติและจะส่งเสริมตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้แก่เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีแต่เพียงทางเดียว
๕.๑.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้พันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูงและมีความต้านทานโรคและศัตรูพืช จัดหาปัจจัยการผลิตรวมทั้งพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และปุ๋ยให้เกษตรกรตามความจำเป็นเหมาะสมและทันต่อฤดูกาล ตลอดจนจัดให้มีข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการผลิตและการตลาด
๕.๑.๕ เน้นขยายสินเชื่อการเกษตรระยะยาวเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถฟื้นฟูระบบการเกษตรได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพรวมทั้งสนับสนุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการขยายสินเชื่อให้แก่เกษตรกรรายย่อยและยากจนภายใต้เงื่อนไขผ่อนปรน
๕.๑.๖ จัดสรรเงินเข้ากองทุนที่ดินเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกินให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองได้อย่างทั่วถึงและมีเป้าหมายที่จะดำเนินการเปลี่ยนสถานภาพกองทุนที่ดินดังกล่าวให้เป็นธนาคารที่ดินต่อไป
๕.๒ นโยบายด้านการตลาด
๕.๒.๑ พัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตรภายในประเทศให้เกษตรกรมีโอกาสเลือกในการขยายผลผลิตทางการเกษตรโดยไม่ผ่านคนกลางโดยการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรในระดับท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง
๕.๒.๒ ดูแลเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้รับผลตอบแทนจากการขายผลผลิตทางการเกษตรในราคาที่เป็นธรรมโดยการแทรกแซงราคาหรือใช้มาตรการอื่นใดที่เหมาะสมกับสภาวะของผลผลิตและสภาวะทางราคา
๕.๒.๓ สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๕.๒.๔ ขยายกองรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมและกำกับดูแลการใช้เงินกองทุนให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกร
๕.๓ นโยบายส่งเสริมการเพิ่มพูนรายได้
๕.๓.๑ กระจายอุตสาหกรรมการเกษตรให้กว้างขวาง เพื่อรองรับวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกในการผลิตผลผลิตทางการเกษตรกว้างขวางขึ้นและมีปลักประกันในเรื่องราคาและแหล่งรับซื้อตามสมควร โดยสนับสนุนให้มีโรงงานแปรรูปผลผลิตสินค้าเกษตรในท้องถิ่น
๕.๓.๒ สนับสนุนให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้ของเกษตร ตลอดจนให้เกษตรกรมีงานทำตลอดปีและสามารถเพิ่มรายได้จากการใช้ทีดิน
๕.๓.๓ สนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมในลักษณะไร่นาสวนผสมเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
๖. นโยบายเศรษฐกิจ
รัฐบาลยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจเสรีและเน้นการรักษาเสถียรภาพและวินัยทางการเงิน การคลังเป็นเป้าหมายหลักควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ในประเทศ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นจะให้ความสำคัญแก่การเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวโดยต่อเนื่องและมุ่งที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายดังต่อไปนี้
๖.๑ ดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อมิให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาประเทศและฐานะการครองชีพของประชาชน
๖.๒ ปรับปรุงสมรรถภาพความพร้อมขององค์กรภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ให้พร้อมที่จะปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
๖.๓ ปรับระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีภูมิคุ้มกันและขีดความสามารถที่จะขยายตัวเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจสากลอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน เพื่อให้สามารถพัฒนาและแข่งขันกับประเทศที่เจริญทางอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง ภายใต้กรอบวินัยทางการเงิน การคลัง
๖.๔ เร่งพัฒนาขีดความสามารถในการระดมเงินออมภายในประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนในการพัฒนา ภายใต้กรอบการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเงินของสากลโลกโดยเฉพาะการพัฒนาให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทั้งการเงินและการค้าโดยจะพัฒนาทั้งทางด้านตลาดทุนและตลาดการเงินให้ได้มาตรฐานและสามารถสนองตอบความต้องการทางด้านการระดมทุนของภาครัฐบาลและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะต้องคุ้มครองผู้ฝากและผู้ลงทุนอย่างจริงจังด้วย
๖.๕ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและวิธีการจัดเก็บของระบบภาษีอากรทั้งของรัฐและท้องถิ่นให้มีความชัดเจน เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น
๖.๖ ในด้านการดำเนินการของภาครัฐวิสาหกิจจะขจัดอุปสรรคและข้อจำกัดในการขยายบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อให้มีปริมาณและคุณภาพที่จะสามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคง
๖.๗ สนับสนุนให้นักธุรกิจไทยขยายการลงทุนและการค้าออกไปสู่ต่างประเทศให้มากขึ้น
๖.๘ ดำเนินนโยบายและมาตรการทางการเงิน การคลัง เพื่อจูงใจให้มีการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหามลพิษ ประหยัดการใชัพลังงาน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและขยายการลงทุนของนักธุรกิจไทยไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาระบบการสนับสนุนทางการเงินในรูปสินเชื่อเพื่อการส่งออก และการคุ้มครองการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ เป็นต้น
๖.๙ ปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (GATT) และการค้าเสรีของอาเซียน (AFTA) ขณะเดียวกันต้องดูแลอุตสาหกรรมภายในประเทศมิให้ถูกกระทบกระเทือนจากนโยบายดังกล่าวด้วย
๖.๑๐ ด้านอุตสาหกรรม รัฐบาลจะดำเนินการดังนี้
๖.๑๐.๑ เร่งกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคโดยรัฐจะจัดให้มีสาธารณูปโภคสำหรับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมพร้อมทั้งจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและให้สิทธิประโยชน์ในด้านส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนประกอบกิจการอุตสาหกรรมในต่างจังหวัดโดยเฉพาะจะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตทางเกษตร และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่
๖.๑๐.๒ ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศทั้งในด้านคุณภาพแลต้นทุนการผลิต
๖.๑๑ ด้านพาณิชยการ รัฐบาลจะดำเนินการดังนี้
๖.๑๑.๑ ลดขั้นตอน กฎ ระเบียบ และข้อบังคับให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๖.๑๑.๒ เพิ่มบทบาทของสถาบันประกันภัยในการระดมทุนมาใช้ในการพัฒนาประเทศให้กว้างขวาง
๖.๑๑.๓ เร่งรัดการส่งสินค้าออกให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการแข่งขันของผู้ผลิต ผู้ส่งออกในทุกวิถีทาง เช่น การลดต้นทุนการผลิตการปกป้องรักษาผลประโยชน์ทางการค้าและจะดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศในการเจรจาการค้าหลายฝ่าย รวมทั้งการบุกเบิกขยายตลาดทั้งตลาดประจำและตลาดใหม่ อาทิ ตะวันออกกลางยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
๖.๑๒ ด้านการคมนาคมขนส่งและสื่อสาร รัฐบาลจะดำเนินการดังนี้
๖.๑๒.๑ เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการขนส่งและสื่อสารให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าในภูมิภาค โดยจะเร่งรัดโครงการที่คั่งค้างอยู่ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว และดำเนินการโครงการใหม่ ๆเพื่อให้การขนส่งและสื่อสารเป็นตัวนำและกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อาทิปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างทางสายหลัก รวมทั้งขยายโครงข่ายถนนให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบทด้วย
๖.๑๒.๒ เร่งรัดแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งเมืองศูนย์กลางความเจริญในภูมิภาค โดยเร่งรัดแก้ไขการจราจรการขนส่งมวลชน การสร้างขยายถนนและผิวจราจรและควบคุมความประพฤติของผู้ใช้ถนนให้มีวินัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะจัดให้มีแผนงานและโครงการที่สมบูรณ์พร้อมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๖.๑๒.๓ เร่งรัดพัฒนาท่าอากาศยานพาณิชย์ให้สามารถรองรับการขยายตัวของการขนส่งทางอากาศ และการท่องเที่ยวเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค
๖.๑๓ ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมตลอดทั้งวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อเป็นสิ่งจูงใจแก่นักท่องเที่ยว
๗.นโยบายการป้องกันประเทศ
รัฐบาลมีนโยบายด้านการป้องกันประเทศดังต่อไปนี้
๗.๑ ปรับปรุงและพัฒนากำลังกองทัพให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพพร้อมรบ ทันสมัยและปรับปรุงระบบกำลังสำรองระบบการระดมสรรรพกำลังเพื่อการป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนผนึกกำลังทหาร กำลังกึ่งทหาร และกำลังประชาชนเพื่อรักษาความมั่นคงและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
๗.๒ มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองในด้านการป้องกันประเทศโดยสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการทหารรวมทั้งการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศโดยร่วมมือกับส่วนราชการต่าง ๆ ภาคเอกชน และมิตรประเทศ
๗.๓ สนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของกองทัพในการพัฒนาประเทศ การพัฒนาเพื่อความมั่นคงการช่วยเหลือประชาชนและการบรรเทาสาธารณภัย อีกทั้งจะบำรุงเสริมสร้างขวัญกำลังใจทหารและครอบครัวในด้านสวัสดิการและการดำรงชีพรวมทั้งสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้ด้วยความเหมาะสมและสมเกียรติ
๘. นโยบายสังคม
รัฐบาลมีนโยบายดังต่อไปนี้
๘.๑ เสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยเร่งรัดป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ โดยเฉพาะการปราบปรามผู้ตัดไม้ทำลายป่า และผู้ประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งป้องกันและปราบปรามการผลิตและการค้ายาเสพติดให้โทษอย่างเฉียบขาด
๘.๒ สนับสนุนการพัฒนาสังคมและจิตใจในระดับหมู่บ้าน เน้นคุณธรรมเป็นเครื่องนำทางชีวิตให้มีการปฏิบัติศาสนธรรมต่าง ๆและส่งเสริมให้ใช้ศาสนธรรมของชุมชนเป็นแนวทางการพัฒนาสังคมและจิตใจให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
๘.๓ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขตามสมควร
๘.๔ ดูแล ฟื้นฟู และพัฒนา ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาพิเศษ เช่น ผู้พิการและทุพพลภาพ ให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาฝีมือหรืออาชีพ ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ
๘.๕ พัฒนาและคุ้มครองสตรีมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกกดขี่ข่มเหง
๘.๖ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน โดยจะจัดให้มีแหล่งนันทนาการ สนามกีฬาการฝึกอบรม ตลอดจนดำเนินการที่จะปลูกฝังทัศนคติที่ดี
๘.๗ ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทำนุบำรุงมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
๘.๘ เสริมสร้างระบบการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีหลักประกันที่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทั้งผู้ผลิตและประชาชนผู้บริโภคอย่างแท้จริง
๘.๙ จัดให้มีระบบป้องกันภัย โดยช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่รวดเร็ว ทันเหตุการณ์และสนับสนุนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีบทบาทและหน้าที่ในการป้องกันสาธารณภัยร่วมกัน
๘.๑๐ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลรวมทั้งพัฒนาขยายงานคุมประพฤติให้กว้างขวางขึ้นและปรับปรุงการพิจารณาอรรถคดีทั้งปวงให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
๘.๑๑ ด้านการกีฬามีนโยบายดังนี้
๘.๑๑.๑ ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการกีฬาเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตลอดจนพัฒนาสุขภาพของประชาชนให้มีพลานามัยสมบูรณ์โดยจะเร่งดำเนินการปรับปรุงกีฬาอย่างเป็นระบบ และสร้างสนามกีฬาให้พอเพียงกับความต้องการของประชาชนขณะเดียวกันจะเน้นการพัฒนามาตรฐานการกีฬา เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมนานาประเทศ
๘.๑๑.๒ สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬามากยิ่งขึ้นโดยจัดหามาตรการให้เกิดแรงจูงใจในการที่ภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนกิจการกีฬาทุกประเภท
๘.๑๑.๓ เสริมสร้างสวัสดิการ ขวัญและกำลังใจนักกีฬาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักกีฬาสามารถฝึกซ้อมและเล่นกีฬาได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ
๘.๑๑.๔ ส่งเสริมสถานศึกษาให้เน้นกิจกรรมการพัฒนาด้านสุขภาพและการออกกำลังกายแก่เด็กและเยาวชนให้มีพลานามัยสมบูรณ์เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาประเทศได้ดียิ่งขึ้น
๙. นโยบายด้านการศึกษา
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศโดยจะปรับปรุงระบบการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน และคุณภาพของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาผู้ศึกษาให้ประจักษ์ในคุณค่าของความเป็นมนุษย์และเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะดำเนินการดังนี้
๙.๑ เร่งเสริมสร้างและขยายโอกาสทางการศึกษา ทั้งในและนอกระบบการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาภาคบังคับให้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและขยายการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในชนบทให้กว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น
๙.๒ กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูอาจารย์ที่มีคุณภาพโดยปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาให้กว้างขวางตลอดจนระดมทรัพยากรทั้งภาครัญและภาคเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศมาแก้ไขปัญหาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
๙.๓ เร่งรัดพัฒนาการผลิตกำลังตนในสาขาวิชาการและวิชาชีพที่มีคุรภาพอย่างเพียงพอเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
๙.๔ สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความก้าวหน้าทางวิชาการในด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศในอนาคตตลอดจนเพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศ
๙.๕ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีเนื้อหาสาระทางวิชาการ ศิลป วัฒนธรรม และประเพณี
ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นควบคู่ไปกับให้มีการเพิ่มพูนความรู้โดยใช้ระบบสื่อสารมวลชน
๙.๖ เสริมสร้างสวัสดิการ ขวัญ และกำลังใจแก่ครู อาจารย์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีความมั่นคงในอาชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล
๙.๗ ส่งเสริมการกระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท
๑๐. นโยบายสาธารณสุข
รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยมุ่งขยายบริการด้านสาธารณสุขให้ทั่วถึงเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนโยบายดังต่อไปนี้
๑๐.๑ เน้นการพัฒนาบริการการแพทย์ และสาธารณสุขอย่างทั่วถึงโดยปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริการทุกระดับ ให้มีความพร้อมทั้งในยามปกติและฉุกเฉินเร่งพัฒนาบริการในระดับตำบล สนับสนุนและดำเนินการให้มีระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติเป็นเครือข่ายทั่วประเทศที่ประกอบด้วยบริการสาธารณสุขภาครัฐทุกสังกัด กระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งภาคเอกชนเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการที่ดีมีคุณภาพเหมาะสมโดยเท่าเทียมกันมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพรองรับอย่างเหมาะสม
๑๐.๒ ให้การควบคุมและป้องกันโรคเอดส์เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนควบคู่ไปกับการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย และดำเนินการให้ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อสามารถอยู่ในสังคมอย่างปกติสุขสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์อย่างจริงจังและต่อเนื่องในขณะเดียวกันก็จะระมัดระวังมิให้การเผยแพร่ความรู้ในเรื่องนี้เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ
๑๐.๓ เร่งสร้างหลักประกันทางสังคมในการประกันสุขภาพของผู้มีรายได้น้อยบุคคลที่ควรช่วย
เหลือเกื้อกูล รวมทั้งผู้สูงอายุให้เหมาะสม
๑๐.๔ พัฒนาระบบสนับสนุนการส่งออกสินค้าประเภทอาหารและยาให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
๑๐.๕ เร่งรัดการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านอาหาร ยา บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ได้สินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพ ราคายุติธรรม
๑๑. นโยบายแรงงาน
รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนผู้ใช้แรงงาน ให้มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองเพื่อให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพได้สอดคล้องกับความต้องการและความสามารถของแต่ละบุคคล อันจะทำให้มีระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะดำเนินการดังนี้
๑๑.๑ สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการค่าจ้างในระบบไตรภาคีให้สามารถดูแลกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำได้อย่างเป็นธรรม
๑๑.๒ ส่งเสริมบทบาทของสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงาานแห่งชาติในการเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน
๑๑.๓ เร่งแก้ไขให้ผู้ใช้แรงงานบางประเภทที่ยังได้รับผลตอบแทนและสวัสดิการตามกฎหมายน้อยกว่าผู้ใช้แรงงานประเภทอื่นให้ได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกันและมีหลักประกันในอาชีพที่มั่นคงและปลอดภัย
๑๑.๔ การสนับสนุนการพัฒนาฝีมือ ทักษะและความรู้ของผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะแรงงานในชนบท ให้สามารถเลือกอาชีพหรือประกอบอาชีพส่วนตัวให้สอดคล้องกับความถนัดและความสามารถเพื่อจะได้ยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น
๑๑.๕ จัดให้มีระบบข้อมูลตลาดแรงงานในชนบทอย่างกว้างขวางและปรับปรุงกลไกของตลาดแรงงานในชนบทให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๑๑.๖ ดูแลผู้ใช้แรงงานไทยในต่างประเทศไม่ให้ถูกหลอกลวงในการหางานและในการทำงาน สร้างมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายในการไปทำงานต่างประเทศ ตลอดจนสอดส่องดูแลสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยของแรงงานไทยในต่างประเทศ
๑๑.๗ ดูแลแรงงานสตรี เด็กและแรงงานไร้ฝีมือให้ได้รับความเป็นธรรมและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างจริงจัง
๑๑.๘ ปรับปรุงระบบการประกันสังคมให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์โดยสะดวกและรวดเร็ว
๑๒. นโยบายด้านต่างประเทศ
รัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และสมกับฐานะปัจจุบันของประเทศเพื่อให้บรรลุผลประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชนชาวไทย โดยยึดถือหลักการของความเสมอภาคการเคารพในเอกราชอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของกันและกันและยึดมั่นในพันธกรณีที่มีอยู่กับต่างประเทศตามสนธิสัญญาและความตกลงต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีรวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและจะเพิ่มพูนการร่วมมือกับนานาประเทศและกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมและรักษาสันติภาพ เสถียรภาพความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศดังต่อไปนี้
๑๒.๑ ส่งเสริมมิตรภาพ ความสมานฉันท์ และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะด้วยการเสริมสร้างความเชื่อมโยงผูกพันทางเศรษฐกิจการค้าสังคม รวมทั้งการขยายเครือข่ายติดต่อและการคมนาคมในภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อสันติภาพเสถียรภาพที่มั่นคง และความรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาคโดยส่วนรวม
๑๒.๒ กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการรวมตัวทางเศรษฐกิจ
๑๒.๓ พัฒนาและปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งเสริมสร้างขยายความสัมพันธ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้โดยจะประสานการดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
๑๒.๔ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุยย์กับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพิ่มบทบาทของไทยในการช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านซึ่งกำลังอยู่ในระยะบูรณะฟื้นฟูประเทศ โดยการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการและสังคมอันจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน
๑๒.๕ เพิ่มพูนบทบาทของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศ ในกรอบของสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการดูแลรักษาสันติภาพ การปรับปรุงระบบการค้าเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา
๑๒.๖ ให้ความสำคัญในการคุ้มครอง ดูแลรักษาสิทธิและผลประโยชน์ที่เพิ่มพูนขึ้นของคนไทยในต่างประเทศ ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
๑๒.๗ ส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีงามของประเทศไทยด้วยการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้นานาประเทศเกิดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยรวมทั้งการใช้วัฒนธรรมสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นสื่อช่วยส่งเสริมความเป็นมิตรทั้งในระดับรัฐและประชาชน
๑๓. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดการพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศ โดยให้เอกชนมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยจะดำเนินการดังนี้
๑๓.๑ เร่งรัดพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ
๑๓.๒ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมตลอดจนส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
๑๓.๓ สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ไม่มีผลเสียต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมตลอดจนส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศ
๑๓.๔ ส่งเสริมให้มีการขยายความร่วมมือกับต่างประเทศในการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในฐานะผู้รับจากประเทศที่มีความเจริญสูงกว่าและในฐานะผู้ให้กับประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่า
๑๔. นโยบายเร่งด่วน
เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยแล้งและบรรเทาภัยดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้
๑๔.๑ เร่งรัดการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งโดยจัดหาน้ำไปแจกจ่ายแก่ราษฎรที่ขาดแคลนและจัดส่งเครื่องสูบน้ำไปช่วยเหลือ
๑๔.๒ สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาจากภัยแล้งด้วยตนเองโดยให้ความสนับสนุนในรูปของสินเชื่อการเกษตรที่มีดอกเบี้ยผ่อนปรน
๑๔.๓ เร่งรัดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลโดยเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งที่มีอยู่เฉพาะหน้าและในอนาคต
๑๔.๔ ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงในบริเวณที่สามารถดำเนินการได้โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อน และอ่างเก็บกักน้ำ ตลอดจนพื้นที่การเกษตรต่าง ๆ ที่มีสภาพเหมาะสม
๑๔.๕ เร่งรัดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยจัดทำโครงการขุดลอกคู คลอง หนอง บึงเพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำต่อไป
๑๔.๖ บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับจากภัยแล้งครั้งนี้โดยผ่อนผันการชำระหนี้และให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อฟื้นฟูอาชีพของตน
๑๔.๗ เร่งรัดให้มีการจ้างงานในชนบท โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัย เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นตามสมควร
ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงมาข้างต้นนี้ กระผมขอให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะมุ่งปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงมานี้อย่างเคร่งครัด และด้วยความก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติโดยจะดำเนินการในลักษณะที่มีความชัดเจน และเป็นธรรม กระผมเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือสนับสนุนจากท่านสมาชิกรัฐสภาผู้มีเกียรติรัฐบาลจะสามารถทำให้นโยบายดังกล่าวสัมฤทธิผลบังเกิดประโยชน์และความผาสุกต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้สืบไป
*รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๑/๒๕๓๕ (สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ หน้า ๔ – ๒๑