คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๙


คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๙ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ – ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑
แถลงนโยบาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*

ท่านประธานสภาฯ และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลาย

               เนื่องจากได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ บัดนี้ข้าพเจ้าได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเสร็จแล้วดังปรากฏตามประกาศตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐จึงใคร่ขอให้สภาฯ ได้พิจารณาให้ความไว้วางใจรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา ๗๗ และมาตรา ๙๖

               เนื่องในการขอให้สภาได้พิจารณาให้ความไว้วางใจนี้ รัฐบาลขอแถลงนโยบายต่อไปเป็นรายการ

๑. การต่างประเทศ

               ในทางต่างประเทศ รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเคารพและจะได้ปฏิบัติตามซึ่งบรรดาความผูกพันธ์ทางสัญญา ต้องการจะเป็นมิตรแก่นานาประเทศทั่วไป สนับสนุนองค์การของสหประชาชาติและจะร่วมมืออย่างจริงใจในกิจการต่าง ๆ ในองค์การที่กล่าวนี้

๒. การปกครองภายใน

               ๑) จะจัดการปราบปรามโจรผู้ร้ายอย่างกวดขันในการนี้จะได้จัดระเบียบบริหารและปรับปรุงเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจเสียใหม่ให้มีสมรรถภาพยิ่งขึ้น

               ๒) ในด้านการทนุบำรุงความสุขของราษฎรจะได้เร่งรัดจัดการให้เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ถึงมือราษฎรโดยสะดวกและทั่วถึงกันและได้ปรับปรุงขยายกิจการสงเคราะห์ประชาชนในด้านการประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นและมากขึ้น อีกทั้งจะปรับปรุงขยายการสงเคราะห์คนชรา
คนทุพพลภาพ และเด็กอนาถา

               ๓) จะได้ปรับปรุงระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนการปกครองท้องถิ่นจะได้จัดระเบียบเสียใหม่ให้เหมาะสมเป็นผลแก่ราษฎร

๓. การศาลยุติธรรม

               รัฐบาลนี้จะเคารพความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาอรรถคดีและสอดส่องให้กระบวนการพิจารณาในศาลดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรม เพื่อผดุงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและโดยรวดเร็วเพื่อความสะดวกของราษฎรผู้เป็นคู่ความ

๔. การทหาร

               จะได้ปรับปรุงกิจการทหารให้สอดคล้องกับการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย คือ

               ๑) จัดให้กำลังทหารทั้งหมดเป็นส่วนของประเทศชาติโดยแท้จริง ทั้งไม่ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองและไม่ให้ทหารเป็นเครื่องมือของนักการเมืองใด ๆ

               ๒) จัดกำลังทหารให้เหมาะสมที่จะเป็นกำลังป้องกันความเป็นเอกราชและอธิปไตยของชาติทั้งในเวลาปรกติและสงคราม โดยพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่ของประเทศ

               ๓) บำรุงสมรรถภาพของผู้บังคับบัญชาทหารทุกชั้นให้สูงขึ้นในด้านวิทยาการและการปกครองบังคับบัญชา ส่วนพลทหารจะได้ปรับปรุงวิธีการให้ทหารมีความสามารถดีตามหน้าที่และใช้เวลาน้อยลงนอกจากวิทยาการตามหน้าที่โดยฉะเพาะแล้วจะได้จัดให้มีความรู้ในวิชาชีพซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่กิจการทหารและทางส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ ด้วย

               ๔) จัดการปกครองทหารให้เหมาะสมกับการเป็นทหารของชาติโดยให้ทหารอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ให้ทหารได้อยู่ดีกินดี ได้รับการรักษาพยาบาลดีในเวลาเจ็บไข้ทั้งให้ได้รับการบรรเทิงเพื่อหย่อนใจในยามว่างด้วย

               นอกจากนี้จะได้ปรับปรุงและสนับสนุนกิจการทหารผ่านศึกให้ดำเนินไปด้วยความเหมาะสมยิ่งขึ้น

๕. การพาณิชย์

               ๑) จัดการอย่างดีที่สุดให้ประชาชนมีข้าวพอกินภายในประเทศโดยตลอดทั่วถึงกันและจะพยายามลดราคาหรือรักษาราคาให้อยู่ในระดับตามสมควร ส่วนในด้านการผูกพันกับต่างประเทศจะได้รวบรวมข้าวส่งตามข้อผูกพันโดยสมบูรณ์

               ๒) จะดำเนินการเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนลงอย่างมากที่สุด

               ๓) จะส่งเสริมการส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศไว้ใช้เพียงพอกับความต้องการ

               ๔) จะส่งเสริมการค้าภายในประเทศให้เป็นปึกแผ่นเพื่อประโยชน์ของผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค

๖. การคลัง

               ๑) จะจัดระบบการคลัง (Financial System) ขึ้นใหม่ มีการคุ้มครองเงินหลวงไว้ให้มั่นคงและจ่ายได้ฉะเพาะเพื่อการที่มีกฎหมายอนุญาตให้จ่าย

               ๒) จะทำให้เงินรายรับรายจ่ายแผ่นดินเป็นดุลยภาพ ให้มีรากฐานที่จะจัดให้เงินบาทที่ค่าแน่นอนในระดับอันสมควร เพื่อให้การครองชีพของประชาชนอยู่ในระดับดียิ่งกว่าในปัจจุบัน

               ๓) ก่อให้เกิดความเชื่อถืออย่างแน่วแน่ในความมั่นคงแห่งการคลังของประเทศเพื่อมีทางส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมและกสิกรรมของชนชาวไทย

๗. การคมนาคม

               ๑) เกี่ยวกับการขนส่งทางบก ทางน้ำและการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนจากสงคราม อันก่อให้เกิดความยากลำบากแก่ประชาชนผู้ใช้นั้นรัฐบาลนี้จะขมักเขม้นจัดการบูรณะซ่อมแซมกล่าวโดยฉะเพาะ คือ การรถไฟ จะได้จัดการให้เป็นผลเป็นความสะดวกแก่ประชาชนโดยเร็ว

               ๒) ส่วนในด้านการขยายงานนั้น จะรีบพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับกิจการคมนาคมที่จำเป็นยิ่งฉะเพาะหน้าเช่น โทรศัพท์ การทาง และการท่าเรือ สำหรับคมนาคมทางอากาศรัฐบาลนี้จะจัดการให้ประเทศไทยเป็นชุมทางสายการบินในทางตะวันออกไกล

๘. การศึกษาและการศาสนา

               ๑) จะส่งเสริมการศึกษาของประชาชนให้ก้าวหน้าทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพให้เหมาะสมแก่การที่จะเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

               ๒) จะปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะกับสภาพ และความต้องการของประเทศ

               ๓) จะอบรมศีลธรรมจรรยาของนักเรียนและกวดขันวินัย

               ๔) จะจัดหาหนังสือตำราเรียนให้พอเพียงแก่ความต้องการ

               ๕) จะบำรุงและส่งเสริมฐานะครู

               ๖) จะขยายการศึกษาประเภทโรงเรียนอนุบาล

               ๗) จะส่งเสริมบำรุงการศาสนาให้วัฒนาถาวร

๙. การสาธารณสุข

               ๑) จะจัดให้วุฒิและสมรรถภาพของแพทย์ดีขึ้นโดยขยายการศึกษาเพิ่มเติมในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางสาธารณสุข หรือส่งไปเรียนเพิ่มเติมต่างประเทศ

               ๒) จะเร่งสร้างโรงพยาบาลให้แก่จังหวัดที่ขาดอยู่ และจะจัดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำภาคเพื่อเป็นพี่เลี้ยงโรงพยาบาลประจำจังหวัด และจะได้กระจายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกภูมิภาคบ้าง ส่วนโรงพยาบาลของเทศบาลต่าง ๆ นั้น จะได้ปรับปรุงเพื่อให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

               ๓) มารดาและทารกสงเคราะห์เป็นข้อสำคัญอันหนึ่งในความเจริญของชาติ จึงจะต้องขยายงานด้านนี้โดยอบรมนางพยาบาลผดุงครรภ์ให้พอเพียง และขยายจำนวนสถานีมารดาและทารกสงเคราะห์ให้มากขึ้น

               ๔) จะกวดขันป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ โดยจัดหน่วยบำบัดและป้องกันโรคติดต่อเคลื่อนที่ให้มากขึ้น

๑๐. การอุตสาหกรรม

               รัฐบาลจะปรับปรุงส่งเสริมการอุตสาหรรมให้เจริญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุตสาหกรรมในครอบครัว ทั้งจะได้ส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการอุตสาหกรรมทั่วไป

๑๑. การเกษตร

               ๑) จะได้ส่งเสริมการเกษตร ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะข้าว ฝ้ายถั่ว ในการนี้จะได้พิจารณาจัดตั้งสภาการเกษตรขึ้นเพื่อปรึกษาและให้คำปรึกษา

               ๒) จะได้จัดบำรุงและรักษาป่าและส่งเสริมการประมง เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและการที่จะผดุงรักษาไว้ให้เพิ่มพูนขึ้นในภายหน้า

               ๓) จะบำรุงการเลี้ยงสัตว์โดยเพิ่มพันธุ์สัตว์และปราบปรามโรคระบาดอย่างกวดขัน

               ๔) จะส่งเสริมการชลประทานท้องถิ่น เพื่อให้ผลของการเพาะปลูกแน่นอนขึ้น

               ๕) จะขยายการสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้วิธีการของสหกรณ์ เพื่อประโยชน์แก่ตน

               อนึ่ง รัฐบาลนี้จะจัดการกับปัญหาต่อไปนี้เป็นพิเศษ

               ๑) กรณีสวรรคต

               จะได้ดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจัง

               ๒) การปราบปรามข้าราชการทุจริต

               จะได้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดโดยไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด

               ๓) การครองชีพ

               จะได้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาชนได้มีสินค้าจำเป็นในการครองชีพเพียงพอและทั่วถึงในราคาอันสมควร

               ๔) สมรรถภาพของข้าราชการ

               จะได้ปรับปรุงสมรรถภาพของข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมเพื่อประโยชน์ของราษฎรโดยแท้จริง

               รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีนโยบายรวมใจความสำคัญโดยย่อดังได้เรียนมาแล้ว ถ้าสภา ฯ เห็นชอบด้วยก็ขอให้สมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลายได้โปรดให้ร่วมมืออย่างจริงใจบ้านเมืองไทยที่รักของเราเปรียบเหมือนคนที่เดินหลงทางมาแล้วในป่าทึบและเพิ่งจะเห็นแสงสว่างรำไรข้างหน้า ซึ่งถ้าเราทั้งหลายมีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันก็จะสามารถบุกป่าออกไปสู่ทุ่งราบที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหารได้ รัฐบาลมีความหวังเป็นอย่างมากว่า ด้วยชื่อเสียงเกียรติคุณและคุณงามความดีที่สมาชิกของวุฒิสภานี้ได้บำเพ็ญต่อบ้านเมืองมาช้านาน สมาชิกทุกท่านจะได้ให้การร่วมมือกับรัฐบาลในการเริ่มเปิดศักราชใหม่ เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติบ้านเมือง และอนาคตของลูกหลานชาวไทยต่อไป

               ท่านสมาชิกข้าพเจ้าอยากจะขอเรียนเพิ่มเติมว่าในการที่ข้าพเจ้าได้แถลงนโยบายต่อท่านนี้ก็เป็นนโยบายที่จะให้ท่านเห็นรัฐบาลปฏิบัติ เพราะฉะนั้นถ้าท่านสมาชิกจะติดใจสงสัยอย่างไร ในข้อใดกระทงใดก็ตาม ขอโปรดกรุณาได้ซักถามให้กระจ่างแจ้ง และรัฐมนตรีแต่ละท่านแต่ละกระทรวงจะได้เรียนชี้แจงต่อไป

*รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒/๒๔๙๐ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ หน้า ๒๐ – ๒๖