คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๒
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๒ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๒ – ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๔
แถลงนโยบาย เมื่อวันพุธที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๙๒
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ท่านประธานรัฐสภา และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ
ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ ทั้งข้าพเจ้าและคณะรัฐบาลได้เข้าเฝ้าปฏิญาณตนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๑๔๑ แล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าและคณะรัฐมนตรีขอแถลงนโยบายเพื่อสภานี้จะได้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๕ – ๑๔๖ ดังต่อไปนี้
ก่อนอื่นรัฐบาลนี้มีเจตน์จำนงอันแน่วแน่ที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
รัฐบาลนี้มีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะปฎิบัติงานของชาติให้สำเร็จสมบูรณ์ตามนโยบายที่แถลงมาข้างต้นนี้ แต่จะปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายรัฐบาลจึงหวังว่าจะได้รับความร่วมมือของท่านสมาชิกรัฐสภา ตลอดถึงข้าราชการและประชาชนที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถทำงานให้ประเทศชาติผ่านพ้นความยากลำบากได้ในเวลานี้ และเตรียมพร้อม
ที่จะเผชิญกับวิกฤติการณ์ที่อาจจะมีขึ้นในวันข้างหน้า
ตามที่รัฐบาลนี้ได้แถลงนโยบายต่อท่านสมาชิกจบลงนี้ กระผมขอเรียนเพิ่มเติมว่าในการที่เราได้แถลงนโยบายดังนี้ก็รู้สึกเหมือกันว่าเป็นการกว้างขวางเกินไป แต่ก็ไปนึกดูว่าที่ว่าตามปกติแล้วรัฐบาลที่เข้ามาสำหรับตัวผมเองได้ออกไป 3 ปีแล้ว รายละเอียดก็ไม่ทราบพราะฉะนั้นเป็นผู้แทนราษฎรเข้ามาใหม่ก็ไม่รู้รายละเอียดในกิจกรรมนโยบายของ
ข้าราชการประจำ เช่น ตำรวจ
มีการปกครอง มีความบกพร่องอย่างไรบ้าง รัฐบาลที่ประกอบขึ้นใหม่ก็ไม่ทราบเพราะฉะนั้นเลยนึกไปว่าข้าราชการมี 2 ประเภท คือ ประเภทการเมืองและประเภทประจำเพราะฉะนั้นแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ของตนโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของการเมืองก็ควรระลึกถึงแต่เรื่องการเมืองว่าหน้าที่ของตามนโยบายมีดังนั้น ข้าราชการรับไปทำ เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ที่เสนอนโยบายมานี้อาจจะมีการบกพร่องก็ขอได้โปรดอภัยด้วยและมีเปลี่ยนแปลงประการใดแต่ว่าโดยที่นึกว่าที่เสนอมานี้เป็นเพียงนโยบาย ส่วนข้าราชการประจำซึ่งเป็นอีกหนึ่งนั้นก็จะได้แปรเปลี่ยนไปตามนโยบายนี้ เท่าที่สามารถจะทำได้
ตามที่ได้แถลงนโยบายจบลงนี้ ข้าพเจ้าขอเรียนท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายว่ารัฐบาลนี้พร้อมที่จะได้รับคำทักท้วง ได้รับคำแนะนำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลจะได้นำไปพิจารณาประกอบเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและต้องใจแก่บรรดาท่านสมาชิกทั้งหลายตลอดไปด้วย
๑. การศาสนา
รัฐบาลนี้จะเชิดชูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และให้ความช่วยเหลือศาสนาอื่น
จะอาศัย ทางศาสนาช่วยการศึกษาและอบรมประชาชนให้มีศีลธรรมอันดีงามยิ่งขึ้น
๒. พระมหากษัตริย์
รัฐบาลนี้จะเทอดทูนเคารพหลักการองค์พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์และจะรักษาราชบัลลังก์ให้มั่นคงอยู่ชั่วนิรันดรทั้งจะเทอดทูนเกียรติพระราชวงศ์ที่ดำเนินเจริญรอยราชจริยาวัตร์
๓. การต่างประเทศ
(๑) จะพยายามส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศและปฏิบัติตามพันธกรณีซึ่งมีอยู่ต่อประเทศทั้งหลาย โดยถือหลักความเสมอภาคและการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
(๒) จะร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ ในบรรดากิจการต่าง ๆ เพื่อความยุติธรรมและสันติสุขของโลก
(๓) รัฐบาลนี้ขอเรียนให้ทราบว่า ในขณะนี้สถานการณ์ของประเทศต่าง ๆ ยังยุ่งยากสับสนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในประเทศใกล้เคียง มีการรบต่อสู้กันทั่วไป ส่วนประเทศไทยยังรักษาความสงบสุขอยู่ได้ แต่ย่อมมีความเข้าใจทั่วกันว่า ประเทศชาติของเราต้องมีภาระหนักอยู่มิใช่น้อยที่จะต้องพยายามฝ่าฟันในอันที่จะรักษาไว้ซึ่งความสงบสันติสุข เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย ส่วนชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาพำนักในประเทศไทยรัฐบาลนี้หวังว่าจะได้ร่วมมือร่วมใจกับประชาชนชาวไทยประกอบกิจที่เป็นคุณประโยชน์เพื่อความสงบสุขส่วนรวม
๔. การทหาร
(๑) จะผดุงส่งเสริมสมรรถภาพกำลังทหารให้สมกับกาลสมัย
(๒) จะพยายามจัดการทุกวิถีทางให้กำลังทหารเป็นทหารที่ดีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งอยู่ในความนิยมของประชาชน
๕. การศึกษา
รัฐบาลนี้ถือว่าการส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรมประชาชนเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก จะพยายามให้ประชาชนได้รับการศึกษาอบรมทั่วถึงกันทุกเพศทุกวัย โดย
(๑) จะส่งเสริมปรับปรุงและบำรุงการอาชีวะศึกษาเป็นพิเศษ
(๒) จะส่งเสริมปรับปรุงและบำรุงการพลศึกษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
(๓) จะส่งเสริมปรับปรุงการศึกษาผู้ใหญ่ให้กว้างขวางดียิ่งขึ้น
(๔) จะตั้งโรงเรียนรัฐบาลและประชาบาลเพิ่มขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนตามลำดับแห่งความจำเป็น
(๕) จะเพิ่มจำนวนครูอาจารย์ ตลอดจนปรับปรุงสมรรถภาพของครูอาจารย์ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย
(๖) จะขยายการสนับสนุนและบำรุงโรงเรียนราษฎร์ให้มากขึ้น
(๗) จะได้ปรับปรุงและขยายเพิ่มเติมการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
(๘) จะพยายามจัดให้มีห้องสมุดสำหรับประชาชนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ
(๙) จะยึดหลักเป็นทางปฏิบัติว่า รัฐมีหน้าที่ให้การศึกษาอบรมแก่ประชาชนพลเมืองทุกคนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และช่วยเหลือให้เครื่องอุปกรณ์การศึกษาตามสมควร
๖. การเกษตร
(๑) จะจัดการส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งในส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ประกอบการทำมาหากินของตนเอง
(๒) จะบำรุงส่งเสริมการผลิตพืชผลต่าง ๆ และการเลี้ยงสัตว์ให้ทวีคุณภาพและปริมาณยิ่งขึ้นโดย
(ก) ชลประทานราษฎร์ จะได้ขยายให้ทั่วราชอาณาจักรโดยด่วนและควบคุมงานให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
ชลประทานหลวง จะได้เร่งรัดงานตามโครงการที่ได้ดำเนินอยู่ให้เสร็จเร็วยิ่งขึ้นส่วนท้องที่ที่ยังไม่มีโครงการก็จะเริ่มดำเนินงานต่อไปและจะได้ส่งเสริมการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกด้วยวิธีอื่นให้เพียงพอ
คลอง จะได้จัดการลอกให้ใช้เป็นทางส่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกและการลำเลียงขนส่ง และจะได้ขุดคลองเพิ่มขึ้นอีก
(ข) จะได้ค้นคว้าและส่งเสริมพันธุ์พืชให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ตลอดจนการใช้ปุ๋ยและเครื่องจักร์ทุ่นแรง
(ค) จะบำรุงส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์และสัตว์พาหน ตลอดถึงการหาพันธุ์สัตว์ที่ดีด้วย จะจัดการเพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ จะได้ส่งเสริมและจัดทำวัคซีนให้พอแก่ความต้องการ และเร่งปราบโรคระบาดสัตว์
(ง) จะส่งเสริมและขยายการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดสำหรับเป็นอาหารของประชาชนในภาคต่าง ๆ ทั่วไป การประมงทางทะเล จะได้ตั้งสถานีการประมงและจะได้จัดการส่งเสริมการจำหน่ายปลาทุกชนิดให้ประชาชนได้รับผลดียิ่งขึ้น
(จ) จะขยายการสหกรณ์รูปต่าง ๆ ให้แพร่หลายมากขึ้น เฉพาอย่างยิ่งสหกรณ์ประเภทหาทุน เช่าซื้อที่ดิน และประเภทร้านค้า
(๓) จะบำรุงรักษาป่าและพันธุ์ไม้ให้เจริญยั่งยืน ในเวลาเดียวกันจะได้ส่งเสริมให้มีสินค้าไม้
และของป่าพอแก่ความต้องการใช้ภายในประเทศ และส่งเป็นสินค้าไปนอกประเทศด้วย
(๔) จะบำรุงส่งเสริมการเพาะปลูกยางพารา เพื่อให้ได้สินค้ายางพาราทวียิ่งขึ้นจนเป็นสินค้าสำคัญของประเทศต่อไป
(๕) จะได้ส่งเสริมการศึกษาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ก้าวหน้า และจะได้พยายามให้การศึกษาอบรมในวิชาการกสิกรรมเลี้ยงสัตว์แก่ประชาชนให้แพร่หลาย
๗. การอุตสาหกรรม
(๑) จะส่งเสริมการอุตสาหกรรม เพื่อแปลงวัตถุดิบภายในประเทศให้เป็นวัตถุสำเร็จรูปสำหรับใช้ภายในประเทศ
(๒) จะเร่งการสำรวจแหล่งแร่ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งจะส่งเสริมการทำเหมืองแร่ให้ได้มาซึ่งแร่จนเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ
(๓) จะปรับปรุงแก้ไขโรงงานของรัฐให้ผลิตผลได้ดีมากขึ้น
(๔) จะส่งเสริมให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมของรัฐและของเอกชน ให้เหมาะสมกับการผลิตประเภทอื่น
(๕) จะเร่งรัดให้ได้มาซึ่งพลังจากไฟฟ้าน้ำตก
(๖) จะเร่งส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขา
๘. การคมนาคม
จะปรับปรุงส่งเสรมและขยายการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจนการสื่อสารให้พอแก่ความต้องการของประเทศในการขนส่งสินค้าและโดยสารโดยเฉพาะ
(๑) การรถไฟ จะได้จัดการปรับปรุงสิ่งที่เสียหายจากการสงครามให้คืนดีใช้งานได้ จะได้สั่งซื้อรถจักร รถบรรทุก รถโดยสาร ทั้งเครื่องอุปกรณ์ในการโรงงานและการเดินรถ และจะได้้สร้างทางรถไฟเพิ่มเติมต่อไปตามโครงการ
(๒) การทาง จะได้เร่งบูรณะทางหลวงที่ชำรุด และจะได้สร้างทางตามโครงการสร้างทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงจังหวัดทั่วราชอาณาจักรต่อไปโดยด่วน พยายามให้ทุกจังหวัดและทุกอำเภอติดต่อถึงกันได้ และจะได้จัดหาเครื่องจักร์ทุ่นแรงมาใช้ในการบูรณะและสร้างทางเหล่านี้
(๓) ท่าเรือกรุงเทพฯ จะได้ปรับปรุงกิจการให้สมบูรณ์ตามโครงการเดิมต่อไป และจะได้เร่งรัดในการขุดลอกสันดอน เพื่อให้เรือซึ่งกินน้ำลึกประมาณ ๒๑ ฟีด เข้าออกได้ กับจะพิจารณาสร้างท่าเรืออื่นต่อไป
(๔) การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ และการสื่อสารอื่น ๆ จะได้ปรับปรุงส่งเสริมและขยายให้กว้างขวางทั่วราชอาณาจักรต่อจากที่ได้ทำมาแล้ว เพื่อสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป
(๕) จะได้จัดการลดราคา หรือไม่เก็บค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมอื่นตามควรเหล่านี้ ให้แก่ พระภิกษุสงฆ์ คนเจ็บป่วย และเพื่อช่วยประชาชนตามที่จะทำได้
๙. การพาณิชย์
(๑) จะได้รักษาราคาสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และพยายามให้ต่ำลงตามกาลเวลา ทั้งจะนำไปในทางให้การใช้จ่ายประหยัดที่สุด ในขณะเดียวกันก็จะได้ส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยได้มีอาชีพในการค้า อันเป็นทางเดียวที่จะธำรงไว้ซึ่งเอกราชทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ
(๒) จะได้ส่งเสริมให้มีสินค้าส่งออกไปจำหน่ายนอกประเทศให้มากที่สุดในเวลาเดียวกันก็จะแนะนำให้ผู้ค้ารักษาคุณภาพให้เป็นที่นิยมและเชื่อถือได้
(๓) สำหรับการควบคุมสินค้าขาเข้าและออกนั้น จะพยายามปฏิบัติมิให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชน นอกจากความจำเป็นที่จะรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของประเทศชาติ
(๔) การค้าข้าว จักได้ร่วมมือกับองค์การอาหารยามฉุกเฉินของสหประชาชาติที่จะไม่ขัดกับประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย
๑๐. การมหาดไทย
จะจัดการปกครองให้ราษฎรมีความปลอดภัย ผาสุก และเป็นพลเมืองดีตลอดจนให้ราษฎรประกอบสัมมาอาชีพ กล่าวคือ
(๑) จะส่งเสริมสนับสนุนการเทศบาลและสภาจังหวัด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของระบอบประชาธิปไตยให้สามารถอำนวยคุณประโยชน์แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และจะได้ช่วยทำนุบำรุงและบูรณะท้องถิ่นทุกแห่งของราชอาณาจักรให้มีความเจริญทั่วถึงกัน
(๒) จะจัดการให้ตำรวจมีกำลังเพียงพอและมีสมรรถภาพดีเป็นที่ไว้วางใจเชื่อถือของ
ประชาชน
(๓) จะปรับปรุงให้พนักงานอัยการมีเพียงพอและมีสมรรถภาพและฐานะดียิ่งขึ้น
(๔) จะดำเนินการราชทัณฑ์ไปตามแผนอารยะนิยม โดยจะได้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักการราชทัณฑ์ ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้กลับเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยเฉพาะนักโทษเด็กจะได้จัดแยกที่คุมขังมาตั้งเป็นเอกเทศเพื่อฝึกอบรมเป็นพิเศษ สำหรับเด็กที่ศาลสั่งให้ได้รับการฝึกและอบรมนั้น จะได้ปรับปรุงการฝึกและอบรมให้มีผลดียิ่งขึ้น
(๕) จะเร่งซ่อมแซมปรับปรุงก่อสร้างการไฟฟ้า การประปาในพระนครและธนบุรี ซึ่งเสียหายในคราวสงครามให้พอสนองความต้องการของประชาชน และจะได้ขยายการไฟฟ้า ประปา ให้แพร่หลายตามท้องที่ทั่วราชอาณาจักรโดยด่วน
(๖) การสงเคราะห์ประชาชน จะได้ขยายการสร้างอาคารให้เช่า และให้เช่าซื้อมากยิ่งขึ้นจะได้ช่วยหาอาชีพให้ประชาชน จะขยายการช่วยสงเคราะห์คนชรา คนทุพพลภาพ ผู้มีบุตรมากเด็กให้เป็นผลจริงจังต่อไป
(๗) จะช่วยบุคคลที่ตั้งใจประกอบอาชีพโดยอิสระให้ได้รับความสะดวกในการจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่า และได้รับหนังสือแสดงกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
(๘) จะให้ความสนับสนุนช่วยเหลือกรรมกรทุกประเภท
๑๑. การสาธารณสุข
การสาธารณสุขจะพยายามให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรงสมที่จะประกอบอาชีพของตน และทำประโยชน์แก่ประเทศชาติได้นานที่สุดในชีวิต โดยรัฐบาลจะได้จัดในสิ่งสำคัญต่อไปนี้ คือ
(๑) ปรับปรุงเจ้าหน้าที่ทั้งจำนวนและคุณภาพ เพื่อให้มีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น
(๒) ขยายการสุขศึกษาให้ประชาชนได้รับความรู้ในเรื่องการอนามัยดียิ่งขึ้น
(๓) ขยายการบำบัดโรคให้แก่ประชาชน โดยจัดให้มีโรงพยาบาล และสถานบำบัดโรคตลอดจนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในจังหวัดที่ขาดอยู่
(๔) ขยายการมารดาและทารกสงเคราะห์ โดยจัดให้มีนางพยาบาลผดุงครรภ์เพิ่มขึ้นตลอดจนให้มีสถานสงเคราะห์มารดาและทารกเพิ่มขึ้นด้วย
(๕) จัดการป้องกันและระงับโรคติดต่อและโรคอื่นที่สำคัญ โดยเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ให้สามารถทำการได้เป็นผลดียิ่งขึ้น
(๖) บำรุงและส่งเสริมการสุขาภิบาล โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่เทศบาลโดยใกล้ชิด เพื่อแก้ไขการสุขาภิบาลทั่วไปให้ดียิ่งขึ้น
(๗) ขยายการอนามัยนักเรียน โดยเพิ่มหน่วยอนามัยนักเรียน เพื่อทำการตามโรงเรียนได้มากขึ้น
(๘) ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยในทางการแพทย์และการสาธารณสุข
(๙) ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวด้วยการแพทย์ การสาธารณสุข และการสงเคราะห์เด็ก
(๑๐) จะพยายามให้ประชาชนทุกคนได้รับการปฏิบัติในการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกัน
๑๒. การศาลยุติธรรม
(๑) จะรักษาความเป็นอิสระของผูพิพากษาในการพิจารณพิพากษาอรรถคดีตามกฎหมาย
(๒) จะเพิ่มจำนวนศาลที่พิจารณาอรรถคดีให้สะดวกแก่ประชาชนยิ่งขึ้น
(๓) จะเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้รวดเร็วมิชักช้า
๑๓. การคลัง
การคลังเป็นปัจจัยแห่งการปกครองและทำนุบำรุงบ้านเมือง กิจการทั้งปวงจะสำเร็จได้ด้วยดีก็ต้องอาศัยความมั่นคงแห่งการคลังเป็นหลัก รัฐบาลนี้จึงจะดำรงไว้ซึ่งดุลยภาพแห่งรายได้รายจ่ายแผ่นดิน เพราะเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของการคลัง และจะอาศัยความเชื่อถืออันเกิดขึ้นจากความมั่นคงนั้นเป็นเครื่องมือระดมกำลังทุนมาใช้เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศชาติขยายตัว ทั่งจะดำเนินการต่อไปทุกวิถีทางในอันที่จะให้เงินตราไทยมีเสถียรภาพสมบูรณ์ขึ้นในเวลาอันสมควร
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รัฐบาลนี้จะสนใจในการปราบปรามผู้ทุจริตในวงราชการของรัฐ ปราบปรามโจรผู้ร้าย และลดค่าครองชีพเหล่านี้เป็นพิเศษ และรัฐบาลนี้จะดำเนินตามแนวนโยบายแห่งรัฐซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
อนึ่ง ในบรรดากิจการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง ซึ่งรัฐบาลก่อน ๆ ได้ปฏิบัติมาด้วยดี รัฐบาลนี้จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้กิจการทุกอย่างดำเนินก้าวหน้าตามสมควรแก่กำลังคน และกำลังเงิน ให้ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยวิริยะอุตสาหะ สุจริตต่อหน้าที่และให้ได้ผลดีแก่ประเทศชาติมากที่สุดที่จะทำได้ ทั้งจะให้ความเอาใจใส่สนับสนุนให้ข้าราชการประจำมีความมั่นคงในฐานะ และช่วยเหลือข้าราชการบำนาญข้าราชการนอกประจำการทั้งทหารพลเรือนด้วย
ในการปฏิบัติงานของชาติตามนโยบายที่แถลงมาข้างต้นนี้ จำต้องขอความเห็นอกเห็นใจไมตรีจิตและความร่วมมือจากท่านทุกฝ่าย เพื่อเป็นกำลังน้ำใจให้รัฐบาล และข้าราชการสามารถบริหารราชการแผ่นดินให้ลุล่วงสำเร็จเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ อันจะนำมาซึ่งความผาสุกสมบูรณ์แก่ประชาชนทั่วหน้ากัน
*รายงานการประชุมสภาผู้แทน ครั้งที่ ๓/๓๔๙๒ (สามัญ) ชุดที่ ๑ วันพุธที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ หน้า ๑๙ – ๒๙