คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๕
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๕
พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ
เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๑
แถลงนโยบาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๑
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ
ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๑และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๑ กระผมและคณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินขึ้นโดยคำนึงถึงความสุขของประชาชนการพัฒนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมตลอดจนความมั่นคงของชาติ และสถานะของประเทศไทย
ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และในโลกจึงขอแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีให้รัฐสภาทราบ ดังต่อไปนี้
นโยบายการเมือง
รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้บังเกิดความสุขความเจริญแก่ประชาชน จึงกำหนดนโยบายไว้ ดังนี้
๑. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบทบาทพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและกระตุ้นให้ประชาชนมีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงรวมทั้งมีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนในฐานะประชาชนและให้มีส่วนร่วมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
๒. ส่งเสริมและปรับปรุงการกระจายอำนาจการปกครองสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
นโยบายการบริหารระบบราชการ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดินให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ดีที่สุด รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายในการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
๑. ปรับปรุงสวัสดิการของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ขจัดข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไร้สมรรถภาพ
๒. ปรับปรุงระบบราชการให้เกิดความรวดเร็วในการให้บริการประชาชนทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
๓. ปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทนให้แก่ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ในการปกครองท้องถิ่นให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ
นโยบายเศรษฐกิจ
รัฐบาลนี้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้บังเกิดความผาสุกและความอยู่ดีกินดีของประชาชน และให้ระบบเศรษฐกิจมีความคล่องตัวและสามารถปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกเพื่อที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรงให้เอกชนสามารถแข่งขันตลาดโลกและพัฒนาตลาดภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ตลอดจนมุ่งเน้นส่งเสริมการกระจายรายได้และมุ่งรักษาเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไว้ ดังนี้
๑. เศรษฐกิจทั่วไป
๑.๑ สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามระบบเศรษฐกิจเสรี โดยภาครัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนและให้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน
๑.๒ ดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ตลอดทั้งภาคเอกชนมีบทบาทที่เกื้อกูลและส่งเสริมการแสวงหา พัฒนา และขยายตลาดการค้าและการท่องเที่ยวตลอดจนการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการสร้างงานและถ่ายถอดเทคโนโลยี
๑.๓ ใช้กลยุทธการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลทั้งภาคเกษตรกรรมอุตสาหกรรมและบริการ
๑.๔ มุ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีโดยยังคงมีภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กันไป
๑.๕ มุ่งกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ให้ทั่วถึงรวมทั้งการมุ่งพัฒนาชนบทอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทและปัญหาการกระจายรายได้อย่างจริงจังตลอดจนมุ่งสร้างงานทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรมและบริการ
๑.๖ ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเพื่อส่งเสริมการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพมากขึ้นตลอดจนลดอุปสรรคต่อการประกอบการทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
๑.๗ ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้รองรับกับเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
๑.๘ ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
๒. การเงินการคลัง
๒.๑ ปรับปรุงโครงสร้างและระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นธรรมและเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
๒.๒ กำหนดมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับและสนับสนุนการพัฒนาของภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอันจะเป็นการเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปให้แข็งแกร่งขึ้น
๒.๓ มุ่งรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารด้านรายจ่ายของรัฐและควบคุมการก่อหนี้ให้อยู่ในขอบเขตที่สอดคล้องกับขีดความสามารถของประเทศรวมทั้งการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
๒.๔ พัฒนาและเสริมสร้างระบบการเงินเพื่อระดมการออกในประเทศให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาตลาดการเงินและตลาดทุนให้สามารถเกื้อกูลการลงทุนตลอดจนรักษาความมั่นคงของสถาบันการเงินของประเทศ
๒.๕ มุ่งสนับสนุนการบริหารการเงินและการคลังส่วนท้องถิ่นให้มีอิสระและประสิทธิภาพสูงขึ้น
๓. อุตสาหกรรม
๓.๑ ส่งเสริมการกระจายอุตสาหกรรมออกสู่ตลาดจังหวัด โดยจัดใหมีสิ่งอำนวยความสะดวกความปลอดภัย และสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอตลอดจนให้การสนับสนุนด้วยมาตรการด้านการเงินการคลังที่เหมาะสม
๓.๒ ให้ความสำคัญลำดับสูงแก่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ และอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีโดยใช้ความแน่นอนด้านการตลาดเป็นตัวนำ และมุ่งสู่พื้นที่ที่เหมาะสม
๓.๓ มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็กและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบอุตสาหกรรมของประเทศ
๔. เกษตรกรรม
๔.๑ เพิ่มรายได้ของเกษตรกรด้วยการส่งเสริมและปรับปรุงระบบการผลิตให้สอดคล้องกับการตลาดทั้งภายในและนอกประเทศ ตลอดจนแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรตกต่ำอย่างจริงจังและมีผลอย่างถาวร
๔.๒ มุ่งพัฒนาภาคเกษตรกรรมแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้นโดยสนับสนุนให้มีบริการด้านเทคโนโลยี สินเชื่อการเกษตร ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ และข้อมูลการตลาดเพื่อเพิ่มผลผลิตปรับปรุงคุณภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในระดับไร่นา
๔.๓ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกินโดยวิธีการปฏิรูปที่ดิน และการออกเอกสารสิทธิทำกิน
๔.๔ จัดให้มีองค์กรร่วมของภาครัฐบาล เอกชน และเกษตรกรเพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพัฒนาการเกษตรและตัดสินใจในการแก้ป้ญหาร่วมกัน
๕. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๕.๑ ปรับปรุงระบบการบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อันประกอบด้วยที่ดินแหล่งน้ำ ป่าไม้ ประมง แร่ธาตุ และพลังงานในท้องถิ่นทั่วประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
๕.๒ สนับสนุนให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีระบบและต่อเนื่อง
๕.๓ เร่งรัดการผลิตบุคลากรและการวิจัยในด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์
๖. บริการ
๖.๑ พัฒนาแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการสร้างงานในประเทศและนำเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้น โดยคงไว้ซึ่งคุณค่าของวัฒนธรรมไทย
๖.๒ เพิ่มขีดความสามารถการบริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมลงทุนในการดำเนินงานเพิ่มเร่งตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นให้ได้อย่างเพียงพอ
๖.๓ ปรับปรุงการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถขยายบริการได้กว้างขวาง พร้อมที่จะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นจะพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เข้มแข็งและเพียงพอที่จะสนองตอบต่อความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และปูพื้นฐานสำหรับการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีในระยะยาว จึงกำหนดนโยบายไว้ ดังนี้
๑. ส่งเสริมและผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรและการพลังงานตลอดจนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการป้องกันประเทศ
๒. เสริมสร้างองค์กรการบริหารงานวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยให้เป็นแหล่งระดมสรรพกำลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งจากภาคเอกชน เพื่อการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการตลาด
๓. พัฒนาวิธีการและเครื่องมือในการบริหารระบบสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคเอกชนในการแข่งขันกับต่างประเทศ
๔. มุ่งพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องให้เพียงพอและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
นโยบายการป้องกันประเทศ
เพื่อให้การรักษาความมั่นคงของประเทศและการธำรงไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตยบูรณภาพแห่งดินแดน และการรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรัฐบาลจึงกำหนดนโยบายดังนี้
๑. จะปรับปรุงและพัฒนากองทัพประจำการให้มีขนาดที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพความพร้อมรบและความทันสมัยเพื่อให้มีขีดความสามารถในการป้องปรามและป้องกันประเทศได้ทุกระดับภัยคุกคามโดยคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ
๒. จะพัฒนาระบบกำลังสำรองให้มีความพร้อมและสามารถขยายกำลังในยามสงครามได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
๓. จะส่งเสริมและดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดความพร้อมด้านทรัพยากรที่จะสนับสนุนการระดมสรรพกำลังของชาติเพื่อการป้องกันประเทศ
๔. จะสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการทหารรวมทั้งการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุดโดยร่วมมือกับส่วนราชการพลเรือน ภาคเอกชน และมิตรประเทศ
๕. จะผนึกกำลังป้องกันประเทศ ทั้งกำลังทหาร กำลังกึ่งทหารตำรวจและราษฎรอาสาสมัครในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนข้าราชการและประชาชนเข้าด้วยกันเพื่อป้องกันภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ
๖. จะสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของกองทัพในการพัฒนาประเทศ การช่วยเหลือประชาชนและการบรรเทาสาธารณภัยของชาติ
๗. จะบำรุงขวัญและกำลังใจของทหารโดยดำเนินการด้านสวัสดิการและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นรวมทั้งจะส่งเสริมการพัฒนากำลังพลที่เข้ารับราชการทหารให้มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปประกอบสัมมาชีพได้ดียิ่งขึ้นเมื่อพ้นจากประจำการ
๘. จะสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและครอบครัว โดยเฉพาะทหารผ่านศึกที่ทุพพลภาพและครอบครัวของทหารที่เสียชีวิตจากการป้องกันประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสม
นโยบายต่างประเทศ
รัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระโดยยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตยของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดนตลอดจนพิทักษ์และสร้างเสริมความมั่นคงของรัฐและผลประโยชน์ของชาติทั้งจะใช้การต่างประเทศในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศกับให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินนโยบายมีประสิทธิภาพและเอกภาพมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้จะร่วมมือกับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่ยังประโยชน์ให้แก่ความมั่นคงของรัฐและการพัฒนาประเทศ โดยจะดำเนินนโยบายหลัก ดังต่อไปนี้
๑. เคารพและรักษาสิทธิตามความตกลงที่ทำไว้กับต่างประเทศโดยยึดถือหลักแห่งความเสมอภาคหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ และหลักความเป็นธรรมทั้งจะเคารพและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
๒. ส่งเสริมสันติภาพและการดำรงอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างประเทศทั้งหลายบนหลักเคารพเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ความเสมอภาค ความยุติธรรมการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของกันและกัน และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยสันติวิธี
๓. ปรับปรุงความสัมพันธ์ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยเฉพาะการขยายตลาดการค้าระหว่างกันและเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและไมตรีจิตกับประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และสมานฉันท์ในลักษณะที่ตอบสนองผลประโยชน์ร่วมกันตลอดจนจะพยายามและส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคและปัญหาระหว่างประเทศโดยวิธีการทางการเมืองและการทูต
๔. เสริมสร้างและกระชับไมตรีความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชีตะวันออกเฉียงใต้ให้แน่นแฟ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้นตลอดจนสนับสนุนมาตรการที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลางเพื่อให้บรรลุถึงซึ่งสันติภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยแท้
๕. ดำเนินและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างสมดุลสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติ ในลักษณะที่จะเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศ และนำไปสู่ความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพและความก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค
๖. ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการเพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ตลอดจนแหล่งเงินทุน วัตถุดิบ เทคโนโลยีและวิชาการและเพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศซึ่งจะส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับ คุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น
๗. ดำเนินงานด้านสารนิเทศเพื่อให้ต่างประเทศและประชาชนชาวไทยทั่วไปมีความเข้าใจในนโยบายต่างประเทศของไทย และการดำเนินการในความสัมพันธ์กับต่างประเทศขณะเดียวกันจะได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์กับประเทศไทยและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศเพื่อให้เป็นที่รู้จักและเกิดความเข้าใจที่ดีต่อประเทศไทยและคนไทย
๘. คุ้มครองและดูแลทุกข์สุข สิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยและรักษาผลประโยชน์ของชาติไทยในส่วนรวมให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากนานาประเทศ
นโยบายสังคม
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสร้างความยุติธรรมทางสังคม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในด้านโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาสุขภาพอนามัยและการให้หลักประกันความมั่นคงในชีวิตตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีศีลธรรมและดำรงไว้ซึ่งศิลปะ วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติโดยกำหนดนโยบาย ดังนี้
๑. ความสงบเรียบร้อยในสังคม
๑.๑ รักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติดโดยเด็ดขาด
๑.๒ เสนอและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นอยู่ของสังคมในปัจจุบันและให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
๑.๓ พัฒนาและปรับปรุงระบบขบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วตลอดจนกระจายระบบงานอำนวยความยุติธรรมออกไปยังประชาชนให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
๑.๔ เร่งรัดปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบและองค์การที่เกี่ยวกับแรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๑.๕ ดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเร็วอย่างถาวร และเพิ่มการให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรไทยตามบริเวณชายแดนซึ่งถูกกระทบกระเทือนจากปัญหาผู้อพยพ โดยร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
๒. การศึกษา
๒.๑ กระจายโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนอย่างทั่วถึงโดยเน้นทั้งการปรับปรุงการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและพัฒนาคุณภาพและความเสมอภาคของระบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมจริยธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การศึกษา ตลอดชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม พลานามัยตลอดจนการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
๒.๒ ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น
๒.๓ เร่งรัดการส่งเสริมการอนุบาลชนบทการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาโดยจะจัดควบคู่ไปกับการขยายการศึกษาภาคบังคับและการเตรียมพื้นฐานอาชีพให้กับนักเรียนทุกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ตลอดจนส่งเสริมศีลธรรมจริยธรรม และวินัยของนักเรียนและคนในชาติเป็นพิเศษ
๒.๔ สร้างทัศนคติด้านความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
๒.๕ สนับสนุนการวิจัยค้นคว้าเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการเพื่อนำผลมาใช้ในการพัฒนาประเทศและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน
๓. สาธารณสุข
๓.๑ เร่งรัดการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานทั้งในท้องถิ่นชนบทและชุมชนแออัดในเขตเมือง
๓.๒ ปรับปรุงคุณภาพบริการสาธารณสุขของรัฐทุกประเภทและทุกระดับโดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานสาธารณสุข ระบบข้อมูลองค์กรหรือกลไกการประสานนโยบายและการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการให้บริการทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน ทั้งนี้ จะคำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพและประหยัดเป็นหลัก
๓.๓ ปรับปรุงระบบการประกันสุขภาพที่มีอยู่ให้เหมาะสมและให้การสงเคราะห์แก่ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล
๓.๔ ส่งเสริมให้หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมที่ช่วยยกระดับสุขภาพอนามัยของประชาชนให้สูงขึ้น สร้างพฤติกรรมอนามัยที่ดี ปรับปรุงการสุขศึกษาและแก้ไขปัญหาทันตสาธารณสุข รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองผู้บริโภค
๓.๕ ฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพรให้เป็นประโยชน์แพร่หลายตามความต้องการของท้องถิ่นและฟื้นฟูอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้มั่นคงพึ่งตนเองได้โดยเน้นความปลอดภัยและประสิทธิภาพการบำบัดโรคในราคาที่เหมาะสมและกระจายไปสู่ผู้ใช้อย่างทั่วถึงตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ยา และอื่น ๆ เพื่อการส่งออก
๔. บริการสังคม
๔.๑ ส่งเสริมการกีฬาอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและพัฒนามาตรฐานการกีฬา เพื่อให้มีขีดความสามารถในการเข้าแข่งขันกีฬากับนานาชาติได้ดียิ่งขึ้น
๔.๒ เร่งรัดช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยในเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งที่ดำเนินการโดยรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในภูมิภาค
๔.๓ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนแออัดในเมืองอย่างเป็นระบบ
๔.๔ ส่งเสริมและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการพัฒนาสตรี เด็ก และเยาวชน รวมทั้งสวัสดิการคนชรา และคนทุพพลภาพ
๔.๕ ส่งเสริมสถาบันศาสนาและองค์การของเอกชนให้มีบทบาทและส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมมากขึ้นท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลายในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงมาข้างต้นนี้กระผมขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินการโดยยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้งและปฏิบัติตามนโยบายโดยเคร่งครัดเพื่อนำความก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติ และนำความสงบเรียบร้อยและความสุข ความเจริญมาสู่ประชาชนสมดังเป้าหมายที่ได้แถลงไว้แล้วทุกประการ ขอบพระคุณครับ
*รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๑/๒๕๓๑ (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ หน้า ๓ – ๑๖