คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๘
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๘ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๐ – ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑
แถลงนโยบาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๐
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
รัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะดำเนินการก้าวหน้าต่อไปตามหลัก ๖ ประการในการประดิษฐานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม คือ หลักเอกราช ๑ หลักความสงบภายใน ๑ หลักเศรษฐกิจ ๑หลักสิทธิเสมอภาค ๑ หลักเสรีภาพ ๑ และหลักการศึกษา ๑
หลักสิทธิเสมอภาค และหลักเสรีภาพนั้น ได้รับผลสำเร็จแล้วตามความในรัฐธรรมนูญ
หลักเอกราช
หลักเอกราชได้วางไว้ ๓ ประการ คือ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางการศาล
ในการเมือง รัฐบาลจะได้ดำเนินการแก้ไขสัญญาเพื่อปลดเปลื้องข้อผูกมัดจำกัดเสรีภาพให้เสร็จสิ้นไปและจะผดุงฐานะของสยามให้เป็นที่นิยมนับถือในนานาประเทศทั้งนี้โดยการส่งเสริมทางพระราชไมตรีให้ดีไว้กับนานาประเทศ
ในราชการทหาร รัฐบาลจะได้บำรุงกำลังกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศให้มีความมั่นคงเข้มแข็งเหมาะแก่ฐานะที่มีหน้าที่ป้องกันราชอาณาจักร
ในทางเศรษฐกิจ จะได้กล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจ ในที่นี้จะได้กล่าวเฉพาะการคลังซึ่งรัฐบาลถือนโยบายงบประมาณดุลยภาพ และคงรักษาค่าแห่งเงินตราตามพระราชบัญญัติที่ใช้อยู่ในเวลานี้ส่วนภาษีอากรที่สำคัญนั้นจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงในปี พ.ศ. ๒๔๘๑
ในทางศาลยุติธรรมรัฐบาลจะได้รักษาฐานะของผู้พิพากษาตามสมควรแก่อิสระที่ย่อมมีในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมายและจะได้สอดส่องส่งเสริมให้ศาลได้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาและบังคับคดีไปโดยเร็วตามสมควร เพื่อมิให้ราษฎรต้องเสียเวลาเกินกว่าจำเป็น
หลักความสงบภายใน
๑. การรักษาความสงบภายใน
ในเรื่องโจรผู้ร้ายจะจัดการป้องกันและปราบปรามโดยกวดขัน ทั้งนี้ ประสงค์จะให้หนักไปในทางป้องกัน โดยจะได้ปรับปรุงหน้าที่การปราบปรามให้เหมาะสมแล้วให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้มีโอกาสในการทำนุบำรุงท้องถิ่นให้เจริญ อบรมสั่งสอนพลเมืองให้มีศีลธรรมอันดีอำนวยความสะดวกและความปกติสุข ตลอดจนส่งเสริมสวัสดิภาพและการอาชีพของราษฎรให้ได้ผลแท้จริงยิ่งขึ้น
ส่วนในการปราบปรามนั้น จะได้ปรับปรุงสมรรถภาพของเจ้าหน้าที่ให้เข้มแข็งประสานงานระหว่างตำรวจส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคให้ร่วมมือกันด้วยดีเพิ่มกำลังปราบปรามทั้งในปริมาณและคุณภาพให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่นใช้ตำรวจสมัครที่ผ่านโรงเรียนตำรวจ ซึ่งจะได้จัดตั้งขึ้นในภาคต่าง ๆ เข้าประสม
๒. การปกครองลักษณะเทศบาล
รัฐบาลนี้จะส่งเสริมและดำเนินการให้วิธีการปกครองลักษณะเทศบาลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดย
ก. ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการเทศบาลให้เหมาะสมและประสานกับการปกครอง
ส่วนภูมิภาค
ข. ขยายการจัดตั้งเทศบาลออกไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ โดยลำดับ
ค. ช่วยเหลือเทศบาลในการสาธารณูปโภค โดยจัดให้มีเงินก้อนสำหรับกู้ยืมและมีเจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินกิจการ ตลอดจนบำรุงรักษาให้ถาวร
๓. การราชทัณฑ์
จะได้ส่งเสริมกิจการตามที่รัฐบาลชุดก่อนได้แถลงนโยบายและปฏิบัติไปแล้วนั้นให้เป็นผลบริบูรณ์ยิ่งขึ้นคือ การอบรมในทางธรรมจรรยาแก่ผู้ต้องขัง การจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพเพื่อกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้ายกับการจัดโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก นอกจากนี้จะได้ดำเนินการต่อไปอีก ดังนี้
ก. แบ่งแยกประเภทของเรือนจำ และจัดตั้งเรือนจำพิเศษขึ้น เพื่อให้การปฏิบัติต่อนักโทษบางประเภทได้เข้าสู่มาตราฐานอันควร
ข. ปรับปรุงสมรรถภาพของเจ้าพนักงานเรือนจำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ค. จัดให้มีการสงเคราะห์ผู้ที่พ้นโทษไปแล้ว เพื่อป้องกันการประทุษกรรมขึ้นอีก
๔. การสาธารณสุข
ก. การบำบัดโรค จะได้จัดให้มีสถานพยาบาลขึ้นตามภูมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการบำบัดโรคยิ่งขึ้น ทั้งจะได้ขยายให้มีผู้ช่วยแพทย์ตามตำบลต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาล
ข. การสงเคราะห์มารดาและเด็ก จะจัดให้มีนางสงเคราะห์ประจำตามสุขศาลาในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อทำการสงเคราะห์มารดาและเด็ก กับจัดให้มีการอบรมสั่งสอนผู้ประกอบโรคศิลป์ในสาขาการผดุงครรภ์ตามชนบทต่าง ๆ
ค. การควบคุมโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ จะได้ขยายงานควบคุมไข้จับสั่น โรคเรื้อน โรคจิตคุดทะราด วัณโรค และโรคติดต่อซึ่งเกิดแก่ลำไส้ เช่น ไข้รากสาดน้อย อหิวาตกโรค และโรคบิด
ง. การสาธารณสุขทั่วไป จะจัดการให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการสาธารณสุขในชนบท นอกจากนี้จะช่วยส่งเสริมการสาธารณสุขในเขตเทศบาลให้ดำเนินไปด้วยดี
๕. ทางการ
รัฐบาลจะได้เร่งรัดจัดสร้างทางตามโครงการสร้างทางทั่วราชอาณาจักรของรัฐบาลชุดก่อนโดยมีทุนสำรองสร้างทาง
รัฐบาลจะได้สนับสนุนให้มีทางท้องถิ่น เพื่อเชื่อท้องที่ภายในจังหวัดหนึ่ง ๆ
นอกจากนี้จะได้วางระเบียบการสร้างที่ชุมนุมชน เมือง และนคร โดยออกกฎหมายว่าด้วยผังเมืองและจัดให้มีเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือในการนี้กับจะช่วยเหลือเทศบาลหรือที่ชุมนุมชนได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการก่อสร้างอาคารอีกด้วย
หลักเศรษฐกิจ
ในหลักเศรษฐกิจของชาติ รัฐบาลมีโครงการที่จะส่งเสริมอาชีพของพลเมืองให้หนักไปในทางกสิกรรมพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ตามลำดับความสำคัญเพื่อก่อให้เกิดกำลังทรัพย์อันจะเป็นทางนำมาซึ่งความสมบูรณ์พูนสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ
โครงการใดที่จะจัดทำขึ้นจะอยู่ในกำหนดดังต่อไปนี้
๑. จักเคารพต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคลภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดกฎหมาย
๒. จักเคารพต่อสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศ
๓. จักคำนึงถึงความจำเป็นของประเทศตามภาวะที่เป็นอยู่ และจะถือเอาประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นใหญ่
๔. กิจการบางอย่างที่เป็นสาธารณูปโภค รัฐบาลอาจเข้าควบคุมตลอดจนร่วมทุนร่วมงานกับบริษัทหรือเอกชนเป็นรูปบริษัทสาธารณะ บางอย่างสมควรจะจัดทำเองก็จะจัดทำ
๕. กิจการที่ไม่เป็นสาธารณูปโภค จะปล่อยให้พลเมืองทำกันเอง นอกจากสิ่งใดเป็นของสำคัญสำหรับชาติ รัฐบาลจะเป็นผู้นำทำหรือสนับสนุนหรือเข้าร่วมมือด้วย เมื่อเห็นว่าควรจะปล่อยได้ก็จะได้ปล่อยให้บริษัทหรือเอกชนดำเนินการต่อไป
ในการเกษตรนั้น รัฐบาลเพ่งเล็งถึงการบำรุงส่งเสริมสินค้ากสิกรรมที่ได้ทดลองจัดทำแล้วให้มีคุณภาพและปริมาณเป็นสินค้าสำคัญขึ้น โดยมุ่งประสงค์จะชักชวนและอบรมพลเมืองให้เห็นคุณค่าของการเพาะปลูกพืชที่เป็นประโยชน์ และเตรียมการที่จะขยายงานเพื่อฟื้นฟูอาชีพของราษฎรให้กว้างขวางต่อไป
กิจการที่จะกระทำ
การเกษตร
๑. จะจัดการสำรวจดินในท้องที่ต่าง ๆ ว่าเหมาะแก่การปลูกพืชชนิดใดบ้าง เมื่อได้ทำการทดลองปลูกพืชที่เห็นว่าเหมาะแก่พื้นที่นั้น ๆ และเห็นลู่ทางที่จะบังเกิดผลสมประสงค์ก็จะได้แนะนำชักจูงราษฎรบำรุงพื้นดินเพื่อให้การเพาะปลูกพืชนั้น ๆ ได้ผลเท่าที่ควรจะได้
๒. จะขยายสถานีทดลองการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ให้แพร่หลายออกไป
๓. จะจัดทำและบำรุงหนอง บึง ที่ได้สำรวจแล้ว ให้เป็นที่เพาะและขยายพันธุ์ปลาและจะบำรุงส่งเสริมการประมงทางทะเล เพื่อให้กิจการเป็นสมรรถภาพยิ่งขึ้น
๔. จักทำงานก่อสร้างทางชลประทานที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ และจัดวางโครงการชลประทานต่อไปตามกำลังทรัพย์และความจำเป็น และประสานการขนส่งของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกและการค้าให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น
๕. จัดวางระเบียบการจับจองที่ดิน ที่ได้รับการบำรุงจากทางราชการแล้วให้เป็นไปเพื่อการเพาะปลูก และเหมาะสมแก่อัตตภาพของบุคคล
๖. ส่งเสริมและอบรมคนไทยให้เกิดความรู้ ความชำนาญ และความนิยมในการอุตสาหกรรมเหมืองแร่
๗. ปรับปรุงวิธีการบำรุงและรักษาป่าไม้ในทางปริมาณและคุณภาพตามหลักวิธีการป่าไม้
๘. ขยายสหกรณ์กู้ยืม และจัดตั้งสหกรณ์รูปอื่นขึ้น สุดแต่ความจำเป็นก่อนหลังตามกำลังทรัพย์และสมรรถภาพขององค์การนั้น ๆ
๙. จัดตั้งเครดิตสถานกลาง เพื่อเป็นแหล่งจัดหาทุนสำหรับการสหกรณ์
เศรษฐกิจ
๑. ก่อให้เกิดกำลังทรัพย์ กำลังเงิน โดยขยายการเพาะปลูกและการทำเหมืองแร่ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
๒. พิจารณาปรับปรุงสินค้าสำคัญ ๆ ของประเทศ
๓. ส่งเสริมราษฎรให้นิยมอาชีพการค้า และหาช่องทางให้ราษฎรได้ทำการค้ามากขึ้น
๔. หารายได้เข้าสู่ประเทศ
๕. สร้างโรงงานบางอย่างขึ้น เพื่อทำวัตถุดิบภายในให้สำเร็จรูป และเพื่อสนับสนุนวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วให้เจริญอยู่หรือให้เกิดเพิ่มขึ้น
๖. แก้ไขการขนส่งทางบก ทางน้ำ ให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น พิจารณาหาทางออกให้แก่สินค้าหลาย ๆ ทาง ตลอดจนนำสินค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศ
๗. ส่งเสริมสมรรถภาพของการรถไฟ
๘. ขยายการสื่อสาร และให้ความสะดวกสำหรับการนี้มากขึ้น
๙. จัดหาตลาดให้แก่สินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ
๑๐. เพาะปลูกนิสัยออมทรัพย์ให้เกิดแก่ราษฎร
หลักการศึกษา
ในการจัดการศึกษานั้น รัฐบาลจะได้ให้การศึกษาเพื่อยังผลให้เกิดการครองชีพสมควรแก่อัตตภาพและเป็นกำลังแห่งประเทศชาติตามแนวทางดังต่อไปนี้
๑. สามัญศึกษาจะได้พยายามจัดให้การศึกษาภาคบังคับให้ขยายแผ่ออกไปตามความประสงค์ของพระราชบัญญัติประถมศึกษาและเร่งรัดคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นด้วยการบำรุงอุปกรณ์ของโรงเรียนและฐานะแห่งครูในภาคนอกบังคับก็จักได้จัดให้มีการศึกษาถึงมัธยมบริบูรณ์ทั่วทุกจังหวัดรัฐบาลจะได้สนับสนุนโรงเรียนราษฎรให้ทวีขึ้นทั้งจำนวนและคุณภาพตามแผนการศึกษา
๒. อาชีวะศึกษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง รัฐบาลจะได้จัดให้มีสถานศึกษาการอาชีพประเภทต่าง ๆให้เป็นปึกแผ่นตามความเหมาะสมแก่ท้องถิ่นตามลำดับความจำเป็น โดยหนักไปในทางปฏิบัติ
๓. การศึกษาภาคผนวก รัฐบาลจะได้จัดให้ผู้ที่ไม่รู้หนังสือได้รับการศึกษาจนอ่านออกเขียนได้ และเข้าใจหน้าที่ของพลเมือง
๔. จะปรับปรุงอุดมศึกษาให้มีจำนวนและคุณภาพยิ่งขึ้น จะจัดให้มีแผนกวิชาเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น
๕. จะได้จัดให้การพลศึกษาแพร่หลายในโรงเรียนทั่วไปตลอดจนประชาชนและให้ผลแห่งการพลศึกษานี้ได้เป็นประโยชน์ทั้งทางกายและทางใจ
๖. จะรักษาและส่งเสริมศิลปกรรมของไทย เพื่อให้เป็นที่เชิดชูเกียรติและวัฒนธรรมของชาติและจะใช้ศิลปกรรมเป็นอุปกรณ์ในการอบรมประชาชนทั้งในทางความรู้และคุณภาพทางใจจะใช้ศิลปกรรมให้เป็นอุปกรณ์การเศรษฐกิจแห่งชาติ
๗. ในทางศาสนา จะได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ให้สมแก่กาลสมัยและจะอุปถัมภ์การศาสนาตามความประสงค์แห่งรัฐธรรมนูญ
๘. เพื่อส่งเสริมศีลธรรมของประชาชน รัฐบาลจะได้ปลูกฝังหลักธรรมและแนววัฒนธรรมตั้งแต่เยาว์วัย และดำเนินการขจัดเหตุที่ก่อให้เกิดการละเมิดศีลธรรมในยุวชน
๙. จะส่งเสริมให้ได้ผลในสมรรถภาพทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายธุรการ เพื่อให้การศึกษาดังกล่าวแล้วบรรลุถึงจุดหมายโดยเร็ว
ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปตามแผนนโยบายที่แถลงมานี้ได้ ก็ด้วยอาศัยกำลังเงิน กำลังคนและความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างประชาชนชาวสยามทั้งมวล นับแต่องค์พระประมุข คณะสงฆ์ ข้าราชการตลอดจนอาณาประชาราษฎร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ได้รับมอบหมายให้มาช่วยกันบำรุงชาติให้เจริญรุ่งเรืองในวิถีรัฐธรรมนูญรัฐบาลจึงขอความช่วยเหลือร่วมมือของสภาผู้แทนราษฎร ตามแผนนโยบายที่แถลงมานี้ และขอความไว้ใจของสภาผู้แทนราษฎรตามความในมาตรา ๕๐
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามด้วย
*รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓/๒๔๘๐ (สามัญ) สมัยที่ ๒ ชุดที่ ๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ หน้า ๒๔ – ๓๔