คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๖
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๖ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่วันที ๑๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ – ๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๙
แถลงนโยบาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ท่านประธานรัฐสภา
ด้วยตามที่ท่านสมาชิกวุฒิสภาและท่านสมาชิกสภาผู้แทนต้องการให้ข้าพเจ้ารับใช้ชาติต่อไปในยามคับขัน ข้าพเจ้าก็จำต้องสนองความต้องการของท่าน
บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ ดั่งที่ท่านได้ทราบแล้ว รัฐบาลจึ่งขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาดังต่อไปนี้
๑. แม้ว่าในขณะนี้สถานการณ์ของประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับภายใน ความยากแค้นในการครองชีพและความสงบเรียบร้อยทั่วไป เพียงเริ่มจะบรรเทาลงบ้าง แต่ก็ยังเป็นภาระหนักอยู่มิใช่น้อยซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องพยายามฝ่าฝันในอันที่จะแก้ไขปรับปรุงให้เป็นที่เรียบร้อย และเป็นผลดีเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนในส่วนรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
๒. การต่างประเทศ เนื่องจากพฤติการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการผูกไมตรีอันดีกับสหประชาชาติและนานาประเทศ ตลอดทั้งการปฏิบัติการให้เขาเกิดมีความเชื่อถือขึ้นนั้นย่อมได้รับผลดียิ่งรัฐบาลนี้จึงจะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถที่จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีตลอดทั้งความเข้าใจอันดีซึ่งมีอยู่อย่างดีกับสหประชาชาติแล้วนั้นให้ดีขึ้น และร่วมมือกับสหประชาชาติ
ตามอุดมคติซึ่งองค์การนั้นได้วางไว้ในการนี้รัฐบาลหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐสภาทั้งนี้เพราะปัญหาการต่างประเทศบางเรื่องนั้นเป็นนโยบายของชาติโดยแท้และเพื่อแสดงให้นานาชาติเห็นอกเห็นใจว่าประชาชนคนไทยทั้งหลายมีความสมัครสมานกลมเกลียวประเทศไทยตั้งอยู่ในความสงบสุขบูชาความเป็นธรรมซึ่งตรงกับหลักการของสหประชาชาตินั้นเอง
๓. การทหารรัฐบาลนี้ถือว่ากำลังทหารที่มีอยู่นั้นเป็นของประเทศชาติโดยเฉพาะและจะได้ปรับปรุงการจัดการปกครองทางทหารให้สอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตยตามที่เหมาะสมกับประเทศของเราจะได้จัดการปรับปรุงวิทยฐานะผู้บังคับบัญชาการให้มีสมรรถภาพสูงขึ้นบำรุงความสุขของทหารและให้ทหารได้อยู่ในระเบียบวินัยโดยเคร่งครัด
๔. การคลังจะจัดหาเงินโดยวิธีที่เหมาะสมเพื่อการใช้จ่ายพอสมควรของรัฐในอันจะบูรณะบ้านเมืองให้ดำเนินกลับไปสู่สภาพปกติ
จะปรับปรุงรายได้และรายจ่ายเพื่องบประมาณแผ่นดินเป็นดุลยภาพ
จะจัดหาเงินตราเสถียรภาพในระดับอันสมควรแก่ภาวะเศรษฐกิจเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้าและค่าจ้างได้กลับคืนสู่สภาพปกติ และให้การค้าและธุรกิจได้อาศัยหลักที่มั่นคงยั่งยืนสืบไป
๕. การเกษตร รัฐบาลนี้จะได้สนใจและเอาใจใส่ในเรื่องการเกษตรกรรมเป็นพิเศษจะพยายามเพิ่มพูนการผลิตข้าวให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้และจะส่งเสริมการเพาะปลูกพืชอื่นที่เป็นสินค้าของประเทศให้มีปริมาณมากขึ้น จะจัดให้มีสถานศึกษาทางปฏิบัติในวิชาการเกษตรสถานศึกษาทางปฏิบัติในวิชาการเกษตรนอกเหนือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีอยู่ในเวลานี้
เพื่ออบรมและเพาะให้เกิดกสิกรชั้นกลางขึ้น จะได้รีบเร่งการผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นกับทั้งจะเร่งบำรุงพันธุ์สัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ โค สุกร เป็ด ไก่ ให้มีปริมาณและคุณภาพมากและดียิ่งขึ้นจะได้จัดหาวิธีควบคุมแพปลา เพื่อให้การค้าของชาวประมงได้เป็นไปโดยยุติธรรม จะได้ส่งเสริมการทำยางพาราให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกทั้งจะหาพันธุ์ยางที่ดีมา
เผยแพร่แก่เจ้าของสวนยางอีกด้วยจะได้ปรับปรุงโครงการป่าไม้เสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะได้ก่อสร้างการชลประทานบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการอื่น ๆตลอดจนสนับสนุนการชลประทานท้องที่ จะส่งเสริมการสหกรณ์และจัดให้มีการสหกรณ์ขนส่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเบื้องต้นคือ การขนข้าวและสหกรณ์รูปอื่นเท่าที่สามารถจะทำได้ และจะเปิดธนาคาร
เพื่อการสหกรณ์โดยเฉพาะขึ้นและจะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ ให้มีอัตราต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้
๖. การสาธารณสุข กิจการสาธารณสุขอันกล่าวได้ว่ามีรากฐานอันสำคัญอยู่ ๔ ประการ ได้แก่การผลิตหมอ ผลิตยา รักษาและป้องกันนั้นยังเป็นผลไม่สมบูรณ์พอแก่การดั่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วรัฐบาลมีความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงเพิ่มเติมให้ได้ผลสมบูรณ์ขึ้นจนเพียงพอแก่การโดยลำดับ อาทิเช่น การผลิตแพทย์ที่เรียนสำเร็จออกจากมหาวิทยาลัย ก็จะให้ได้จำนวนมากขึ้นการผลิตยาสำหรับรักษาป้องกันโรคจะให้ได้ปริมาณและชนิดยาที่จำเป็นทวีขึ้นจนพอสำหรับใช้ สิ่งใดที่ยังขาดและไม่สามารถจะผลิตขึ้นเองได้ก็จะหาซื้อเพิ่มเติมทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ การรักษาพยาบาลซึ่งยังมีสถานที่ไม่พอเพียง โดยโรงพยาบาลยังไม่มีทั่วทุกจังหวัดก็จะได้พยายามจัดสร้างขึ้นให้ทั่วถึง ตลอดทั้งเครื่องใช้เครื่องมือ ยาลำดับต่อไปการป้องกันมิให้โรคเกิดลุกลามระบาดแพร่หลายก็จะได้มีปรับปรุงวิธีการเพิ่มกำลังงานให้เหมาะสมทั่วถึงตลอดไปตามท้องที่และจะได้จัดให้มีการจำหน่ายยาที่จำเป็นโดยแพร่หลายตามชนบทจัดเจ้าหน้าที่ทำการอบรมพลเมืองให้มีความรู้ในการรักษาสุขภาพอนามัย และวิธีป้องกันโรคโดยตนเองตามสมควร ในด้านการศึกษาก็จะได้ช่วยการสาธารณสุขโดยให้นักเรียนรับความรู้ในเรื่องรักษาสุขภาพอนามัยและการป้องกันโรคตามสมควรแก่อัตภาพด้วย
อนึ่ง โรคระบาดมีไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค ซึ่งค่อยบรรเทาเบาบางลงแล้วแต่ยังไม่สงบโดยทั่วไปนั้นรัฐบาลก็จะได้เร่งรัดการปราบปรามให้สงบลงโดยทั่วถึงและทำการป้องกันเป็นพิเศษต่อไปอีกเป็นระยะ ๒ – ๓ ปีเพื่อมิให้โรคระบาดรุนแรงขึ้นอีก ส่วนไข้มาลาเรียซึ่งมีชุกชุมอยู่ในท้องที่ต่าง ๆ นั้นรัฐบาลก็จะได้ขยายกำลังการรักษาป้องกันให้เบาบางลงโดยทำนองเดียวกัน
๗. การอุตสาหกรรมรัฐบาลจะได้ปรับปรุงกิจการภายในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีสมรรถภาพในการผลิต และจะได้ส่งเสริมการอุตสาหกรรมของเอกชนและสหกรณ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นทั้งจะดำเนินการสืบสวนค้นคว้าในทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรม กสิกรรมและพาณิชยกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อประโยชน์แก่ราชการและเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน
ในทางโลหกิจจะได้ดำเนินงานในทางวิชาการแก่การสำรวจธรณีวิทยาเพื่อค้นคว้าหาแหล่งแร่ วัตถุเชื้อเพลิงที่ใช้แทนไม้ เช่น ถ่านหิน และน้ำมัน เป็นต้นและจะช่วยเหลือผู้ทำเหมืองแร่โดยจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้อันเป็นอุปกรณ์ในการทำเหมืองเพื่อเร่งการผลิตดีบุกให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น
๘. การคมนาคม ในหลักทั่วไปรัฐบาลจะจัดการบำรุงและบูรณะการสื่อสาร ทางรถไฟ การทางและการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศให้กลับสู่สภาพก่อนสงคราม
งานใดที่สมควรจะมีโครงการไว้แน่นอนรัฐบาลก็จะได้จัดทำโครงการขึ้นให้สอดคล้องกับกำลังคนและกำลังเงินของประเทศ
๙. การพาณิชย์ ในด้านการพาณิชย์ รัฐบาลจะได้มีการพิจารณาปรับปรุงกิจการบริหารในกระทรวงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพเพื่อการพาณิชย์ ในยามปกติภายหลังสงครามทั้งจะได้ควบคุมและส่งเสริมการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจของประเทศยิ่งขึ้นและแก้ไขการครองชีพของราษฎรให้อยู่ในฐานะอันสมควรแก่กาลสมัย
ในทางการค้าภายใน
รัฐบาลนี้จะได้ส่งเสริมให้คนไทยนิยมการค้าให้เป็นล่ำเป็นสันยิ่งขึ้นและจะได้ส่งเสริมให้มีร้านสหกรณ์เปิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของชาวนาต่อไปด้วย
ส่วนในด้านการค้าต่างประเทศ
รัฐบาลจะได้ส่งเสริมและเผยแพร่สินค้าของประเทศไทยออกไปยังต่างประเทศให้เป็นที่นิยมทั้งในทางคุณภาพและปริมาณยิ่งขึ้น