คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๔


คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๔
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ – ๔ สิงหาคม ๒๕๓๑
แถลงนโยบาย เมื่อวันพุธที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๙

คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*

ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ

               ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๙ นั้น กระผมและคณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินขึ้นโดยคำนึงถึงความสุขของประชาชน การพัฒนาการปกครองตาม
ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของชาติในด้านต่าง ๆจึงขอแถลงเพื่อให้รัฐสภาทราบนโยบาย ดังต่อไปนี้

นโยบายการเมืองและการบริหาร

                รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างเคร่งครัดและจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะบังเกิดความสุข ความเจริญแก่ประชาชนในทุกด้าน โดยกำหนดนโยบายดังนี้

๑. จะรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม เพื่อให้บังเกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้ลดลงและขจัดการมีและการใช้อาวุธสงครามที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเด็ดขาดพร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้สามารถรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม ทั้งจะส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนให้มีบทบาทและส่วนร่วมในการรักษาความสงบเรียบร้อยอีกทางหนึ่งด้วย
๒. จะปรับปรุงสวัสดิการ และความเป็นอยู่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐให้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซื่อสัตย์ สุจริตมีคุณธรรมและบังเกิดผลดีต่อประชาชนโดยส่วนรวมในขณะเดียวกันจะขจัดข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไร้สมรรถภาพให้พ้นจากวงงานของรัฐและจะเสริมสร้างระบบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการและระบบการตรวจเงินแผ่นดินให้มีอิสระและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
๓. จะปฏิรูประบบราชการให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการบริการประชาชนโดยการปรับปรุงส่วนราชการให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมขจัดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงาน กระจายอำนาจการบริหารราชการ ไปส่วนภูมิภาคและเสริมสร้างความเป็นอิสระของการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
๔. จะส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของพรรคการเมือง และสถาบันทางการเมืองอื่นให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและส่งเสริมให้ประชาชนในทุกสาขาอาชีพได้เข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
๕. จะใช้แนวทางการเมืองนำการทหารในการต่อสู้เพื่อเอาชนะลัทธิการปกครองที่เป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นโยบายการป้องกันประเทศ

                เพื่อให้การรักษาความมั่นคงของประเทศ และการธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถพึ่งตนเองได้ รัฐบาลจึงกำหนดนโยบาย ดังนี้

๑. จะปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพของกองทัพให้มีขีดความสามารถอย่างเต็มที่โดยให้สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ของประเทศ
๒. จะผนึกกำลังป้องกันประเทศทั้งกำลังทหาร กึ่งทหาร ตำรวจ และราษฎรอาสาสมัครในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนข้าราชการ และประชาชนเข้าด้วยกัน เพื่อป้องกันภัยคุกคามทั้งภายใน และภายนอกประเทศ
๓. จะปรับปรุง และพัฒนาหลักนิยมในการรบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกและศึกษาแก่กำลังพลในการป้องกันประเทศให้เข้มแข็ง ทันสมัย ให้สามารถเผชิญกับภัยคุกคามทุกรูปแบบทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งจะพัฒนากำลังพลที่เข้ารับราชการทหารให้มีความรู้ทางวิชาชีพสามารถนำไปประกอบสัมมาชีพเมื่อพ้นจากประจำการได้ด้วย
๔. จะส่งเสริมการผลิต การวิจัย และพัฒนามาตรฐานอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นภายในประเทศ เพื่อให้สามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุด
๕. จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดความพร้อมด้านทรัพยากร ที่จะสนับสนุนการระดมสรรพกำลังของชาติ เพื่อการป้องกันประเทศ
๖. จะเพิ่มบทบาทของทหารในการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชนและสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัยของชาติ
๗. จะบำรุงรักษาขวัญและกำลังใจของทหารให้ดีอยู่เสมอโดยการปรับปรุงส่งเสริมด้านสวัสดิการรวมทั้งให้หลักประกันในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้ด้วยความเหมาะสมสำหรับทหารผ่านศึกทุพพลภาพและครอบครัวของทหารผู้เสียชีวิตจะได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ

นโยบายต่างประเทศ

                รัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระ โดยยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เพื่อให้บรรลุผลในการธำรงไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตยของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดนในการพิทักษ์และส่งเสริมความมั่นคงของรัฐ และผลประโยชน์ของชาติโดยจะมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งจะส่งเสริมการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนเพื่อประสิทธิภาพและเอกภาพในการดำเนินนโยบาย นอกจากนี้จะร่วมมือกับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดแก่ความมั่นคงของรัฐและการพัฒนาประเทศโดยกำหนดนโยบายดังนี้

๑. จะใช้ความพยายามต่อไปเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศในลักษณะที่ตอบสนองผลประโยชน์ร่วมกัน โดยยึดถือหลักความเสมอภาคและความยุติธรรม จะมุ่งมั่นให้มีการแก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยทางการเมืองและการทูตแบบสันติ
๒. จะส่งเสริมสันติภาพและการดำรงอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างประเทศทั้งหลายบนหลักการของการเคารพเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ความเสมอภาค การไม่แทรกแซงในกิจการภายในของกันและกัน และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยสันติวิธี
๓. จะดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศและการทูตในวิถีทางเพื่อให้บรรลุถึงซึ่งสันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ
๔. จะเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ จะกระชับสัมพันธไมตรีกับบรรดาประเทศภาคีอาเซียนทั้งมวลให้แน่นแฟ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งจะสนับสนุนมาตรการที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตสันติภาพเสรีภาพและความเป็นกลาง
๕. จะดำเนินการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจในลักษณะที่จะเกื้อกูลและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ
๖. จะเคารพ และส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะเคารพและรักษาสิทธิตามความตกลงที่ทำไว้กับต่างประเทศโดยยึดถือหลักแห่งความเสมอภาค หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติและความเป็นธรรม
๗. จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดี และขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้ากับทุกประเทศทั้งจะสนับสนุนให้มีการค้าต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน
๘. จะดำเนินการให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่และบทบาทในการแสวงหา พัฒนา และขยายตลาดการค้า แรงงานไทยและการท่องเที่ยวรวมทั้งชักชวนให้มีการนำทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
๙. จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อประเทศและคนไทยในลักษณะที่ถูกต้อง รักษาและส่งเสริมเกียรติภูมิของชาติทั้งจะดำเนินการให้ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปมีความเข้าใจ และสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ
๑๐. จะร่วมมือและช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจ การค้าและวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทย
๑๑. จะคุ้มครองคนไทย ประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศและประโยชน์ของชาติโดยส่วนรวมให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากนานาประเทศ

นโยบายเศรษฐกิจ

                   รัฐบาลนี้ถือว่านโยบายเศรษฐกิจเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ ในการนี้รัฐบาลจะเร่งรัดปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการผลิต การตลาด การเงิน การคลัง และการกระจายรายได้ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงานและปัญหาหนี้สินของประเทศ รัฐบาลกำหนดนโยบายไว้ดังนี้

๑. จะสนับสนุนและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรี โดยให้กลไกการตลาดได้ทำงานอย่างเต็มที่ และให้ภาคเอกชนมีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเปลี่ยนบทบาทของรัฐในฐานะผู้กำกับ และควบคุม ส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการส่งออก ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นอันจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนรวม และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
๒. จะส่งเสริมและสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจที่มีผลต่อการสร้างงาน โดยใช้แรงงานและวัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก รวมทั้งให้ภาคเอกชนของไทยมีบทบาทสูงขึ้นในการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่
๓. ในด้านการเกษตร รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรตกต่ำอย่างจริงจังและให้มีอย่างถาวร โดยดำเนินการดังนี้

๓.๑ ปรับปรุงระบบการผลิตให้มีลักษณะเป็นการผลิตเพื่อขาย โดยส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในด้านปริมาณและประเภทของผลิตผลทางการเกษตร
๓.๒ ลดต้นทุนการผลิต โดยส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและจัดหาปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะด้านสินเชื่อเพื่อการเกษตรให้เพียงพอในราคาและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
๓.๓ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมการเกษตรขึ้นอย่างกว้างขวางเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
๓.๔ เร่งรัดการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกินและการจัดรูปที่ดินเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิต
๓.๕ ขยายตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และเร่งรัดการส่งออกให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการผลิต
๓.๖  ดำเนินการให้องค์กรที่รับผิดชอบในการวางแผน กำกับ ดูแล และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเกษตรกรหรือองค์กรของเกษตรกรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

๔. จะปรับปรุงการบริหารและการจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และประมงให้มีการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์
๕. จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชนบทต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยจะขยายงานทั้งในแง่พื้นที่และการจัดกิจกรรมให้มากขึ้นอีก พร้อมทั้งปรับปรุงระบบราชการและทัศนคติของข้าราชการให้สอดคล้องกับการพัฒนาชนบทในแนวใหม่ที่มุ่งหมายให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ในที่สุด ตลอดจนเสริมสร้างองค์กรของประชาชนในชนบทให้เข้มแข็ง และมีบทบาทในการพัฒนามากยิ่งขึ้น
๖. จะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากทรัพยากรภายในประเทศเป็นหลักเพื่อก่อให้เกิดการสร้างงานอย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อแปรสภาพวัตถุดิบเหล่านั้นให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้นในตลาด และเร่งรัดการบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมทั้งให้การสนับสนุนในด้านสินเชื่อเพื่อให้การลงทุนอุตสาหกรรมสามารถกระจายออกไปได้ในเขตภูมิภาคอันจะเป็นแหล่งรองรับแรงงานและผลิตผลทางการเกษตร
๗. จะแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยลดภาระด้านการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการ สนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปสินแร่เพื่อให้มีราคาสูงขึ้นก่อนการส่งออก นอกจากนั้นจะดำเนินการต่อไปในด้านการสำรวจ และผลิตพลังงานภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า ในขณะเดียวกันจะส่งเสริมการสำรวจและเร่งรัดการพัฒนาสินแร่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง แต่ยังไม่เคยได้นำมาใช้ เพื่อให้เกิดการกระจายอุตสาหกรรมออกไปสู่ชนบทได้อีกทางหนึ่ง
๘. จะปรับปรุงนโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุน โดยการเร่งรัดการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต เครื่องจักรอุปกรณ์ซึ่งเป็นฐานรองรับและอุตสาหกรรมซึ่งใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า ซึ่งเป็นตัวนำในการพัฒนาอุตสาหกรรม
๙. จะเพิ่มขีดความสามารถ และยกระดับการบริการด้านการขนส่ง และการสื่อสารโทรคมนาคมในทุกด้านให้เกิดความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านการพาณิชย์ การท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่เฉพาะจะบูรณะปรับปรุงข่ายการขนส่งทางบกที่มีอยู่แล้ว และเชื่อมโยงโครงข่ายที่ยังขาดตอนให้ต่อเนื่องกัน ปรับปรุงให้กิจการรถไฟมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเชื่อมโยงกับการขนส่งอื่น ๆ โดยเฉพาะทางน้ำ อีกทั้งจะให้มีการใช้บริการเรือไทยให้มากขึ้น จะพัฒนาการขนส่งทางอากาศโดยมุ่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคนี้ จะพัฒนาระบบโทรคมนาคมโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการลงทุน หรือร่วมดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ได้อย่างพอเพียงอีกด้วย
๑๐. จะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการสร้างงานภายในประเทศ และนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศมากยิ่งขึ้น โดยการจัดให้มีแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการรักษาความปลอดภัย รวมตลอดทั้งเพิ่มการลงทุนทางด้านการตลาดและการจัดให้มีกฎหมายจัดระเบียบการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ อนุรักษ์โบราณสถานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ปรับปรุงระบบศุลกากร และระบบการตรวจคนเข้าเมืองให้มีประสิทธิภาพและเกิดความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
๑๑. จะปรับปรุงระบบการบริหารการคลังของรัฐ โดยปรับโครงสร้างภาษีอากรให้เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านการส่งออก การผลิตและการว่าจ้างแรงงาน และจะมุ่งปรับปรุงการบริหารการจัดเก็บให้รวดเร็วรัดกุมแน่นอนและเป็นธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดเก็บย้อนหลัง ส่วนในด้านรายจ่ายจะบริหารรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพคุ้มค่าทั้งในภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจและจะจัดสรรรายจ่าย โดยเฉพาะงบลงทุนและงบพัฒนาตามสาขาเศรษฐกิจที่จะช่วยเร่งฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง อีกทั้งจะบริหารลดภาระหนี้ของประเทศ โดยปรับปรุงระบบและวิธีการให้ทันสมัย และควบคุมการก่อหนี้ให้อยู่ในขอบเขตสอดคล้องกับขีดความสามารถของประเทศ
๑๒. จะพัฒนาและเสริมสร้างระบบการเงิน เพื่อส่งเสริมการระดมเงินออกภายในประเทศให้กว้างขวาง และเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาตลาดการเงิน โดยเฉพาะโครงสร้างดอกเบี้ย และกลไกเครื่องมือการเงินให้มีความคล่องตัว เกื้อกูลการลงทุนและการขยายงาน และพัฒนาตลาดทุนภายในอย่างมีขั้นตอน อีกทั้งจะพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ให้มั่นคงและจะปราบปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
๑๓. จะดำเนินการปรับปรุงการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพเพื่อสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และเป็นแหล่งทำรายได้ให้แก่รัฐ และในกรณีเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเพื่อให้สามารถขยายบริการให้กว้างขวางและรวดเร็วหรือลดค่าบริการลงได้อย่างจริงจัง อันจะทำให้ต้นทุนการผลิตและบริการลดลง สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้รัฐวิสาหกิจใดที่หมดความจำเป็นที่รัฐจะต้องดำเนินการต่อไป จะได้ยุบเลิกหรือให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือรับช่วงไปดำเนินการ

นโยบายทางสังคม

                รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความยุติธรรมทางสังคม ยกระดับชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพสูงขึ้นทั้งทางด้านการศึกษา การพัฒนาสุขภาพอนามัยและการให้หลักประกันความมั่นคงในชีวิตของประชาชน พัฒนาและส่งเสริมสตรีให้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศยิ่งขึ้น พัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย ส่งเสริมให้ประชาชนมีศีลธรรม และดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของชาติโดยกำหนดนโยบายดังนี้

 ๑. ความยุติธรรมทางสังคม

๑.๑ จะรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
๑.๒ จะพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงาน การจัดองค์การ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนอาคาร สถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และวิทยาการสมัยใหม่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม
๑.๓ จะพัฒนางานคุมประพฤติผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกล่าวหา เพื่อปกป้องคุ้มครองสังคมจากอาชญากรรม และเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความผิดไม่ร้ายแรง ให้มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมได้ โดยไม่ต้องถูกลงโทษ จำคุก ทั้งนี้จะส่งเสริมให้สังคมและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมสอดส่อง และแก้ไขพฤติการณ์ของผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาด้วย
๑.๔ จะขจัดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างประชาชนจะปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันและเป็นธรรมยิ่งขึ้นเพื่อให้กฎหมายเป็นกลไกในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่บุคคล

๒. การศึกษา

๒.๑ จะจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกเพศทุกวัยโดยเน้นความเสมอภาคและการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนและบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ยากจนห่างไกล ชุมชนแออัด และบุคคลพิการ และจะส่งเสริมให้สถาบันศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในการอบรมสั่งสอนคุณธรรมให้มากขึ้น
๒.๒ จะจัดการศึกษาในระดับต่าง ๆ ดังนี้ ระดับก่อนประถมศึกษา จะขยายการศึกษาระดับอนุบาลในชนบท ระดับมัธยมศึกษา จะสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาให้มากขึ้น ระดับอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษา จะให้ความสำคัญในการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ และตลาดงาน รวมทั้งสอดคล้องกับทรัพยากรและสภาพท้องถิ่น สำหรับการฝึกหัดครู จะผลิตครูที่มีคุณภาพและคุณธรรม
๒.๓ จะส่งเสริมการค้นคว้าและการวิจัยที่สามารถนำผลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จะพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีคุณภาพที่ดี และจำนวนที่เหมาะสมเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้น
๒.๔ จะปรับปรุงโครงสร้างระบบการบริหารและการจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภทให้มีเอกภาพ ประสานสัมพันธ์กันทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ จะสนับสนุนให้สถานศึกษาและหน่วยงานใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด จะกระจายอำนาจและมอบอำนาจการจัดการศึกษาให้สถานศึกษา เพื่อสามารถจัดการศึกษาสนองตอบความต้องการของท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษามากยิ่งขึ้น
๒.๕ จะส่งเสริมให้สถาบันและหน่วยงานทางการศึกษาเป็นศูนย์บริการด้านการศึกษา วิชาชีพ ศิลป วัฒนธรรม กีฬา พลานามัย นันทนาการ และข่าวสารเพื่อให้บริการแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน
๒.๖ จะส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยรัฐจะสนับสนุนให้สถานศึกษาเอกชนปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นและจะสนับสนุนให้สถาบันทางการเงินให้ความช่วยเหลือแก่สถานศึกษาเอกชน
๒.๗ จะส่งเสริมให้ผู้สอนและข้าราชการในทุกระดับการศึกษา และทุกประเภทได้รับการยกย่องเชิดชู เพื่อให้มีความก้าวหน้า ขวัญ กำลังใจ และความมั่นคงในอาชีพ
๒.๘ จะจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนผู้ยากไร้ในชนบทและชุมชนแออัด

๓. การพัฒนาสุขภาพอนามัย

๓.๑ จะดำเนินการให้ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ได้รับบริการสาธารณสุขมูลฐาน อันได้แก่การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ณ ถิ่นที่อยู่ของตน รวมทั้งผนึกวิธีการรักษาพยาบาลแบบพื้นบ้านกับระบบการรักษาพยาบาลในโครงการสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติ และยามฉุกเฉิน
๓.๒ จะสนับสนุนกิจกรรมการให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทั้งที่จะดำเนินการโดยรัฐและองค์การเอกชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในส่วนที่ดำเนินการโดยรัฐ รัฐจะจัดเป็นบริการให้เปล่าสำหรับผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีรายได้ต่ำ
๓.๓ จะปรับปรุงคุณภาพ และขยายบริการของโรงพยาบาล และสถานีอนามัย รวมทั้งจะขยายขีดความสามารถของสถานีอนามัยที่มีประชากรหนาแน่นให้สูงขึ้นเพื่อพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลตำบลต่อไป ทั้งจะจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยให้สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น
๓.๔ จะเร่งรัดการผลิตบุคลากรทางสาธารณสุข ให้สอดคล้องกับการขยายบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา และโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
๓.๕ จะระดมความร่วมมือของบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน ให้เข้าใจสาธารณสุขของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งความร่วมมือจากเอกชน และสามารถประสานความร่วมมือในงานสาธารณสุขระหว่างรัฐกับเอกชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๓.๖ จะส่งเสริมและเร่งรัดให้มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนสามารถผลิตครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และวัสดุภัณฑ์ ที่ใช้ในการแพทย์และสาธารณสุขให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะไม่ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการโดยวิธีการผูกขาด
๓.๗ จะพัฒนาและปรับปรุงระบบงานสาธารณสุขทั่วประเทศเพื่อให้สามารถประสานเป้าหมาย ประสานงานระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขดีขึ้นในยามปกติ และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ในยามฉุกเฉินได้
๓.๘ จะปรับปรุงและดำเนินการด้านสุขศึกษา โดยให้เทคโนโลยีใหม่สื่อสารมวลชนและวิธีการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมและมัธยมรู้จักปฏิบัติตนในการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาลเบื้องต้นด้วยตนเอง
๓.๙ จะดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย เป็นธรรม และประหยัดโดยการตรวจสอบป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดในการจำหน่ายการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารยารักษาโรคและวัสดุภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตรและสินค้าอื่น
๓.๑๐ จะส่งเสริมการออกกำลังกายและการกีฬา เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีและมีการพักผ่อนหย่อนใจที่ถูกต้อง
๓.๑๑ จะป้องกันและรักษาโรคที่เป็นอันตรายต่อประชาชนในกลุ่มอาชีพหรือวัยต่าง ๆ ทั้งนี้ จะเร่งรัดโครงการที่จะป้องกันและบรรเทาอุบัติเหตุและสาธารณภัย รวมทั้งจัดทำโครงการฟื้นฟูผู้ทุพพลภาพ ให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อีกด้วย
๓.๑๒ จะผลิตและส่งเสริมนักวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความสามารถสูง เพื่อที่จะแสวงหาวิทยาการแผนใหม่ที่เหมาะสมจากในประเทศและต่างประเทศมาใช้แก้ปัญหาสาธารณสุข
๓.๑๓ จะเร่งรัดให้มีน้ำบริโภคที่ถูกสุขลักษณะแก่ชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง
๓.๑๔ จะเร่งรัดการให้บริการวางแผนครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมสภาวะโภชนาการและการอนามัยของแม่และเด็ก
๓.๑๕ จะสนับสนุนและส่งเสริมการประกันสุขภาพโดยความสมัครใจ

๔. หลักประกันความมั่นคงในชีวิตและอาชีพ

๔.๑ จะสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้มีอาชีพต่าง ๆ
๔.๒ จะเร่งรัดให้มีการจัดตั้งและปรับปรุงศูนย์บริการเคลื่อนมือการเกษตรเพื่อให้บริการแก่เกษตรกร
๔.๓ จะส่งเสริมการพัฒนาแรงงานในด้านความรู้ ฝีมือและความสามารถเพื่อที่จะได้เพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น รัฐบาลจะร่วมมือกับสถาบันตัวแทนของผู้ใช้แรงงานอย่างใกล้ชิดในการกำหนดนโยบายคุ้มครองแรงงานและแก้ไขปัญหาแรงงาน ตลอดจนการคุ้มครองสวัสดิภาพและกำหนดหลักประกันสังคมที่เหมาะสมให้แก่ผู้ใช้แรงงาน
๔.๔ จะเร่งรัดการสร้างมาตรการช่วยเหลือแก่แรงงานในต่างประเทศโดยให้คำแนะนำและป้องกันมิให้ถูกหลอกลวง และเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างและจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถจัดหางานในต่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง
๔.๕ จะเร่งรัดปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบและองค์การที่เกี่ยวกับแรงงานให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการและรับผิดชอบต่อผู้ใช้แรงงานมากขึ้น
๔.๖ จะเร่งรัดช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยในเรื่องที่อยู่อาศัย โดยการสนับสนุนการจัดชุมชน พร้อมที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ทั้งที่ดำเนินการโดยรัฐและเอกชน
๔.๗ จะสนับสนุนการจัดตั้งสถานที่รับเลี้ยงเด็กที่มีมาตรฐาน เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง และเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถออกไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของตน

๕. การพัฒนาสตรี

๕.๑ จะส่งเสริมประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาสตรีให้มีความพร้อมในทุกด้านตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศ และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค
๕.๒ จะเร่งรัดให้การศึกษาและอบรมแก่สตรี เพื่อให้สตรีมีบทบาทในการพัฒนาครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากยิ่งขึ้น
๕.๓ จะปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสตรีผู้ใช้แรงงาน มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม

๖. การพัฒนาเด็กและเยาวชน

๖.๑ จะเร่งรัดให้มีการขยายบริการด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชนบทยากจน รวมทั้งชุมชนแออัดเป็นพิเศษ โดยจะเน้นการส่งเสริมสุขภาพทั้งทางกาย สติปัญญาและจิตใจ
๖.๒ จะเร่งรัดสร้างค่านิยมโดยเฉพาะด้านจริยธรรมและศาสนธรรมเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคุณธรรม วินัย ความซื่อสัตย์ อดทน ขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบ รู้จักประหยัด รู้จักตนเอง และรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความสมานฉันท์
๖.๓ จะสงเคราะห์และบำบัดรักษาเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาเฉพาะ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สมองและอารมณ์ ตลอดจนจะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้เต็มที่ตามสภาพและความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมทั้งจะให้ความคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ทำงานให้พ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกทำร้ายทารุณทางร่างกายและจิตใจ
๖.๔ จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมและส่งเสริมเยาวชนให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยสร้างความเจริญให้แก่สังคมโดยส่วนรวม
๖.๕ จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักในความสำคัญของความเป็นชาติเอกลักษณ์ของชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เข้าใจหน้าที่ของตนในการพัฒนาชาติ และการเป็นสมาชิกในสังคมนานาชาติ
๖.๖ ส่งเสริมเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูงทั้งทางด้านสติปัญญาและความสามารถพิเศษ ให้พัฒนาได้เต็มที่เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ
๖.๗ จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสนใจในการกีฬา มีโอกาสฝึกฝนให้เป็นนักกีฬาที่ดี และมีความสามารถเพื่อยกระดับมาตรฐานของนักกีฬาไทยให้เท่าเทียมกับนักกีฬานานาชาติ

๗. ศิลป วัฒนธรรม ศาสนา

๗.๑ จะอนุรักษ์ ส่งเสริม ปลูกฝัง และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและมีความซาบซึ้งในเอกลักษณ์ของชาติ
๗.๒ จะสนับสนุนการมีเสถียรภาพในการนับถือศาสนาและส่งเสริมขันติธรรมและความสมานฉันท์ระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างกัน เพื่อผลในการพัฒนาศีลธรรมจริยธรรม และวัฒนธรรมของชนในชาติ
๗.๓ จะส่งเสริมให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตามครรลองของศีลธรรมจริยธรรมเป็นพิเศษโดยจะกวดขันให้ข้าราชการประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีงามของประชาชน

๘. ชุมชนเมืองและสิ่งแวดล้อม

๘.๑ จะเร่งรัดการวางผังเมืองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และกำกับดูแลให้เป็นไปตามผังเมืองที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
๘.๒ จะเร่งรัดการพัฒนาเมืองและชุมชน ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของท้องถิ่น และผังเมืองที่วางไว้
๘.๓ จะเร่งรัดปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยจากมลพิษ และมีจิตใจและร่างกายที่สมบูรณ์
๘.๔ จะเร่งรัดบริการสังคมด้านการออกกำลังกาย สถานพักผ่อนหย่อนใจสวนสาธารณะในเมือง และชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งการขยายวนอุทยาน อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

นโยบายทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน

                   ๑. จะกำหนดให้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยที่สำคัญมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบให้มุ่งตรงไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ จะเสริมสร้างบรรยากาศการวิจัยและพัฒนา และดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนและจูงใจให้เอกชนดำเนินการวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น
๒. จะเสริมสร้างองค์กรการบริหารงานวิจัยและพัฒนา ให้เป็นแหล่งระดมสรรพกำลังทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่วนงานของภาคเอกชน เพื่อจะทำการวิจัย และพัฒนาเฉพาะเรื่องแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาการผลิตจนถึงการตลาด ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
๓. จะพัฒนาวิธีการและเครื่องมือในการบริหารระบบข้อมูลสนเทศ การวิเคราะห์และการประมวลผลที่ทันสมัยทางด้านวิทยาศาสตร์ การผลิต การตลาด การเผยแพร่ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาวะของประเทศ เพื่อให้บริการแก่เอกชน และนักวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ
๔. จะส่งเสริมและผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการผลิต และสร้างมูลค่างเพิ่มของสินค้าในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การพลังงานตลอดจนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการป้องกันประเทศ
๕. จะปรับปรุงองค์กรด้านพลังงาน เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจะส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด พัฒนาพลังงานทุกรูปแบบภายในประเทศ กระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในสาขาพลังงาน รวมทั้งจะกำหนดอัตราค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้แล้วทุกชนิดให้เหมาะสมกับสถานภาพทางเศรษฐกิจ
๖. จะประสานและปรับปรุงระบบการบริหาร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการอุตสาหกรรมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน
๗. จะระดมสรรพกำลังจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีระบบต่อเนื่อง รวมทั้งจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

                  นอกจากนโยบายดังกล่าวข้างต้น ปัญหาเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัย ยังเป็นปัญหาที่เผชิญหน้าประเทศไทยอยู่เช่นเดิม รัฐบาลจึงยังจะต้องดำเนินการขจัดปัญหานี้ให้ลดน้อยลงและให้หมดสิ้นไปในที่สุด โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม อธิปไตย และความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ รัฐบาลจะได้ดำเนินการต่อไป ทั้งทางการเมืองและทางการทูต เพื่อให้องค์การสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศและมิตรประเทศทั้งหลายได้ร่วมรับผิดขอบในภาวะที่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยต้องรับอยู่ โดยรับผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้ออกจากประเทศไทย และสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้มากขึ้น
อนึ่ง ปัญหาการผลิตและการค้ายาเสพติดยังเป็นปัญหาสำคัญ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะดำเนินการป้องกัน และปราบปรามต่อไปอย่างจริงจังและเด็ดขาด ในขณะเดียวกันในด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด รัฐบาลจะร่วมมือกับภาคเอกชนโดยขยายบริการให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นกลับตนเป็นพลเมืองดีและเป็นกำลังของชาติสืบไป
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลาย ในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงมาข้างต้นนี้ กระผมขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินการโดยยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้งและปฏิบัติตามนโยบายโดยเคร่งครัด เพื่อนำความก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติและนำความสงบเรียบร้อยและความสุขความเจริญมาสู่ประชาชนสมดังเป้าหมายที่ได้แถลงไว้แล้วทุกประการ ขอบคุณ

*รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๑/๒๕๒๙ (สมัยสามัญ)  วันพุธที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ หน้า ๑๗๓ – ๑๙๒