คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๗
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๗
นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔ – ๗ เมษายน ๒๕๓๕
แถลงนโยบาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๔
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ท่านประธานนิติบัญญัติแห่งชาติและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ
ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๓๔ นั้น บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาหารือกับสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว จึงขอนำเรียนให้ท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ทรงเกียรติได้ทราบ ดังต่อไปนี้
นโยบายการเมือง
๑. รัฐบาลจะเทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้เป็นที่เคารพสักการะอันสูงยิ่ง และรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและจะดำเนินทุกวิถีทางที่จะให้บังเกิดความสุขความเจริญแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า
๒.สนับสนุนสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับนโยบายข้างต้นและปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐธรรมนูญดังกล่าว
๓.ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
๔.จัดให้มีและควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม
นโยบายการบริหารราชการและปรับปรุงกฎหมาย
จะปรับปรุงระบบบริหารราชการและกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพและความคล่องตัวให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ และให้เกิดผลในทางป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยมีนโยบายดังนี้
๑. ดำเนินการปรับปรุงการบริหารราชการ ดังต่อไปนี้
๑.๑ วางระบบที่จะจำกัดจำนวนข้าราชการและลูกจ้าง พร้อมกับการเพิ่มรายได้และปรับปรุงสวัสดิการ และวางมาตรการให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจ
๑.๒ ปรับปรุงกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และวิธีปฏิบัติราชการให้เกิดความรวดเร็ว สามารถกระจายอำนาจและความรับผิดชอบลงสู่ระดับล่างได้และขจัดการซ้ำซ้อนปรับระบบการอนุญาต การอนุมัติหรือการดำเนินการอื่นของข้าราชการและส่วนราชการให้มีหลักเกณฑ์และระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน พร้อมทั้งเปิดเผยหลักเกณฑ์และระยะเวลาดังกล่าวให้ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขจัดช่องทางในการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
๑.๓ ส่งเสริมให้มีมาตรการที่ได้ผลในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการจะดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดโดยเด็ดขาด และลงโทษผู้ทุจริตอย่างเข้มงวดกวดขัน
๑.๔ ปรับปรุงโครงสร้างและขั้นตอนการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการวางแผนให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
๑.๕ ปรับปรุงกฎหมายระเบียบข้อบังคับให้มีการกระจายอำนาจการบริหารราชการสู่ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณและการบริการประชาชน โดยดำเนินการจัดสรรเงินงบประมาณให้แก่จังหวัดโดยตรง
๑.๖ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ และในการให้บริการประชาชน
๒. ปรับปรุงระบบกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคต โดยมีแนวทางดังนี้
๒.๑ เปลี่ยนระบบการควบคุมเป็นระบบการกำกับติดตามหรือส่งเสริม เว้นแต่กรณีจำเป็นที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
๒.๒ ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยหรือไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันหรือที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหรือการแข่งขันกันอย่างเสรี หรือที่สร้างขั้นตอนขึ้นโดยไม่จำเป็น
๒.๓ จัดให้มีกลไกในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและรวดเร็ว
๓. ปรับปรุงและจัดให้มีกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม โดยจะดำเนินการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพเด็กและสตรีและกฎหมายคุ้มครองคนพิการรวมทั้งกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพและสุขภาพของผู้สูงอายุ
นโยบายการป้องกันประเทศ
เพื่อให้การรักษาความมั่นคง เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และผลประโยชน์
ของชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดนโยบายการป้องกันประเทศ ดังนี้
๑. เสริมสร้างและพัฒนากองทัพให้มีความเข้มแข็งทันสมัย พร้อมรบและเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจตามความรับผิดชอบ โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์และฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ
๒. ส่งเสริมการเตรียมการตามระบบการผนึกกำลังป้องกันประเทศ โดยใช้กำลังทหารกำลังกึ่งทหาร กำลังข้าราชการ และกำลังประชาชน ร่วมกันต่อสู้ป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกรักษาความสงบภายในประเทศ รวมทั้งการคุ้มครองทรัพยากรของชาติ
๓. พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการพึ่งตนเองและสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยพัฒนา และการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ โดยร่วมมือกับส่วนราชการต่าง ๆภาคเอกชน และมิตรประเทศ
๔. ปรับปรุงและส่งเสริมการสวัสดิการของทหารและครอบครัวให้ดีขึ้นและส่งเสริมการพัฒนากำลังพลในด้านวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพเมื่อออกจากประจำการรวมทั้งสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและครอบครัวให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสมและมีเกียรติ
๕. สนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของกองทัพในการพัฒนาประเทศการปฏิบัติงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การช่วยเหลือประชาชนและการบรรเทาสาธารณภัย
นโยบายต่างประเทศ
เพื่อบรรลุผลประโยชน์สูงสุดของชาติโดยยึดถือและเคารพพันธกรณีที่มีอยู่กับต่างประเทศตามสนธิสัญญา และความตกลงต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีที่มีต่ออาเซียน ประเทศเพื่อนบ้าน และมิตรประเทศ รวมทั้งประเทศมหาอำนาจ จึงกำหนดนโยบายต่างประเทศ ดังนี้
๑. เร่งสร้างภาพพจน์ที่ถูกต้องของประเทศไทยพร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นแก่นานประเทศในความต่อเนื่องของนโยบาย
๒. เสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาคและความเข้าใจอันดีกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาค
๓. เพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคมและวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน
๔. พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการและวัฒนธรรมกับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน
๕. ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและแรงงานกับมิตรประเทศหรือกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย
๖. เพิ่มบทบาทของประเทศไทยในวงการเศรษฐกิจของโลก เพื่อสนับสนุนระบบการค้าเสรีและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
๗. คุ้มครอง ดูและสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
นโยบายเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีฐานที่มั่นคงและมีโอกาสจะขยายตัวสูงต่อไปในอนาคตอย่างไรก็ดีก็จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วยความรวดเร็วและรอบคอบโดยเฉพาะปัญหาการกระจายรายได้ความยากจนและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดนโยบายไว้ดังต่อไปนี้
๑. แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าซึ่งเป็นความเดือดร้อนหรือมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่และ
ปากท้องของราษฎรอย่างเร่งด่วน
๑.๑ เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรอันเนื่องมาจากฝนแล้งและราคาพืชผลเกษตรตกต่ำโดยการให้ความช่วยเหลือให้ทันต่อเวลา ด้วยการจัดสรรน้ำให้มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงการจัดน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อเกษตรกรรมตลอดจนเร่งรัดการป้องกันการระบาดของศัตรูพืชและจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็นให้เกษตรกร
๑.๒ เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองในด้านที่อยู่อาศัยโดยจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยในระดับที่ดีพอสมควรและใช้มาตรการทางด้านผังเมืองและภาษีอากร เพื่อให้การใช้ที่ดินในเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
๑.๓ เร่งผลักดันโครงการพื้นฐานที่ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์แต่ประสบปัญหาความล่าช้าให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างรวดเร็วและเร่งทบทวนโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้รอบคอบโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก
๑.๔ สร้างความมั่นใจให้กลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเกี่ยวกับโอกาสในการประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุน เพื่อเร่งการสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน
๑.๕ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตะวันออกกลางให้คืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว โดยเร่งส่งเสริมภาพพจน์ที่ดีของประเทศในตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ
๒. ปรับปรุงระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
๒.๑ ปรับบทบาทของภาครัฐจากการควบคุมมาเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนให้มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีที่มีการแข่งขันโดยยุติธรรม
๒.๒ ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมให้มีการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์และให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการของรัฐวิสาหกิจมากยิ่งขึ้น
๒.๓ ปรับปรุงอัตราภาษีและค่าธรรมเนียมทางราชการต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับสากลเพื่อลดภาระในการประกอบธุรกิจ อันจะช่วยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒.๔ ดำเนินการให้ระบบการเงินของประเทศเป็นระบบเสรีมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน
๒.๕ ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจและลดขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยราชการในการให้บริการประชาชนและภาคเอกชน
๒.๖ เสริมสร้างกลไกและขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐ ในการจัดระบบวิเคราะห์ติดตามควบคุม และตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
๒.๗ ปรับปรุงกลไกและมาตรการในการส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ตลอดจนดำเนินมาตรการที่จะลดต้นทุนการส่งออกโดยแก้ไขโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เอื้ออำนวยต่อการส่งออกมากยิ่งขึ้น
๒.๘ จัดระบบการดำเนินการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมทางเศรษฐกิจ
๒.๙ ยกเลิกการห้ามตั้งและขยายธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมที่มีประกาศควบคุมอยู่ยกเว้นธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประเทศหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
๓. แก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจและปัญหาที่เป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการจราจรแออัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย
๓.๑ จัดระบบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งจากปัญหาภัยธรรมชาติราคาผลิตผลตกต่ำและปัญหาเรื่องหนี้สิน โดยการจัดระบบงบประมาณเพื่อการนี้ให้เพียงพอให้มีองค์กรรับผิดชอบอย่างแน่ชัด มีแผนงานและมาตรการที่รัดกุมเพื่อให้มีผลถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง
๓.๒ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติในระดับท้องถิ่นโดยส่งเสริมบทบาทของเกษตรกรในการวางแผนการผลิต รวมทั้งให้มีการจัดตั้งสภาการเกษตรแห่งชาติ เพื่อให้เกษตรกรได้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายการผลิตให้เชื่อมโยงกับการตลาด
๓.๓ เร่งรัดการปฏิรูปที่ดินให้มีประสิทธิภาพเพื่อกระจายการถือครองและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่เกษตรกร
๓.๔ สนับสนุนให้มีการจัดหารปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ย พันธุ์พืช และเคมีเกษตรที่มีคุณภาพให้เพียงพอในราคาที่ยุติธรรมแก่เกษตรกร และส่งเสริมให้มีการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
๓.๕ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการบริโภค การส่งเสริมการเกษตร การอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวและปรับปรุงบริหารการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๓.๖ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐและประชาชนในท้องถิ่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมในชนบทเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ให้กว้างขวางออกไป
๓.๗ ปรับปรุงระบบโครงสร้างภาษีอากรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมปราศจากความซ้ำซ้อนและป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี
๓.๘ ให้มีการส่งเสริมการลงทุนเป็นการทั่วไป และมีการส่งเสริมเป็นพิเศษสำหรับกิจการที่มีความสำคัญต่อการค้าและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาคและการลงทุนที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนหรือแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดจนกิจการที่มีส่วนในการเพิ่มสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
๓.๙ จัดให้มีมาตรการและกลไกในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่อย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยจะใช้อำนาจรัฐทุกวิถีทางให้เกิดผลอย่างจริงจัง
๔. เพื่อวางรากฐานให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพจะดำเนินการดังนี้
๔.๑ ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมมากขึ้น โดยพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมและส่งเสริมให้สถาบันการเงินให้บริการได้มากประเภทขึ้น ตลอดจนเร่งรัดพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็นสถาบันที่ส่งเสริมการลงทุนและการระดมทุนของเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
๔.๒ รักษาวินัยทางการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง โดยควบคุมงบประมาณแผ่นดินการก่อหนี้ต่างประเทศ และปริมาณเงินในตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
๔.๓ ปรับปรุงระบบการจัดสรรและเบิกจ่ายของภาครัฐให้มีความคล่องตัวและมีความรัดกุมในการใช้จ่ายเพื่อให้ลดต้นทุนและเกิดประโยชน์สูงสุด
นโยบายสังคม
เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตโดยยึดหลัดของคุณธรรมและจริยธรรมและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความผาสุก ความสงบเรียบร้อยในสังคมจึงกำหนดนโยบายดังนี้
๑. เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้ลดลง โดยเฉพาะการปราบปรามผู้มีอิทธิพลผู้ค้าและใช้อาวุธสงคราม นายทุนตัดต้นไม้ทำลายป่า และกลุ่มอิทธิพลที่แสวงประโยชน์จากเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริต รวมทั้งปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
๒. เร่งรัดการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้ผลโดยเร็วที่สุด โดยใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ในการปราบปรามการผลิต การค้าและการบริโภคยาเสพติด ปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง รวมทั้งการร่วมมือกับสหประชาชาติและมิตรประเทศอย่างใกล้ชิดนอกจากนี้จะดำเนินการกวดขันการใช้ยากระตุ้นประสาทอย่างเข้มงวดและเร่งปราบปรามจับกุมผู้ผลิตและผู้ขายที่ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด
๓. เสริมสร้างระบบการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดเอกภาพและเกิดมีความร่วมมือในระหว่างส่วนราชการด้วยกัน เพื่อเป็นหลักประกันที่จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง
๔. สนับสนุนให้ประชาชนและกลุ่มอาสาสมัครได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และจัดให้มีการนำวิทยากรและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการรวบรวมข่าวสารข้อมูลด้านอาชญากรรมระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค
๕. สนับสนุนองค์กรสาธารณประโยชน์ให้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยปรับปรุงกฎระเบียบและภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง
๖. จัดให้มีระบบป้องกันอุบัติภัยและบรรเทาสาธารณภัยให้มีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
๗. เร่งรัดควบคุมป้องกันโรคติดต่อโดยเฉพาะโรคเอดส์ให้ได้ผล และร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรสาธารณประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักในภัยของโรคและเกิดจิตสำนึกว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหานี้
๘. ปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริการสาธารณสุขให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยดำเนินการดังนี้
๘.๑ ยกระดับขีดความสามารถของสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะในระดับตำบลและอำเภอ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ในเมือง โดยดำเนินการแก้ไขการขาดแคลนแพทย์ และพัฒนาประสิทธิภาพการส่งต่อผู้ป่วย
๘.๒ เร่งสร้างหลักประกันสำหรับบริการสุขภาพแก่ประชาชน ให้การสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล และผู้สูงอายุ
๙. ปรับปรุงระบบการศึกษาให้สามารถพัฒนาศักยภาพมนุษย์ รวมทั้งด้านจริยธรรมและคุณธรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ โดยมีแนวทางดังนี้
๙.๑ เร่งขยายโอกาสและบริการทางการศึกษาในและนอกระบบให้กว้างขวางและทั่วถึงเพื่อยกระดับการศึกษาพื้นฐานให้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นอย่างต่ำรวมทั้งขยายการศึกษาปฐมวัยในชนบทเพิ่มขึ้น
๙.๒ พัฒนาระบบบริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้มีความเป็นอิสระคล่องตัว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ตลอดจนให้มีการร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับภาคธุรกิจเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
๙.๓ วางมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ที่มีคุณภาพโดยเฉพาะในสาขาวิชาที่มีความต้องการสูง
๙.๔ เร่งรัดการศึกษาและการฝึกอบรมด้านอาชีพทั้งในและนอกระบบโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
๙.๕ พัฒนาหน่วยงานทางการศึกษาในส่วนกลางส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้มีความคล่องตัวในการบริหารการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม
๑๐ เร่งปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้มีความชัดเจน เกิดความเป็นธรรมมีความคล่องตัวในการปฏิบัติ และมีผลเป็นการสนับสนุนด้านสวัสดิการแก่พนักงานลูกจ้าง
๑๑. เร่งรัดให้มีการประกาศใช้ปฏิญญาเพื่อเด็กและส่งเสริมสถาบันครอบครัว โดยเน้นการเตรียมความพร้อมของคู่สมรสก่อนมีบุตร และความรับผิดชอบในครอบครัวของบิดามารดา
นโยบายการยุติธรรม