คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๐


คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒๐ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ – ๘ เมษายน ๒๔๙๑
แถลงนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๑

คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*

ท่านประธานรัฐสภาและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ

               เนื่องจากได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๑ บัดนี้ ข้าพเจ้าได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเสร็จแล้วดั่งปรากฏตามประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์พุทธศักราช ๒๔๙๑ จึงใคร่ขอให้รัฐสภาได้พิจารณาให้ความไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)มาตรา ๗๗ และมาตรา ๙๖

               เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าการบริหารราชการแผ่นดินนั้นข้อสำคัญก็อยู่ที่จะต้องหาวิถีทางปฏิบัติที่สุดที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดีตามควรแก่อัตตภาพและผดุงรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติกับให้บุคคลในชาติได้มีสิทธิเสรีภาพสมกับที่เป็นพลเมืองของประเทศในระบอบประชาธิปไตยเป็นอาทิเพื่อบริหารราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดั่งกล่าวข้างต้น รัฐบาลขอแถลงนโยบายดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

๑. การคลัง

               ๑) จะจัดให้เงินรายรับรายจ่ายแผ่นดินเป็นดุลยภาพดูแลการจ่ายเงินให้เป็นไปในทางที่ควรและชอบด้วยกฎหมาย และปฏิบัติตามข้อผูกพันกับนานาประเทศโดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเชื่อถือในความมั่นคงแห่งการคลัง และเพื่อเปิดทางไปสู่เสถียรภาพแห่งเงินตรา

               ๒) จะดำเนินการเงินตราไปตามวิถีทางอันจะนำไปสู่เสถียรภาพคือ เงินบาทมีค่าแน่นอนในระดับอันสมควรเพื่อให้การค้าและธุระกิจได้อาศัยหลักที่มั่นคงและให้การครองชีพอยู่ในระดับดียิ่งกว่าปัจจุบัน

๒. การต่างประเทศ

             ในทางต่างประเทศรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเคารพและจะได้ปฏิบัติตามซึ่งบรรดาความผูกพันธ์ทางสัญญา ต้องการความเป็นมิตรแก่นานาประเทศทั่วไปสนับสนุนองค์การสหประชาชาติและจะร่วมมืออย่างจริงใจในกิจการต่าง ๆ ขององค์การที่กล่าวนี้

๓. การสาธารณสุข

               ๑) จะจัดให้วุฒิและสมรรถภาพของแพทย์ดีขึ้นโดยขยายการศึกษาเพิ่มเติมในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางสาธารณสุขหรือส่งไปเรียนเพิ่มเติมต่างประเทศ

               ๒) จะเร่งสร้างโรงพยาบาลให้แก่จังหวัดที่ขาดอยู่และจะจัดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำภาคเพื่อเป็นพี่เลี้ยงโรงพยาบาลประจำจังหวัด และจะได้กระจายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกภูมิภาคบ้างส่วนโรงพยาบาลของเทศบาลต่าง ๆ นั้นจะได้ปรับปรุงเพื่อให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

                ๓) มารดาและทารกสงเคราะห์เป็นข้อสำคัญอันหนึ่งในความเจริญของชาติจึงจะต้องขยายงานด้านนี้โดยอบรมนางพยาบาลผดุงครรภ์ให้พอเพียงและขยายจำนวนสถานีมารดาและทารกสงเคราะห์ให้มากขึ้น

               ๔) จะกวดขันป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ โดยจัดหน่วยบำบัดและป้องกันโรคติดต่อเคลื่อนที่ให้มากขึ้น

๔. การทหาร

               จะได้ปรับปรุงกิจการทหารให้สอดคล้องกับการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย คือ

               ๑) จะจัดให้ทหารทั้งหมดเป็นส่วนของประเทศชาติโดยแท้จริง ทั้งไม่ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองและไม่ให้ทหารเป็นเครื่องมือของนักการเมืองใด ๆ

               ๒) จัดกำลังทหารให้เหมาะสมที่จะเป็นกำลังป้องกันความเป็นเอกราชและอธิปไตยของชาติทั้งในเวลาปกติและสงครามโดยพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่ของประเทศ

               ๓) บำรุงสมรรถภาพของผู้บังคับบัญชาทหารทุกชั้นให้สูงขึ้นในด้านวิทยาการและการปกครองบังคับบัญชา ส่วนพลทหารจะได้ปรับปรุงวิธีการให้ทหารมีความสามารถดีตามหน้าที่และใช้เวลาน้อยลงนอกจากวิทยาการตามหน้าที่โดยฉะเพาะแล้ว จะได้จัดให้มีความรู้ในวิชาชีพซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่กิจการทหาร และทางส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ ด้วย

               ๔) จัดการปกครองทหารให้เหมาะสมกับการเป็นทหารของชาติ โดยให้ทหารอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ให้ทหารได้อยู่ดีกินดี ได้รับการรักษาพยาบาลดีในเวลาเจ็บไข้ ทั้งให้ได้รับการบันเทิงเพื่อหย่อนใจในยามว่างด้วย นอกจากนี้จะได้ปรับปรุงและสนับสนุนกิจการทหารผ่านศึกให้ดำเนินไปด้วยความเหมาะสมยิ่งขึ้น

๕. การเกษตร

               ๑) จะเพิ่มการผลิตพืชผลต่าง ๆ โดยฉะเพาะข้าวอันเป็นสินค้าสำคัญของประเทศนั้น จะได้ขยายพันธุ์ข้าวที่ดีและทดลองใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มปริมาณข้าว นอกจากการทำนาด้วยวิธีประเพณีแล้วจะได้มีการทดลองทำนาด้วยเครื่องจักร

               ๒) ในการชลประทาน

                    (ก) จะได้ส่งเสริมและขยายการชลประทานท้องถิ่น และควบคุมงานให้เกิดผลดียิ่งขึ้น

                    (ข) ชลประทานหลวง จะดำเนินการตามโครงการที่มีอยู่ ส่วนภาคที่ยังไม่มีโครงการก็จะเริ่มดำเนินการวางไว้ต่อไป

                 ๓) จะส่งเสริมและขยายการเพาะพันธุ์ปลาสำหรับเป็นอาหารของพลเมืองในภาคที่ขาดอาหารคือ ภาคอีสาน และภาคเหนือส่วนการประมงทางทะเลจะได้จัดตั้งสถานีทดลองการประมงด้วยวิธีใหม่

                 ๔) จะบำรุงและรักษาพันธุ์ไม้ซึ่งใช้สำหรับเป็นสินค้า สำหรับเป็นฟืนและสำหรับเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ทั้งนี้จะได้มุ่งผลสำหรับอนาคตอันไกลเป็นที่ตั้ง

                  ๕) จะขยายจำนวนสมาคมของสหกรณ์ประเภทหาทุนให้มากขึ้น และเพิ่มการสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ ตามการก้าวหน้าของแต่ละประเภท

                  ๖) จะบำรุงส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ โดยเร่งปราบโรคระบาดสัตว์โดยกวดขันและหาทดลองปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ กับพิจารณาหาพันธุ์สัตว์ที่ดีและทนทานต่ออากาศของประเทศไทย

               ทั้งนี้ในทางวิชาการจะได้พิจารณาจัดตั้งสภาเกษตรขึ้น และร่วมมือกับองค์การเอฟ.เอ. โอ. (F.A.O.)

๖. การคมนาคม

               ๑) เกี่ยวกับการขนส่งทางบก ทางน้ำ และการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนจากสงคราม อันก่อให้เกิดความยากลำบากแก่ประชาชนผู้ใช้นั้น รัฐบาลจะขมักเขม้นจัดการบูรณะซ่อมแซม กล่าวโดยฉะเพาะคือ การรถไฟ จะได้จัดการให้เป็นผลเป็นความสะดวกแก่ประชาชนโดยเร็ว

                ๒) ส่วนในด้านการขยายงานนั้น จะรีบพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับกิจการคมนาคมที่จำเป็นยิ่งฉะเพาะหน้า เช่น การโทรศัพท์ การทาง และการท่าเรือ สำหรับคมนาคมทางอากาศจัดการให้ประเทศไทยเป็นชุมทางสายการบินในทางตะวันออกไกล

๗. การพาณิชย์

               ๑) จัดการอย่างดีที่สุดให้ประชาชนมีข้าวพอกินภายในประเทศโดยตลอดทั่วถึงกันและจะพยายามรักษาราคาให้อยู่ในระดับตามสมควร ส่วนในด้านการผูกพันกับต่างประเทศจะได้รวบรวมข้าวส่งตามข้อผูกพันโดยสมบูรณ์

               ๒) จะดำเนินการเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนลงอย่างมากที่สุด

               ๓) จะส่งเสริมการส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศไว้ใช้เพียงพอกับความต้องการ

               ๔) จะส่งเสริมการค้าภายในประเทศให้เป็นปึกแผ่นเพื่อประโยชน์ของผู้ผลิต ผู้ค้า และ
ผู้บริโภค

๘ การปกครองภายใน

               ๑) จะจัดการปราบปรามการโจรผู้ร้ายอย่างกวดขัน ในการนี้จะได้จัดระเบียบบริหารและปรับปรุงเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจให้มีสมรรถภาพยิ่งขึ้น

               ๒) ในด้านการทะนุบำรุงความสุขของราษฎร จะได้เร่งรัดจัดการให้เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ถึงมือราษฎรโดยสะดวกและทั่วถึงกัน และจะได้ปรับปรุงขยายกิจการสงเคราะห์ประชาชนในด้านการประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นและมากขึ้น อีกทั้งจะปรับปรุงขยายการสงเคราะห์คนชราคนทุพพลภาพ และเด็กอนาถา

               ๓) จะได้ปรับปรุงระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนการปกครองท้องถิ่นจะได้จัดระเบียบเสียใหม่ให้เหมาะสมเป็นผลแก่ราษฎร

๙. การศาลยุตติธรรม

               รัฐบาลนี้จะเคารพความเป็นอิสสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาอรรถคดีและสอดส่องให้กระบวนการพิจารณาในศาลดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรมเพื่อผดุงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและโดยรวดเร็วเพื่อความสะดวกของราษฎรผู้เป็นคู่ความ

๑๐. การศึกษาและการศาสนา

               รัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะอบรมจิตต์ใจของประชาชนให้เป็นพลเมืองดีแห่งระบอบประชาธิปไตยด้วยการให้การศึกษาไปในทางที่ทำให้พลเมืองรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน สามารถประกอบสัมมาอาชีพเป็นที่พึ่งแก่ตนเองและประเทศชาติส่วนรวม เพื่อการนี้จะได้

               ๑) เพิ่มจำนวนครู ทั้งปรับปรุงอาชีพครูให้เป็นอาชีพที่รายได้สมเกียรติและมีความหวังที่จะได้ก้าวหน้า กับส่งเสริมความรู้ และกวดขันวินัย และสมรรถภาพของครูให้ดียิ่งขึ้น

               ๒) บูรณะ และเพิ่มจำนวนสถานที่ศึกษา

                ๓) จัดหาหนังสือตำราเรียน และอุปกรณ์อย่างอื่น ในการให้การศึกษาอบรมให้พอเพียงตามกำลังแห่งงบประมาณโดยฉะเพาะจะได้ส่งเสริมการพลศึกษา และอนามัยของนักเรียน ทัศนศึกษาการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาอนุบาล

               ๔) ประสานงานระหว่างกระทรวงทบวงกรม และองค์การของรัฐบาลและติดต่อกับองค์การของเอกชน ในอันที่จะจัดงานอาชีพให้ผู้ที่เรียนสำเร็จอาชีวะศึกษาได้ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งตามสำควรสืบไป

               ๕) ปรับปรุงจำนวนอาจารย์ให้สมส่วนกับจำนวนผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อให้คุณภาพการสอนสูงขึ้น ทั้งให้อาจารย์และผู้สำเร็จการศึกษาชั้นบัณฑิตได้ทำการค้นคว้ามากขึ้น

                ๖) จัดให้มีโครงการบูรณะการศึกษาของชาติในรูปที่เป็นการถาวร

               ๗) บำรุงและส่งเสริมการศาสนา เพื่อให้เป็นกำลังในการอบรมศีลธรรมและจรรยาของประชาชน

๑๑. การอุตสาหกรรม

               รัฐบาลจะปรับปรุงส่งเสริมการอุตสาหกรรมให้เจริญยิ่งขึ้นโดยฉเพาะอย่างยิ่งการอุตสาหกรรมในครอบครัว ทั้งจะได้ส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการอุตสาหกรรมทั่วไป เพื่อการนี้จะได้

                ๑) จะดำเนินการสำรวจ สอบสวนและทำสถิติว่าประเทศไทยมีวัตถุดิบอะไรบ้างที่จะใช้สำหรับการอุตสาหกรรมได้ มีอยู่ที่ไหน ในฤดูกาลใด เป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด คือ สำรวจทรัพยากรธรรมชาติซึ่งจะเป็นทุนสำหรับดำเนินงานขั้นต่อไป

               ๒) จะส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่อาจเพิ่มทวีปริมาณได้ เช่น พืชและสัตว์ในการประกอบอาชีพอุตสาหกรรมให้มาก ส่วนทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่ใช้แล้วหมดไปเช่น แร่ธาตุ จะได้มีการควบคุมการใช้และการสงวนเพื่อใช้ประโยชน์โดยเต็มที่ เพราะทรัพยากรเหล่านี้มีปริมาณจำกัด และไม่อาจสร้างขึ้นใหม่ได้

               ๓) จะดำเนินการให้มีพลังงานราคาถูก เพื่อประโยชน์ของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป โดยเฉพาะจะมุ่งไปในทางให้ได้มาซึ่งพลังงานจากธรรมชาติคือ พลังงานไฟฟ้าจากน้ำตกซึ่งเป็นชีวิตจิตใจในการอุตสาหกรรมของชาติ

               ๔) กิจการอุตสาหกรรมที่เอกชนได้จัดทำอยู่แล้ว จะสนับสนุนให้เอกชนทำต่อไปโดยให้ความช่วยเหลืออุปการะเท่าที่จะช่วยได้ กิจการอุตสาหกรรมที่เอกชนประสงค์จะให้มีขึ้นใหม่ซึ่งการอุตสาหกรรมนั้นจะเป็นผลดีแก่ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติก็จะได้ให้ความสะดวกและความช่วยเหลือในการจัดตั้งขึ้นเท่าที่จะช่วยได้

               ๕) กิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรืออุตสาหกรรมซึ่งเอกชนไม่สามารถดำเนินการโดยลำพังได้ กระทรวงการอุตสาหกรรมจะเป็นฝ่ายริเริ่มให้มีขึ้นตามกำลังเงินและตามความเหมาะสม

                ๖) กิจการอุตสาหกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ในขณะนี้เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานฟอกหนัง โรงงานกระดาษ โรงงานสุรา โรงงานยาง และองค์การเหมืองแร่ จะได้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือ ให้ผลิตด้วยความประหยัด ให้ได้ปริมาณมากพอแก่ความต้องการของประชาชน ให้มีคุณภาพดีและให้มีราคาพอสมควร

               ๗) สำหรับงานอุตสาหกรรมในครอบครัวของราษฎร์ในภูมิภาคต่าง ๆ จะส่งเสริมให้มีการผลิตโดยแพร่หลาย ส่งเสริมให้ผลิตด้วยความปราณีตเพื่อรักษาฝีมือและแบบแผนอันเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาคนั้น ๆ ไว้ ส่งเสริมโดยการแนะนำให้ใช้เครื่องมือผ่อนแรงที่จำเป็นและให้ได้ปริมาณมากส่งเสริมในด้านการจำหน่ายให้ราษฎรในภูมิภาคอื่นได้มีโอกาสซื้อไปใช้เป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วยโดยเฉพาะการอุตสาหกรรมในประเภทวิจิตรงดงาม ซึ่งจะเป็นที่เชิดชูวัฒนธรรมของประเทศชาติจะได้เผยแพร่ออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย

               ๘) จะขยายและควบคุมโรงงานที่เห็นเป็นการสมควรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และจะควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เห็นเป็นความจำเป็น

               ๙) จะได้จัดตั้งสภาวิจัยแห่งประเทศไทยขึ้น เป็นองค์การส่วนรวมของนักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆเพื่อส่งเสริมการวิจัยในทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขา

               อนึ่งรัฐบาลนี้จะจัดการกับปัญหาฉะเพาะหน้าต่อไปนี้เป็นพิเศษ

    ๑)  กรณีสวรรคต

               จะได้ดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจังต่อไป

    ๒) การปราบปรามข้าราชการทุจริต

                จะได้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดโดยไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด

    ๓) การครองชีพ

                จะได้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาชนได้มีเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในการครองชีพเพียงพอและทั่วถึงในราคาอันสมควร

    ๔) สมรรถภาพของข้าราชการ

                จะได้ปรับปรุงสมรรถภาพของข้าราชการทุกกระทรวงทะบวงกรม เพื่อประโยชน์ของราษฎร์โดยแท้จริงข้าพเจ้าหวังใจว่ารัฐสภาคงจะได้รับนโยบาย

*รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ ๑/๒๔๙๑ (สามัญ) ชุดที่ ๑ วันจันทร์ที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ หน้า ๖ – ๑๔