คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๔


คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๔ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๙๔ – ๒๓ มีนาคม ๒๕๙๕
แถลงนโยบาย เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๙๔

คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*

ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ

               ตามประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินข้าพเจ้าได้จัดตั้งรัฐบาลนำรายนามนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามพระบรมราชาอนุมัติให้ตั้งรัฐมนตรีตามประกาศตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ นั้นแล้ว ณ บัดนี้ข้าพเจ้าและรัฐมนตรีพร้อมแล้วที่จะเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอแถลงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้เพื่อสภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาให้ความไว้วางใจบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๔๗๕สืบไปดังต่อไปนี้

               ๑. รัฐบาลนี้มีเจตน์จำนงอันแน่วแน่ที่จะผดุงรักษาระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เทอดทูนพระมหากษัตริย์บรมราชจักรีวงศ์ อันเป็นที่เคารพสักการะตลอดไป

               ๒. รัฐบาลนี้จะเชิดชูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และให้ความช่วยเหลือแก่ศาสนาอื่น

               ๓. รัฐบาลนี้จะส่งเสริมไมตรีอันมั่นคงกับนานาประเทศ และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศเชิดชูอุดมคติของสหประชาชาติ และยึดมั่นอยู่ในฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อความยุติธรรมสันติสุขของโลก

               ๔. รัฐบาลนี้จะสร้างกำลังป้องกันราชอาณาจักร เพื่อเผชิญกับสถานการณ์โดยไม่ประมาท

               ๕. รัฐบาลนี้จะเคารพต่อหลักการเสรีภาพ สมภาพ ภราดรภาพ นอกจากจะดำเนินตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลนี้จะเคารพยึดถือปฏิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของมนุษยชนด้วย

               ๖. รัฐบาลนี้จะเร่งรัดส่งเสริมการรักษาพยาบาลและอนามัยของประชาชน รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนทางสวัสดิการให้ทวียิ่งขึ้น

               ๗. รัฐบาลนี้จะพยายามอย่างที่สุดให้เศรษฐกิจของชาติมีความเจริญรุ่งเรืองโดยเร็ว เพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ประชาราษฎรทั่วหน้า และจะบริหารราชการแผ่นดินในทางเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้

                   ก) ส่งเสริมช่วยเหลือให้ราษฎรมีที่ดิน และเคหสถานบ้านเรือนเป็นกรรมสิทธิ์ของตนตามควรแก่อัตภาพ

                   ข) ส่งเสริมช่วยเหลือการประกอบอาชีพของราษฎร ในการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร และการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นผลดี ดั่งเช่น ในเรื่องการหาทุน การชลประทาน เครื่องจักรทุ่นแรง ปุ๋ย เป็นต้น

                   ค) ส่งเสริมช่วยเหลือการอุตสาหกรรมที่ทำด้วยวัตถุดิบในประเทศได้กว้างขวางยิ่งขึ้นตลอดจนการอุตสาหกรรมในครอบครัวด้วย

                   ฆ) ส่งเสริมช่วยเหลือให้ผู้ผลิตขายผลิตผลของตนได้ราราที่สมควร จะวางวิธีการติดต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ถึงกันสะดวกใกล้ชิด การสหกรณ์ การจัดสัมมาอาชีพ การตั้งฉางและคลังสินค้าจะให้ผลดีสมปรารถนาในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลนี้จะพยายามส่งเสริมช่วยเหลือให้บังเกิดขึ้นพร้อมด้วยมีประสิทธิภาพดีด้วย

                   ง) ส่งเสริมความสะดวกในการขนส่ง การสื่อสาร และการสัญจรไปมาให้ดียิ่งขึ้น

               ๘. รัฐบาลนี้เห็นชัดว่า การที่จะสร้างประโยชน์อันผาสุกให้แก่ราษฎร ดังกล่าวมานี้ค่าของเงินตราไทยได้ตกต่ำลงไปมาก ซึ่งก็มิใช่จะเป็นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ที่จริงประเทศอื่นหลายประเทศก็ต้องประสบผลอันนี้ รัฐบาลที่แล้วมาได้ทำความพยายาม
ให้ค่าของเงินตราไทยดีมาในชั่วเวลา ๒ – ๓ ปีนี้รัฐบาลนี้จะได้ทำความพยายามต่อไปด้วยวิธีการอันรอบคอบให้เป็นผลดียิ่งขึ้น

               ๙. เพื่อให้ได้ผลทั้งมวลที่ได้กล่าวมานี้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลนี้จะให้การศึกษาอันดีแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออาชีวะศึกษาและอบรมศีลธรรม จะได้ขยายโรงเรียนและเพิ่มครูผู้สอนให้มากยิ่งขึ้น

               ๑๐. เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และเพื่อปฏิบัติเคร่งครัดตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของมนุษยชน รัฐบาลนี้จะเคารพต่ออิสระภาพของศาลตามบทบัญญัติมาตรา ๖๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ โดยเคร่งครัด

               ๑๑. รัฐบาลนี้มีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะปฏิบัติงานของชาติให้สำเร็จตามนโยบายที่แถลงมานี้ แต่การที่จะประสบผลสำเร็จเช่นนั้น ก็จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ ตลอดถึงประชาชน ที่จะช่วยกันนำชาติพ้นสถานการณ์อันตึงเครียดของโลกในเวลานี้ และสร้างความถาวรสวัสดีอันผาสุกให้แก่ประเทศทั่วกันด้วย หวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคงจะได้พิจารณานโยบายของรัฐบาลนี้ด้วยไมตรีจิต และให้ความไว้วางใจแก่รัฐบาลชุดนี้ด้วยดี เพื่อจะได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินตามความในมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๔๗๕ สืบไป

*รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓/๒๔๙๔ (วิสามัญ) วันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ หน้า ๓๐ -๓๓