คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๙
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๙ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม – ๖ มีนาคม ๒๔๘๕
แถลงนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๑
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีมีนโยบายดังต่อไปนี้
ก. นโยบายทั่วไป
๑. รัฐบาลนี้จะดำเนินนโยบายทั่วไปตามหลัก ๖ ประการ คือ หลักเอกราช หลักความสงบภายในหลักเศรษฐกิจ หลักสิทธิเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา
๒.รัฐบาลนี้จะถือการครองชีพของราษฎรตามควรแก่อัตตภาพเป็นหลักสำคัญและโดยนัยนี้จึงจะพยายามให้ปวงชนชาวสยามมีความรู้ ความชำนาญและเกิดความนิยมในวิชาอาชีพ เช่น ในการเกษตร เหมืองแร่ พาณิชยการ และอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ
๓. ในกิจการที่จัดทำ รัฐบาลนี้จะพยายามให้เป็นผลแก่ราษฎรโดยเร็ว ฉะนั้นวิธีดำเนินการจึงจะได้หนักในทางปฏิบัติ
๔. สิทธิและหน้าที่อันใดที่สยามมีอยู่ รัฐบาลนี้จะพยายามใช้และปฏิบัติ
๕. ในกิจการของรัฐบาล รัฐบาลนี้จะให้ข้าราชการเคร่งครัดในวินัยและเพิ่มพูลสมรรถภาพทั้งฝ่ายวิชาการและธุระการ
๖. ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน รัฐบาลนี้จะเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแต่ในเวลาเดียวกัน ประชาชนก็จะต้องเคารพต่อกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญด้วย
๗. รัฐบาลนี้จะถือความกลมเกลียวประสานงานในระหว่างกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการต่าง ๆ เป็นสำคัญ
๘. รัฐบาลนี้จะดำเนินการให้รัฐและราษฎรมีความสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะปลูกและส่งเสริมภราดรภาพในระหว่างข้าราชการกับราษฎร ให้มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น
ข. นโยบายสำหรับกระทรวง
๑. กระทรวงกลาโหม
รัฐบาลจะบำรุงกำลังกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้มีความเข้มแข็งพอควรแก่การป้องกันอิสสรภาพและสิทธิของประเทศชาติ การบำรุงนี้จะพยายามทำทั้งในคุณภาพและปริมาณ
๒. กระทรวงการคลัง
(๑) จะจัดการปรับปรุงภาษีอากรให้ยุตติธรรมแก่สังคม ส่วนเงินรัชชูปการนั้นจะยกเลิก
โดยหาเงินรายได้ทางอื่นมาชดเชย
(๒) จะจัดให้มีเครดิตหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามกำลังของประเทศที่จะทำได้
(๓) จะรักษาความมั่นคงแห่งเงินตราตามกฎหมาย
(๔) จะกำหนดปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล
๓. กระทรวงการต่างประเทศ
รัฐบาลนี้จะส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศซึ่งมีอยู่แล้วเป็นอย่างดีนั้นให้สนิทสนมยิ่งขึ้นโดยทั่วกัน
๔. กระทรวงเกษตราธิการ
(๑) จะบำรุงพืชผลพื้นเมืองตลอดถึงสัตว์ ให้มีคุณภาพและปริมาณเป็นสินค้าสำคัญขึ้นโดยวิธีเช่นปราบโรคร้ายต่าง ๆ ควบคุมและสงวนพันธุ์สัตว์ป่าและจัดวางระเบียบด่านกักและตรวจสัตว์ที่ส่งไปขายต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น จัดการบำรุงหนองและบึงให้เป็นที่เพาะและแพร่พันธุ์ปลา และส่งเสริมการประมงทางทะเลด้วย
(๒) ในการชลประทาน จะทำงานก่อสร้างที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ และจัดวางโครงการชลประทานต่อไปในภาคใดยังไม่สามารถจัดวางโครงการใหญ่ได้ ก็จะจัดวางโครงการย่อยตามลำดับความจำเป็น
(๓) จะปรับปรุงวิธีการบำรุงและรักษาป่าไม้ให้เป็นผลดียิ่งขึ้นทั้งในคุณภาพและปริมาณ
(๔) จะขยายการสหกรณ์กู้ยืมและจัดตั้งสหกรณ์รูปอื่น สุดแต่ความจำเป็นก่อนหลัง
๕. กระทรวงธรรมการ
(๑) สามัญศึกษาจะพยายามจัดให้การศึกษาภาคบังคับให้ขยายออกไปตามประสงค์ของพระราชบัญญัติประถมศึกษาและเร่งรัดคุณภาพให้ดีขึ้นด้วยการบำรุงอุปกรณ์ของโรงเรียนและฐานะของครูในภาคนอกบังคับก็จะจัดให้มีการศึกษาถึงมัธยมบริบูรณ์ทั่วทุกจังหวัด จะสนับสนุนโรงเรียนราษฎร์ให้
ทวีทั้งจำนวนและคุณภาพ
(๒) อาชีวะศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จะจัดให้มีการศึกษาอาชีพประเภทต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่นเหมาะสมแก่ท้องที่ตามลำดับความจำเป็น โดยหนักในทางปฏิบัติ
(๓) การศึกษาภาคผนวก จะพยายามจัดให้ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือได้รับการศึกษาจนอ่านออกเขียนได้และเข้าใจหน้าที่ของพลเมือง
(๔) จะปรับปรุงอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและปริมาณยิ่งขึ้น จะจัดเพิ่มแผนกวิชาขึ้นตามความจำเป็น
(๕) จะจัดให้การพลศึกษาแพร่หลายในโรงเรียนทั่วไป ตลอดถึงประชาชนให้เป็นประโยชน์ทั้งทางกายและทางใจ
(๖) จะรักษาและส่งเสริมศิลปกรรมไทยเพื่อเชิดชูเกียรติและวัฒนธรรมของชาติจะใช้ศิลปกรรมเป็นอุปกรณ์การอบรมประชาชนทั้งในทางความรู้และคุณภาพทางใจ
(๗) ในทางศาสนา จะปรับปรุงพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ให้สมกาลสมัยและจะอุปถัมภ์การศาสนาตามความประสงค์แห่งรัฐธรรมนูญ
(๘) เพื่อปลูกฝังหลักธรรมและแนววัฒนธรรมตั้งแต่เยาว์วัย จะดำเนินการขจัดเหตุที่ก่อให้เกิดการละเมิดศีลธรรมในยุวชน
๖. กระทรวงมหาดไทย
(๑) ความปลอดภัยของประชาชน ในเรื่องโจรผู้ร้ายและการละเมิดอันเป็นอาญาอื่น ๆ จะจัดการป้องกันและปราบปรามโดยกวดขันเพื่อการนี้จะให้ตำรวจเข้ารับหน้าที่การสอบสวนจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองโดยลำดับและปรับปรุงกฎหมายในเรื่องนี้กับทั้งจะได้เพิ่มจำนวนและปรับปรุงสมรรถภาพของตำรวจและอัยการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
(๒) การราชทัณฑ์ จะปรับปรุงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้งในทางจำนวนและคุณภาพตลอดจนจัดตั้งเรือนจำพิเศษ เพื่อให้การปฏิบัติต่อนักโทษเข้าสู่มาตราฐานอันควรยิ่งขึ้น และจะขยายการอบรมทางธรรมจรรยา วิชาสามัญและวิชาอาชีพให้หนักไปในทางใช้แรงงานเพื่อประโยชน์แก่การอบรมจะดำเนินการจัดตั้งทัณฑนิคมสำหรับนักโทษที่ประพฤติตัวดีเพื่อปลูกฝังการอาชีพอันจะเป็นผลในทางป้องกันการกระทำผิดและเป็นการสงเคราะห์ผู้พ้นโทษตามสมควร
(๓) การปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นจะปรับปรุงกฎหมายและระเบียบแบบแผนการปกครองส่วนภูมิภาคให้รัดกุมยิ่งขึ้น ทั้งจะปรับปรุงคุณภาพของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเพื่อประโยชน์ในการบำรุงส่งเสริมสวัสดิภาพ ความสะดวก และการประกอบอาชีพของราษฎรและอบรมสั่งสอนพลเมืองให้มีศีลธรรมอันดี
ในส่วนการปกครองท้องถิ่นนั้น จะขยายการเทศบาลออกไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ และจะปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเทศบาลให้เหมาะสม
(๔) การสาธารณสุข จะจัดให้มีสถานพยาบาลพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนภูมิภาค เพื่อให้ราษฎรในชนบทได้รับความสะดวกในการบำบัดโรค จะขยายการส่งเสริมสุขาภิบาลตามชนบท และเพิ่มหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ให้มากขึ้น ส่วนการสาธารณสุขในเขตเทศบาล ก็จะส่งเสริมให้ดำเนินไปด้วยดี
(๕) การทางและการสาธารณูปโภค จะเร่งรัดการก่อสร้างทางสายต่าง ๆ ตามโครงการสร้างทางของราชอาณาจักร และสนับสนุนให้มีทางของท้องถิ่นขึ้น เพื่อเชื่อมการคมนาคมในระหว่างอำเภอและตำบลต่าง ๆทั้งจะได้บำรุงรักษาทางที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งการบูรณะทางเกวียนให้อยู่ในสภาพที่จะเป็นประโยชน์แก่การจราจรและจะได้เปิดโอกาสให้ราษฎรได้รับผลจากอาชีพในการทำงานก่อสร้างนี้ด้วย
ในการสาธารณูปโภคนั้น จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร เครื่องมือในองค์การของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือในการเงินที่จะกู้ยืมใช้เป็นทุน
ในการวางผังเมือง จะจัดการออกแบบและแนะนำช่วยเหลือแก่เทศบาลและชุมนุมชน
๗. กระทรวงยุตติธรรม
รัฐบาลจะรักษาฐานะของผู้พิพากษาตามควรแก่อิสสระที่มีในการพิจารณาคดีและจะได้สอดส่องให้กระบวนพิจารณาในศาลได้ดำเนินไปโดยเร็วตามสมควร
๘. กระทรวงเศรษฐการ
(๑) จะบำรุงอาชีพของพลเมืองโดยวิธีเช่น หาตลาดสินค้าไทยภายนอกประเทศ และพยายามให้ใช้สินค้าไทยภายในประเทศ
(๒) จะปรับปรุงสินค้าสำคัญบางอย่างของประเทศ เช่น ข้าวและหาวิธีจัดการค้านั้นให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
(๓) จะส่งเสริมการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ให้เป็นประโยชน์และสะดวกยิ่งขึ้น โดยเพิ่มสายรถไฟใหม่บางตอน ปรับปรุงค่าระวางรถไฟ เปิดท่าเรือในที่สำคัญ และขยายสายการบินให้มากขึ้น
(๔) จะส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
(๕) จะบำรุงอุตสาหกรรมพื้นเมือง และจัดการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมในส่วนความปลอดภัย
(๖) จะขยายการสื่อสาร และการโทรศัพท์ทางไกลในประเทศ จัดตั้งสถานีวิทยุในเมืองที่ที่สำคัญและขยายเครื่องกระจายเสียงทางวิทยุให้มีมากขึ้น
(๗) จะปลูกนิสัยออมทรัพย์แก่ประชาชน โดยวิธีส่งเสริมการคลังออมสินและวิธีอื่น ๆ ที่จะทำให้สำเร็จผลในเรื่องนี้
กิจการของประเทศชาติจะสำเร็จได้ตามนโยบายที่แถลงมาแล้วนี้ก็ต้องอาศัยการร่วมมือกันทุกฝ่ายรัฐบาลนี้จึงหวังใจว่าสภาผู้แทนราษฎรจะร่วมมือกับรัฐบาล โดยให้ความไว้วางใจตามมาตรา๕๐ แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อรัฐบาลคณะนี้จะได้ดำเนินการบริหารตามนโยบายนี้ต่อไป
*รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓/๒๔๘๑ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๓ วันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑ หน้า ๑๘ – ๒๕