คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๖


คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๖ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๐๐ – ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐
แถลงนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๐

คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ
เนื่องจากได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๐๐ข้าพเจ้าจึ่งได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้น   และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา  ทรงมีพระกรุณาแต่งตั้งแล้ว ตามประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ดังมีรายนามปรากฎอยู่แล้วนั้น บัดนี้
ข้าพเจ้าและคณะรัฐมนตรีของข้าพเจ้า   ได้กำหนดนโยบายเพื่อที่จะเข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแล้ว โดยยึดแนวนโยบายแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นหลักดำเนินการจึงของแถลงเพื่อให้สภานี้พิจารณาให้ความไว้วางใจตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้

               ๑. รัฐบาลนี้จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และบริหารงานตามกำหนดนโยบายของเสรีมนังคศิลา   ซึ่งได้ประกาศให้ประชาชนทราบโดยจดทะเบียนไว้ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหลักฐานแล้ว

               ๒. รัฐบาลนี้จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบราชการ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและภราดรภาพ โดยเฉพาะให้ข้าราชการที่ติดต่อกับประชาชนประพฤติและปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับเป็นผู้รับใช้ประชาชน

               ๓. รัฐบาลนี้จะบริหารราชการแผ่นดินโดยยึดมั่นในหลักการถือประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญและมุ่งความผาสุกของประชาชนเป็นที่ตั้ง

               ๔. รัฐบาลนี้จะส่งเสริมการอาชีพของประชาชนให้เจริญก้าวหน้า ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มาตราฐานการครองชีพดีขึ้น

               ๕. รัฐบาลนี้จะส่งเสริมสัมพันธ์ไมตรีกับนานาประเทศให้สนิทสนมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง จะได้พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและสงบสันติจะเชิดชูอุดมคติของสหประชาชาติ และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

               ๖. รัฐบาลนี้จะเตรียมสรรพกำลังของชาติ และสร้างกำลังรบสำหรับป้องกันรักษาราชอาณาจักรเพื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่จะมารุกรานประเทศไทยให้ดีที่สุดตามกำลังเศรษฐกิจของประเทศ และปรับปรุงขยายกิจการด้านสวัสดิการของทหารให้ดียิ่งขึ้นตามแบบอย่างอารยประเทศ

               ๗. รัฐบาลนี้จะส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรมของประชาราษฎร์ทั้งคุณภาพและปริมาณเป็นลำดับแรก โดยจะได้ส่งเสริมการศึกษาในส่วนภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น ทั้งจะได้เร่งรัดในการสร้างอาคารเรียน การผลิตครูให้ได้ส่วนสัมพันธ์กับนักเรียน และส่งเสริมให้ครูมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

               ๘. รัฐบาลนี้จะเชิดชูส่งเสริมการวัฒนธรรมของชาติเพื่อให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีระเบียบและผาสุก ทั้งส่วนตัวและในการอยู่ร่วมกัน

               ๙. รัฐบาลนี้จะส่งเสริมช่วยเหลือการประกอบอาชีพของราษฎร ในการผลิตทางเกษตรกรรมทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนขยายการชลประทาน และเครื่องทุ่นแรงให้มีผลดียิ่งขึ้น

               ๑๐. รัฐบาลนี้จะเร่งขยายและส่งเสริมการสหกรณ์ทุกประเภทให้เจริญก้าวหน้าเพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนและจัดตั้งศูนย์การอบรมทางสหกรณ์ขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความชำนาญทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ เพื่อให้การสหกรณ์มีประสิทธิภาพ

               ๑๑. รัฐบาลนี้จะขยายการส่งเสริมช่วยเหลือการอุตสาหกรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ตลอดจนการอุตสาหกรรมภายในครอบครัว  รวมทั้งส่งเสริมให้ชาวต่างประเทศมาลงทุนประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศ

               ๑๒. รัฐบาลนี้จะเปิดตลาดค้าทั้งในและนอกประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและจะหาทางรักษาราคา และจัดสรรสินค้าขาออกที่สำคัญให้เป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย

               ๑๓. รัฐบาลนี้จะรักษาค่าของเงินตราไทยให้มีเสถียรภาพ จะปรับปรุงการภาษีอากรให้เป็นธรรมและสะดวกแก่ประชาชน

               ๑๔. รัฐบาลนี้จะส่งเสริมการติดต่อสื่อสาร การคมนาคม และการขนส่งให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น

               ๑๕. รัฐบาลนี้จะปรับปรุงแก้ไขให้การพิจารณาอรรถคดีดำเนินไปโดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

               ๑๖. รัฐบาลนี้จะกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น และพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจให้ถึงมือประชาชนโดยทั่วถึง โดยจะพิจารณายกฐานะท้องถิ่นขึ้นเป็นเทศบาลและสุขาภิบาลให้มากขึ้นตามควรแก่ฐานะ กับจะได้ส่งเสริมกิจการของสภาจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการสภาตำบลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้ประชาชนได้ปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

               จะขยายการสาธารณูปโภคในท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มีการไฟฟ้า ประปาโดยทั่วถึงและจะได้ส่งเสริมให้มีทางชนบทให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของท้องถิ่นและเป็นการฟื้นฟูการบูรณะชนบท

               จะรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายในประเทศด้วยการเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะคุ้มครองป้องกันประชาชนให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย และพ้นจากการกดขี่ข่มเหงโดยไม่เป็นธรรม ให้ได้มีโอกาสตั้งหน้าประกอบสัมมาอาชีวะโดยปราศจากหวาดกลัว

               จะขยายการส่งเสริมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้รับการสงเคราะห์ทั้งด้านอาชีวะสงเคราะห์ เคหสงเคราะห์ และการสงเคราะห์ครอบครัว สหภาพแรงงาน ตลอดจนการสงเคราะห์ในด้านสังคมอื่น ๆให้มากและดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านเคหะสงเคราะห์นั้นจะจัดให้มีอาคารสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนให้ได้มีที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น

               จะได้เร่งรัดการจัดสรรที่ดินตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีที่ดินเป็นของตนเองเป็นหลักฐานตามควรแก่อัตภาพ

               ๑๗. รัฐบาลนี้จะพยายามส่งเสริมช่วยเหลือประชาราษฎรในการอนามัย การรักษาพยาบาลโดยจะปรับปรุงและจัดสร้างโรงพยาบาล สถานีอนามัย รวมทั้งจะดำเนินการให้มีแพทย์  พยาบาลตลอดจนเวชภัณฑ์ ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น จะช่วยเหลือประชาชนในทางป้องกันและบำบัดโรคต่าง ๆ รวมทั้งจะจัดสรรให้ประชาราษฎรได้ซื้อยารักษาโรคได้โดยสะดวกและราคาย่อมเยาว์ตามสมควร

               รัฐบาลนี้มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิบัติงานของชาติตามนโยบายที่แถลงมานี้เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขแก่ประชาชนทั่วกันแต่การที่จะประสบผลสำเร็จเช่นนั้นก็จำต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ   ตลอดจนถึงประชาชนทั้งชาติ จึงหวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคงจะได้ร่วมมือกับรัฐบาลด้วยไมตรีจิตมิตรภาพอันดี ให้รัฐบาล
ชุดนี้ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป

*รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓/๒๕๐๐ ชุดที่ ๒ (ครั้งแรก) วันจันทร์ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๐ หน้า ๒๙ – ๓๒