คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๖
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๖ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๗๗ – ๘ สิงหาคม ๒๔๘๐
แถลงนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๗
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*
รัฐบาลนี้มีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ปวงชนชาวสยามทุกเหล่าทุกชั้น ตั้งแต่พระมหากษัตริย์คณะสงฆ์ สภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล ตลอกจนอาณาประชาราษฎรได้รวมกันเป็นสมานฉันท์ตั้งมั่นอยู่ในระบอบรัฐธรรมนูญเป็นปึกแผ่นหนาแน่นด้วยความสามัคคี เพราะรัฐบาลนี้เชื่อตระหนักว่าการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะนำมาซึ่งความวัฒนาถาวรของประเทศชาติสืบต่อไป
ในการประดิษฐานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามขึ้นนั้น ได้อาศัยหลัก ๖ ประการเป็นมูลฐานที่ตั้ง ได้แก่ หลักเอกราช ๑ หลักความสงบภายใน ๑ หลักเศรษฐกิจ ๑ หลักสิทธิเสมอภาค ๑ หลักเสรีภาพ ๑ และหลักการศึกษา ๑ หลักสิทธิเสมอภาคและหลักเสรีภาพนั้น ได้รับผลสำเร็จแล้วตามความในรัฐธรรมนูญ
หลักเอกราช
ในส่วนหลักการเอกราชนั้น ยังมีข้อสัญญาผูกมัดจำกัดอิสระภาพอยู่บ้างในทางศาลและภาษีศุลกากร ซึ่งรัฐบาลจะได้ถือโอกาสขอเจรจาแก้ไขในเวลาอันสมควร ในส่วนประมวลกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งยังมิได้ประกาศใช้โดยครบถ้วนนั้น รัฐบาลจะได้จัดร่างพระราชบัญญัติวางระเบียบข้าราชการตุลาการทั้งตั้งกรรมการตุลาการขึ้นเพื่อสนับสนุนและควบคุมฐานะตุลาการ และจัดตั้งกรรมการวางระเบียบศาลต่าง ๆ ตลอดจนการงานในกองรักษาทรัพย์และกองหมายด้วย ในการทหารนั้นรัฐบาลนี้จะได้บำรุงกำลัง
กองทัพบกกองทัพเรือและกำลังทางอากาศให้มีความมั่นคงเข้มแข็งเหมาะแก่ฐานะที่มีหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาจักร ทั้งนี้โดยมุ่งหวังจะให้ประเทศชาติดำรงอยู่โดยสันติสุงและอิสระภาพทุกประการ
หลักความสงบภายใน
ในส่วนหลักความสงบภายในนั้น รัฐบาลมีนโยบายดังต่อไปนี้
๑. การรักษาความสงบภายใน
ในเรื่องโจรผู้ร้ายจะจัดการป้องกันและปราบปรามโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อเพิ่มกำลังตำรวจให้มีปริมาณและคุณภาพยิ่งขึ้น จัดการคมนาคมให้สะดวก แก้ไขเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และอบรมสั่งสอนพลเมืองให้มีศีลธรรมอันดีงาม รวมทั้งส่งเสริมให้วิธีการปกครองโดยเทศบาลได้ผลจริงจังอีกด้วย
๒. การปกครองลักษณะเทศบาล
รัฐบาลนี้จะส่งเสริมและดำเนินการที่จะจัดตั้งเทศบาลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยลำดับดังนี้
(ก) ในปีนี้จะได้จัดตั้งให้มีสภาจังหวัด โดยจะพยายามเลือกคัดผู้มีอาชีพต่าง ๆ ให้เข้าอยู่
ในสภานี้
(ข) จะได้จักเปลี่ยนฐานะสุขาภิบาลที่มีอยู่เป็นเทศบาลภายในปีนี้
(ค) จะได้จัดแยกงบประมาณส่วนภูมิภาคได้ตั้งเป็นงบประมาณทางจังหวัด
(ง) จะได้รีบเร่งอบรมที่ปรึกษาการเทศบาล เพื่อช่วยเหลือการเทศบาล
๓. การทาง
รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างทางที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างต่อไปให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้จะได้ทำทางอื่น ๆ ที่ยังไม่เรียบร้อยให้มีลักษณะดีขึ้น เพื่อความสะดวกสำหรับการคมนาคม
รัฐบาลจะได้อุดหนุนให้มีทางจังหวัดและทางเทศบาลเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการปกครอง โดยที่จะให้งบประมาณเพิ่มเติมสำหรับสร้างและบำรุงทางเหล่านี้ทั้งจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการไปช่วยดำเนินการ หรือควบคุมในการสร้างและบำรุงทางดังกล่าวนี้ด้วย
๔. การช่วยเหลือสุขาภิบาลหรือเทศบาลในการสาธารณูปโภค
รัฐบาลจะได้รับจัดให้มีโรงทำไฟฟ้าและการประปาในสุขาภิบาล หรือเทศบาลให้มากแห่ง
๕. การราชทัณฑ์
วิธีการราชทัณฑ์จะได้ดำเนินดังต่อไปนี้
(ก) จะได้จัดให้มีการอบรมนักโทษในทางธรรมจรรยา และสั่งสอนวิชาชีพพร้อมทั้งการฝึกฝนและจัดให้มีการทำงานที่เป็นคุณประโยชน์เพื่อสุขภาพ เพื่อปลูกฝังนิสัยและส่งเสริมวิชาชีพ
(ข) จะได้จัดระเบียบคนจรจัดให้มีที่อยู่ที่ทำกินโดยเฉพาะ พร้อมด้วยดำเนินการอบรมเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เป็นพลเมืองดีต่อไป
(ค) จะได้ปรับปรุงโรงเรียนดัดสันดานเด็กเสียใหม่ ให้การศึกษาและฝึกหัดทำงานวิชาชีพเพื่ออบรมให้เป็นพลเมืองดีต่อไป
๖. การสาธารณสุข
(ก) การบำบัดโรค จะจัดให้มีโรงพยาบาลขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ ที่จำเป็นและจัดให้มีสุขศาลาเพิ่มขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการบำบัดยิ่งขึ้น ทั้งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์สำหรับไปทำการติดต่อกับประชาชนในความควบคุมของแพทย์ตามตำบลที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลและสุขศาลาด้วย
(ข) การสาธารณสุขทั่วไป จะจัดการสาธารณสุขทั่วไปให้ดียิ่งขึ้นโดยประการต่อไปนี้
(๑) จัดร่างพระราชบัญญัติการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการสุขาภิบาลโดยทั่วไปและโดยเฉพาะเช่น ตลาด การจำหน่ายอาหารการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เป็นต้น
(๒) จัดแก้ไขพระราชบัญญัติโรคติดต่อเพื่อให้การป้องกันและระงับโรคติดต่อเป็นผลดียิ่งขึ้น
(๓) ขยายการควบคุมโรคซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเวลานี้ เช่น ไข้จับสั่น วัณโรคโรคเรื้อน และโรคจิต เป็นต้น
หลักเศรษฐกิจ
ในหลักเศรษฐกิจของชาตินั้น รัฐบาลนี้เห็นว่าจักต้องมีโครงการเพื่ออำนวยการประสานอาชีพทั่ว ๆ ไป โดยหวังประกอบผลจากกำลังทรัพย์ของประเทศให้ถึงขีดอันสูงสุด เพื่อความสมบูรณ์ ความเจริญและความมั่นคงของชาติ
โครงการเศรษฐกิจจักต้องอยู่ในวงจำกัดบางข้อ
๑. จักต้องเคารพต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคลภายใต้หลักแห่งรัฐธรรมนูญ
๒. จักต้องเคารพต่อข้อสัญญา และการติดต่อระหว่างประเทศ
๓. จักต้องคำนึงถึงความนิยมของประชาชน และให้เหมาะแก่ความจำเป็นตามภาวะที่เป็นจริง
๔. การใดที่ใหม่ จักต้องสอบสวน ทดลอง อบรมเสียก่อน เมื่อเห็นลู่ทางที่จะบังเกิดผลสมประสงค์จึงเริ่มขยายตามกำลัง
แผนดำเนินการ
๑. จัดระเบียบคณะกรรมการเศรษฐกิจให้มีหน้าที่วางโครงการดำเนินการเป็นชั้น ๆ ไปตามนโยบายนี้ และรวบรวมสถิติเพื่อกระทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจแห่งชาติให้บังเกิดผลตามความมุ่งหมาย
๒. วิธีดำเนินการจะจัดไปในทางสมานประโยชน์ซึ่งกันและกัน
๓. กิจการบางอย่างที่เป็นสาธารณูปโภค จะจัดรัฐบาลอาจเข้าควบคุม ตลอดจนร่วมทุนร่วมงานกับบริษัทหรือเอกชนเป็นรูปบริษัทสาธารณะบางอย่างสมควรจะจัดทำเองก็จะจัดทำ
๔. กิจการที่ไม่เป็นสาธารณูปโภค จะปล่อยให้พลเมืองทำกันเอง นอกจากสิ่งใดเป็นของสำคัญสำหรับชาติควรจัดทำก่อน แต่ถ้ายังไม่มีผู้เริ่มทำ รัฐบาลจะเป็นผู้นำหรือสนับสนุนหรือเข้าร่วมมือด้วย เมื่อเห็นว่าควรจะปล่อยได้ ก็จะได้ปล่อยให้บริษัทหรือเอกชนดำเนินการต่อไป
กิจการที่จะกระทำ
รัฐบาลจะพยายามแก้ไขดัดแปลงทางการทั่ว ๆ ไป ให้เจริญดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจการบางอย่างซึ่งมุ่งจะกระทำ คือ
๑. จัดการสำรวจภูมิประเทศและทรัพย์แผ่นดินทั่ว ๆ ไป โดยใช้ผู้ชำนาญตรวจให้ทราบว่าในท้องที่ใดสมควรแก่การอย่างใด
๒. ขยายสถานีทดลองการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ให้แพร่หลายออกไป
๓. จัดการสำรวจที่ดินว่างเปล่าที่ยังไม่มีเจ้าของ แล้วจัดวางระเบียบการจับจองที่ดินให้เหมาะแก่การเพาะปลูกและสมแก่อัตภาพของบุคคล
๔.จัดวางแผนส่งเสริมการชลประทานและประสานการขนส่งของประเทศเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกและการค้าให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น โดยดำเนินการเป็นชั้น ๆ ไปตามกำลังทรัพย์และความจำเป็น
๕. สำรวจสินค้าที่มีอยู่แล้วว่าสิ่งใดมีความสำคัญเพียงใด แล้วรีบบำรุงส่งเสริมให้มีคุณภาพและปริมาณให้เป็นสินค้าสำคัญขึ้น
๖. สำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อหาลู่ทางช่วยเหลือให้มีอาชีพ สมควรแก่อัตภาพ
๗. สนับสนุนการดำเนินของสินค้าจากผู้ปลูก ผู้ทำ ให้ถึงผู้กินผู้ใช้โดยทางประหยัด และพยายามหาตลาดให้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
๘. สนับสนุนและอบรมราษฎรให้เกิดความรู้ความชำนาญ และความนิยมในการค้า การกสิกรรมการอุตสาหกรรมและการสหกรณ์
๙. ขยายสหกรณ์กู้ยืมและจัดตั้งสหกรณ์รูปอื่นขึ้น สุดแต่ความจำเป็นก่อนหลังตามกำลังทรัพย์และสมรรถภาพขององค์การนั้น ๆ ซึ่งเห็นว่าจะได้รับผลอันแท้จริง
๑๐. จะจัดการส่งเสริมความเป็นอยู่ตลอดจนการศึกษา และอนามัยของกสิกรและกรรมกรด้วยดียิ่งขึ้น
หลักการศึกษา
ในหลักการศึกษานั้น รัฐบาลนี้มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้การศึกษาแก่พลเมืองทั่วไปอย่างเต็มที่ ให้ได้รับการอบรมในระบอบการปกครองตามแบบรัฐธรรมนูญ ฝึกฝนให้รอบรู้มีปัญญาความคิด รู้จักค้นคว้าหาเหตุผลโดยตนเองได้ มีจรรยา ประกอบด้วยกำลังกายและกำลังใจเป็นอันดีกับทั้งไม่ให้ละทิ้งเสียซึ่งจริยศึกษาแห่งชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของไทยมุ่งประสงค์
ให้ผู้ได้รับการศึกษาแล้วสามารถประกอบอาชีพ มีอนามัยและศีลธรรมอันดีงาม
รัฐบาลนี้จะจัดการแก้ไขปรับปรุงงานประถมและมัธยมศึกษาให้มีระดับที่ดีขยายการประถมศึกษาให้มีโรงเรียนประชาบาลอย่างน้อยตำบลละ ๑ โรงเรียนเพื่อให้ก้าวหน้าแพร่หลายได้ผลตามที่รัฐธรรมนูญต้องการ จะจัดทั้งในทางสามัญศึกษา วิสามัญศึกษา หนักไปทางเกษตรกรรมและพาณิชยการ ส่วนอุดมศึกษาจะปรับปรุงมหาวิทยาลัยให้ได้มาตราฐานกับมหาวิทยาลัยที่ดีในอารยะประเทศจะได้ขยายงานให้นักเรียนได้เข้ารับการศึกษาชั้นนี้มากขึ้น และจะบำรุงมาตราทางวิชาการให้สูงขึ้นเป็นลำดับ
รัฐบาลนี้จะจัดการให้กุลบุตรกุลธิดามีโอกาสหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ที่จะจัดได้ตามระบอบประชาธิปไตยจะบำรุงพลศึกษา หาทางให้ประชาชนได้มีโอกาสบำรุงกำลังกายและกำลังใจ และกำลังความคิดทั้งจะได้จัดหาสถานที่และอุปกรณ์การกีฬาต่าง ๆ ไว้สำหรับการนี้ ทั้งนี้เพื่ออบรมวินัยการเป็นนักกีฬาและสามัคคีธรรมในทางธรรมการก็จะส่งเสริมสมรรถภาพในการศึกษาพระปริยัติธรรมและการอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน อนึ่ง การธรรมการและการศึกษานั้น รัฐบาลถือว่าอุปการะซึ่งกันและกันจึงจะได้บำรุง
ส่งเสริมและจัดการให้ได้ประสานงานกันอย่างสนิทสนมดียิ่งขึ้น ในทางศิลปของชาติรัฐบาลนี้ก็จะส่งเสริมโดยพยายามฟื้นฟูทุกสถานเพื่อเป็นการเชิงดูวัฒนธรรมของชาติไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
เพื่อที่จะให้การศึกษาได้เป็นไปตามนโยบายนี้รัฐบาลจะปรับปรุงการงานให้รัดกุมเหมาะสมกับที่วิชาครูเป็นวิชาชีพและที่ครูจะเป็นผู้อบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาสืบไป
แผนนโยบายเกี่ยวด้วยหลัก ๖ ประการดังกล่าวแล้ว จะดำเนินไปให้เป็นผลสำเร็จได้ก็ด้วยอาศัยกำลังคนและกำลังเงินเป็นสำคัญ
รัฐบาลจึงจะปรับปรุงระเบียบราชการประจำให้ข้าราชการได้รับความอบรมในความรู้และความชำนาญพิเศษเฉพาะแผนกราชการของตนเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนให้ดำเนินไปโดยสมรรถภาพเหมาะสมแก่ความต้องการ กับทั้งจะปรับปรุงระเบียบการให้ข้าราชการได้รับผลประโยชน์ความเที่ยงธรรม และความมั่นคงตามสมควรแก่ตำแหน่งหน้าที่ด้วย
ในส่วนการเงินนั้น ประเทศสยามพร้อมด้วยประเทศอื่น ๆ ได้รับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสจากความตกต่ำแห่งเศรษฐกิจของโลก ภายในระยะเวลา ๓ ปี เท่านั้น ราคาข้าวได้ตกไปมากแต่โดยที่ราษฎรชาวสยามมีความอดทนอย่างน่าสรรเสริญและโดยที่รัฐบาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการประหยัดระมัดระวังฐานะการเงินของประเทศจึงอยู่ในภาวะที่มั่นคง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และ ๒๔๗๖ รายได้ท่วมรายจ่ายทั้ง ๒ ปีและในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้ ถึงแม้ว่าตามตัวเลขในพระราชบัญญัติงบประมาณจะปรากฎว่ารายจ่ายท่วมรายได้ก็จริงอยู่ แต่ถ้าคำนวณดูตามรายได้ซึ่งได้รับจริงใน ๕ เดือนที่แล้วมานี้ ก็น่าจะคาดคะเนได้ว่ารายได้จริงในปีนี้คงจะพอแก่รายจ่าย
ความมั่นคงในการเงินและการเงินตรานี้ รัฐบาลจะได้รักษาไว้ต่อไปเพราะถึงแม้ว่าฐานะเศรษฐกิจแห่งโลกและแห่งประเทศนี้จะดีขึ้นบ้างแล้วก็ดี ความตกต่ำก็ยังคาดหมายไม่ได้ว่าจะกลับดีขึ้นโดยเร็ว
แต่ในส่วนการบำรุงนั้น รัฐบาลจะตระหนี่เงินไม่ได้ จะต้องจัดหาเงินให้พอแก่การเพราะฉะนั้นเมื่อโครงการอันใดตามแผนนโยบายดังกล่าวได้เตรียมการพร้อมสรรพแล้ว รัฐบาลจะต้องจัดหาเงินให้จงได้รัฐบาลจะปรับปรุงการภาษีอากรให้เหมาะสมโดยไม่ประสงค์จะเพิ่มภาระในการภาษีอากรให้ตกหนักแก่ราษฎรโดยไม่จำเป็น รัฐบาลจะปรับปรุงระเบียบการคลังให้เหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย
ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติตามแผนนโยบายที่กล่าวมานี้รัฐบาลจะบริหารให้เป็นไปด้วยความสัมพันธ์กับนานาประเทศซึ่งรัฐบาลจะร่วมมือด้วยเช่นเคยกับทั้งจะได้ส่งเสริมความเข้าใจอันดีกับนานาประเทศนั้น ๆ เป็นการเจริญพระราชไมตรีให้สนิทสนมยิ่งขึ้น
รัฐบาลนี้จะดำเนินการเป็นผลสำเร็จเพียงใด ย่อมแล้วแต่พระบรมราชานุเคราะห์ขององค์พระประมุข และความช่วยเหลือร่วมมือของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดทั้งอาณาประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองสืบไปในวิถีทางรัฐธรรมนูญตามความประสงค์จำนงหมายของประชาชนชาวสยามโดยทั่วกัน
*รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๔/๒๔๗๗ (วิสามัญ) สมัยที่ ๒ วันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ หน้า ๑๗๕๖ – ๑๗๖๖