คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๓
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๓ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๘๘ – ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๘
แถลงนโยบาย เมื่อวันพุธที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๘๘
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลาย
เนื่องจากได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๘ บัดนี้ข้าพเจ้าได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเสร็จแล้ว
ในการที่ข้าพเจ้าและคณะรัฐบาลนี้เข้าบริหารราชการในระหว่างที่ประเทศชาติอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายย่อมจะทราบอยู่เองว่ารัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบหนักเพียงใด แต่ถึงกระนั้นก็ดีรัฐบาลก็ขอให้คำมั่นต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะบริหารงาน ฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถจะปฏิบัติได้รัฐบาลนี้จึงขอแถลงนโยบายไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
๑. รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักปฏิบัติ
๒. รัฐบาลนี้จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ
๓. รัฐบาลนี้จะได้แยกราชการประจำกับราชการฝ่ายการเมืองออกจากกันให้เด็ดขาดเพื่อให้การปกครองได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
๔. เนื่องจากสงครามเป็นเหตุทำให้จิตใจและศีลธรรมของมนุษยชาติเสื่อมทรามลงสำหรับนโยบายภายในรัฐบาลจึงเห็นควรแก้ไขปรับปรุงในด้านจิตใจและศีลธรรมของประชาชนคนไทยรวมทั้งข้าราชการโดยจะได้ดำเนินการเป็นการด่วน
(ก) รักษาความสงบภายในให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย
(ข) ปรับปรุงและส่งเสริมสมรรถภาพของข้าราชการในการศึกษานอกจากจะพยายามแก้ไขในส่วนที่ถูกกระทบกระเทือนจากการสงครามให้สู่สภาพปกติโดยเร็วแล้วจะพยายามปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาโดยทั่ว ๆ ไปให้ดีขึ้นและจะเพ่งเล็งถึงศีลธรรมและอนามัยของนักเรียนเป็นสำคัญทั้งนี้โดยมีจุดหมายที่จะให้
(ค) ได้พลเมืองดีเหมาะสมกับชาติที่รักสงบ
๕. ในทางการคลัง
(ก) รัฐบาลจะจัดวางรากฐานแห่งการปรับปรุงรายได้รายจ่ายเสียใหม่ให้เหมาะแก่กาละเพื่อให้งบประมาณมีทางกลับเข้าสู่ดุลยภาพโดยเร็วและให้มีเงินจ่ายในการบูรณะบ้านเมืองตามสมควร
(ข) จะจัดดำเนินการในทางอันจะดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งเงินตราไทยเพื่อให้พ่อค้าประชาชนได้อาศัยหลักที่มั่นคงในการประกอบการค้าและธุรกิจต่อไป
(ค) จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาบรรดาที่รัฐบาลก่อน ๆ ได้ให้ไว้ในการกู้เงินสาธารณะ
๖. ในทางเกษตรกรรม จะพยายามส่งเสริมการเพาะปลูกการป่าไม้ การเลี้ยงสัตว์และการประมงให้มีปริมาณและคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งไม่ได้ผลดีเนื่องจากอุทกภัยและภาวะสงครามนั้นจะได้พยายามแก้ไขให้คืนดีเพื่อให้มีปริมาณเหลือพอที่จะจำหน่ายให้แก่สหประชาชาติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๗. ในส่วนที่เกี่ยวแก่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมนั้นจะได้ส่งเสริมให้ประชาชาชนได้ประกอบโดยเสรีเพื่อการนี้จะได้พยายามปล่อยการค้าและอุตสาหกรรมซึ่งรัฐบาลได้ทำอยู่บางอย่างให้ประชาชนได้ประกอบการ นั้น ๆ ต่อไปเท่าที่จะทำได้ อาทิเช่นจะได้ถอนตัวออกจากบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่เสีย
๘. ในปัญหาการครองชีพเกี่ยวกับเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งอยู่ในระดับสูงนั้นรัฐบาลจะพิจารณาและจัดการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลดน้อยลงเท่าที่สามารถจะทำได้
๙. สำหรับการสาธารณสุขโดยที่สถานะสงครามเป็นเหตุให้ขาดเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่เป็นการเพียงพอที่จะป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บรัฐบาลนี้จะพยายามจัดหาให้มีใช้กันพอเพียง
๑๐. การคมนาคม ได้แก่ ถนนหนทาง การรถไฟและการสื่อสารอื่น ๆ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมขาดการบูรณะมานั้น รัฐบาลจะได้รีบจัดการบูรณะโดยด่วน
๑๑. สำหรับนโยบายในการต่างประเทศรัฐบาลนี้จะได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ และจะได้ร่วมมือและส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับสหประชาชาติให้ดียิ่งขึ้นทั้งพร้อมที่จะร่วมมือในอันที่จะสถาปนาเสถียรภาพของโลกโดยยึดมั่นในอุดมคติซึ่งสหประชาชาติได้วางข้อตกลงไว้ ณ นครซานฟรานซิสโก
ทั้งนี้หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรคงจะให้ความไว้วางใจแก่รัฐบาลชุดนี้ด้วยดี เพื่อจะได้เข้าบริหารงานตามความในมาตรา ๕๐ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป
*รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๓/๒๔๘๘ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ วันพุธที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๘ หน้า ๘๖๒ – ๘๖๔