คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒


คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒ พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ – ๓๑ มีนาคม ๒๔๗๕
แถลงนโยบาย เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๕คำแถลงนโยบายของรัฐบาล*

               ว่าโดยทั่ว ๆ ไป รัฐบาลนี้รับรองหลัก๖ประการที่คณะกรรมการราษฎรได้ดำเนินการอยู่แล้วเป็นจุดที่หมายที่จะดำเนินการต่อไปให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จ

               ก่อนที่จะกล่าวถึงหลัก ๖ ประการนั้น ใคร่จะขอแสดงถึงกิจการที่คณะกรรมการราษฎรซึ่ง  เป็นรัฐบาลอยู่ก่อนวันที่ ๑๐ เดือนนี้ ได้ดำริไว้และได้ลงมือกระทำไปแล้วรัฐบาลนี้เห็นชอบด้วยในกิจการนั้น ๆ และจะดำเนินการต่อไปให้ลุล่วงตามแต่จะทำได้ ขอให้เป็นที่เข้าใจกันไว้ว่า เมื่อรัฐบาลนี้ได้รับความไว้ใจของสภาแล้ว อายุของรัฐบาลนี้จะอยู่ไปจนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อถึงเวลานั้นจะต้องลาออกกันหมดซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นในตอนต้นปีหน้าในระหว่างนี้ มีเวลา
อีกไม่กี่เดือนแต่ก็จะพยายามดำเนินการต่อไปเท่าที่สามารถจะทำได้

กิจการที่กล่าวนั้น คือ

               ๑) คณะกรรมการราษฎรเห็นว่ารูปราชการทุกกระทรวงทบวงการที่เป็นอยู่ยังมีการก้าวก่ายไม่สมแก่กาละ จึงได้คิดจัดวางโครงการเสียใหม่ คณะกรรมการราษฎรได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นพิจารณาอนุกรรมการได้ทำไปแล้วเกือบสำเร็จ ในบัดนี้รัฐบาลก็จะได้ดำเนินการต่อไปเมื่อวางรูปสำเร็จลงอย่างใดก็จะได้ทำเป็นรูปพระราชบัญญัติเสนอให้สภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

              ๒) เทศบาล รัฐบาลนี้เห็นว่าวิธีการปกครองโดยรวมอำนาจและหน้าที่การปกครองทั่วประเทศให้มาอยู่ในจุดศูนย์กลางจุดเดียวอย่างเช่นเดี๋ยวนี้   ไม่ได้ผลดีเท่ากับที่จะแบ่งอำนาจและหน้าที่ให้ไปอยู่ ในเฉพาะท้องที่เสียบ้าง เพื่อว่าการปกครองในเฉพาะท้องที่หนึ่ง ๆจะได้มุ่งอยู่ในผลประโยชน์ของท้อง ที่นั้น ๆ วิธีจัดให้มีการปกครองเฉพาะท้องที่ขึ้นก็โดยวิธีจัดให้มีผู้แทนราษฎรในท้องที่นั้น ๆจัดการกันเอง วิธีการเช่นนี้เขาทำกันอยู่แล้วในนานาประเทศเมื่อครั้งรัฐบาลเก่าความคิดเช่นนี้ก็มีอยู่จนถึงได้ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นฉบับหนึ่งแต่ว่าด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งการมิได้ลุล่วงไปรัฐบาลนี้เห็นเป็นการสำคัญจะได้จัดให้มีเทศบาล  หรือ
การปกครองท้องถิ่นขึ้นในราวต้นปีหน้า

               ๓) หน้าที่ของกรมร่างกฎหมายที่มีอยู่เวลานี้ก็เพียงร่างกฎหมายตามที่รัฐบาลจะสั่งให้ร่างอันที่จริงกรมร่างกฎหมายควรจะเปลี่ยนรูปเป็นสภาและทำงานยิ่งขึ้นไปกว่านี้คือ นอกจากร่างกฎหมายแล้วให้มีหน้าที่พิจารณาคดีปกครองด้วยวิธีนี้หลายประเทศได้ปฏิบัติกันและรัฐบาลนี้เห็นว่าประเทศสยามก็ควรจะนำเอามาใช้

              ๔) ระเบียบข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการเวลานี้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการมีอยู่แล้วรัฐบาลนี้จะได้จัดให้ดำเนินการไปโดยเคร่งครัดในการแข่งขันเข้ารับหน้าที่การงาน ทั้งการเงินเดือน เลื่อนชั้น โดยหลักวิชาความรู้ให้เคร่งครัดยิ่งขึ้นอนึ่งจะได้วางหลักแบ่งประเภทข้าราชการเสียให้ชัดแจ้งเป็น ๓ ประะเภท คือ ประเภทการเมือง ประเภทสามัญและประเภทวิสามัญ

กล่าวโดยย่อ

               ประเภทการเมือง ได้แก่ ตำแหน่งการเมือง เช่นตำแหน่งรัฐมนตรีและข้าราชการที่มีไว้สำหรับประจำตัวรัฐมนตรี ฯลฯ ข้าราชการจำพวกนี้จะเข้าถือหรือออกจากตำแหน่งได้แล้วแต่ความเป็นไป ของการเมือง กล่าวคือแล้วแต่สภานี้จะไว้ใจในรัฐมนตรีนั้น ๆ หรือไม่

               ประเภทสามัญ ได้แก่ข้าราชการประจำกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่ประจำอยู่เพื่อดำเนินราชการไปตามระเบียบและตามนโยบายที่รัฐบาลจะได้สั่งหรือกำหนดไว้ให้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง กับการเมืองข้าราชการประเภทนี้นับว่าเป็นประเภทสำคัญมากเหมือนกันเพราะว่าประเภท การเมืองนั้นเข้า ๆ ออก ๆ ตามความเป็นไปของการเมือง แต่ข้าราชการประเภทนี้จะต้องอยู่ประจำดำเนินราชการ

               ประเภทวิสามัญ ได้แก่ ข้าราชการที่รัฐบาลจ้างไว้เป็นพิเศษสำหรับข้าราชการในประเภทสามัญและประเภทวิสามัญนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองดังกล่าวแล้ว เป็นแต่จะต้องปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัดเพื่อที่จะให้ได้ผลดีข้าราชการจำพวกนั้นจะต้องได้รับความมั่นใจในความเป็นอยู่ของตนกล่าวคือ ความมั่นใจในการที่จะได้เงินเดือนเลื่อนชั้น และความมั่นคงในหน้าที่เพื่อที่จะให้ได้ความมั่นใจดั่งนี้  จำเป็นจะต้องมีระเบียบ มีหลัก มีเกณฑ์เป็นที่แน่นอน

              วิถีซึ่งจะดำเนินไปสู่หลัก ๖ ประการที่กล่าวข้างต้นนั้น คือ

๑. เอกราช

     ก. ในทางศาล เวลานี้ย่อมรู้กันอยู่แล้วว่ามีหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีผูกมัดเราอยู่ เอกราชแห่งการศาลของเราจึงยังไม่บริบูรณ์ และเพื่อที่จะให้ผ่านพ้นข้อความนี้ ก็มีอยู่วิธีเดียว คือ รีบเร่งทำประมวลกฎหมายออกมาให้ครบชุดตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี รัฐบาลเก่าได้เริ่มการและร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกาศใช้แล้ว ๔ บรรพ เมื่อคณะกรรมการราษฎรเป็นรัฐบาลก็ได้รีบเร่งทำต่อมาแม้ในเวลาอันน้อย เจ้าหน้าที่ก็ได้ร่างบรรพ ๕ สำเร็จขึ้นเสนอสภา บรรพ ๖ ก็ได้ร่างสำเร็จแล้วเหมือนกันและจะได้เสนอสภาในเร็ว ๆ นี้ต่อคงเหลือประมวลว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลวิธีพิจารณาความอาชญา ซึ่งกำลังรีบเร่งทำอยู่เวลานี้ เมื่อประมวลกฎหมายออกสำเร็จแล้ว หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกำหนดไว้ว่าต่อไปอีก ๕ ปี เราจะได้เอกราชในทางศาลโดยบริบูรณ์

     ข. ในทางเศรษฐกิจ

               ข้อนี้จะได้กล่าวในตอนที่ว่าด้วยนโยบายแห่งการเศรษฐกิจ

     ค. ในการเมือง

               การนี้จะมั่นคงก็เนื่องจากผลแห่งการจัดวัตถุประสงค์อื่น ๆ ให้สำเร็จไป

๒. ความสงบภายใน

               การรักษาความสงบภายในนี้จักต้องอาศัยการจัดระเบียบการปกครองซึ่งคณะกรรมการราษฎรได้จัดตั้งอนุกรรมการขึ้นพิจารณาแล้วประการหนึ่ง กับทั้งจักต้องอาศัยการบำรุงในทางเศรษฐกิจให้ราษฎรได้มีอาชีพและมีความสุขสมบูรณ์ และจัดบำรุงการศึกษา ฯลฯ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

๓. เศรษฐกิจ

               ข้อนี้สำคัญมาก จุดที่หมายของการนี้ย่อมรู้อยู่ทั่วกันแล้วและปรากฏอยู่ในหนังสือตำราปัจจุบันเป็นอันมากว่าความสุขสมบูรณ์ของมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยได้รับความสุขกายสบายใจที่พูดดังนี้ถ้าหวังแต่เพียงจะพูดอย่างเทศน์ให้ฟังก็เป็นของง่ายดายเต็มทีแต่ที่จะให้ได้รับผลจริงจังแล้วเป็นการยากแสนยากโดยปกติคนเราถ้ารู้สึกมีเสรีภาพ ไม่ถูกบีบคั้น มีความเสมอภาคในกฎหมายและในโอกาสการทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่แล้วย่อมได้ความพอสุขใจพอควรความสุขกาย คนเราถ้ามีที่อยู่ มีอาหารกินมีอาชีพหรืออีกนัยหนึ่งมีเครื่องอุปโภคบริโภคพอควรแก่ชีวิตก็จัดว่าเป็นการสุขกายพอควรอยู่แล้วแต่ว่าราษฎรในเมืองเรามี๑๑ล้านเศษความรู้ความสามารถกำลังกายและอาชีพย่อมต่าง ๆ กันอยู่เป็นการยากนักหนาที่จะจัดให้ได้รับความพอใจทั่วหน้าแต่ว่ารัฐบาลนี้และเชื่อว่ารัฐบาลใดในโลกก็จะมีความรู้สึกเช่นเดียวกันคือความรู้สึกหน้าที่ที่จะต้องดำริวางโครงการให้ราษฎรมีโอกาสได้รับความสุขกายสบายใจทั่วกันอย่างมากที่สุดที่จะทำได้ในเวลานี้เป็นเวลาที่เศรษฐกิจของโลกตกต่ำ การเงินฝืดเคืองทั่ว ๆ ไปสินค้าสำคัญของเราคือข้าวราคาตกต่ำชาวนาของเราได้รับความยากแค้นมีกรรมกรที่ไม่มีงานทำเกิดขึ้นบ้านเมืองจนลงโดยทั่ว ๆ ไป คณะกรรมการราษฎรได้ช่วยไปแล้วในเรื่องที่จำเป็นต้องช่วยทันทีเช่นลดภาษีอากร คุ้มครองทรัพย์ที่จะถูกยึด ควบคุมการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราในกฎหมายเหล่านี้เป็นต้น

               ในเรื่องกรรมกร รัฐบาลได้คิดแล้วและได้ลงมือทำบ้างแล้วคือได้จัดให้มีทะเบียนกรรมกรที่ไม่มีงานขึ้นเพื่อให้รู้ว่าใครไม่มีงานทำบ้างใครต้องการทำงานบ้างเมื่อเวลาต้องการจักได้เรียกหาได้การงานที่อยู่ในความคิดแล้วเช่นการที่จะให้สัมประทานต่อไปรัฐบาลจะได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ว่าให้ผู้รับสัมประทานใช้กรรมกรชาวสยามตามส่วนการงานของรัฐบาลก็จะเพียรใช้กรรมกรชาวสยามอย่างมากที่สุดที่จะทำได้เช่นในเวลานี้รัฐบาลได้เริ่มจัดให้กรรมกรแผนกช่างก่อสร้างได้มีงานทำบ้างแล้ว แต่ในการที่จะเริ่ม
ให้มีงานใด ๆ ขึ้นย่อมต้องใช้เงินซึ่งกำลังฝืดเคืองอยู่ทั่วไปแม้เช่นนั้นรัฐบาลก็มิได้วางมือกำลังพากเพียรหาช่องทางที่จะทำอยู่เหมือนกันและก็มีความรู้สึกแน่ใจอยู่ว่าพอจะทำได้บ้างอย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบามีเสียงร่ำร้องให้รัฐบาลตั้งโรงงานความคิดในการตั้งโรงงานนั้นมิใช่ว่าจะผ่านพ้นความคิดของรัฐบาลไปก็หาไม่ แต่ว่าก่อนที่จะเริ่มการใด ๆ จะต้องคิดทางได้ทางเสียให้รอบคอบ ต้องหาสถิติต้องพิจารณาว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควร เมื่อแน่ใจแล้วว่ามีทางได้มากกว่าทางเสียจึงควรทำ ขอให้เป็นที่มั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้ลืมข้อความข้อนี้เลย

               ในเรื่องกสิกร การช่วยเหลือโดยตรงที่มีอยู่ในเวลานี้คือสหกรณ์ให้กู้เงิน นอกจากนี้รัฐบาลมีความจำนงใจอยู่ที่จะจัดให้มีการร่วมกันในการกำเนิดผล (Production) เช่นร่วมมือกันในทางใช้เครื่องมือในทางเทคนิคเป็นต้น ความร่วมกันในทางจำหน่ายความร่วมกันในทางซื้อของอุปโภคบริโภคการที่รัฐบาลดำริดั่งนี้ก็เพราะแน่ใจว่าคนเดียวทำกับหลายคนรวมกำลังกันทำนั้น หลายคนรวมกำลังกันย่อมได้ผลดีกว่าที่กล่าวมานี้เป็นหลักใหญ่ ซึ่งถ้าจะพูดถึงรายละเอียดแล้วก็จะเป็นสมุดเล่มหนึ่งทีเดียวและไม่ใช่ของทำได้โดยเร็ววันคือจะต้องอาศัยการสอบสวนและคำนวณสถิติ การวางแผนเศรษฐกิจของชาตินี้ถ้าไม่ทำให้ถี่ถ้วนคือรีบด่วนเกินไปแล้วความปั่นป่วนย่อมเกิดขึ้นไม่ว่าประเทศใด ๆ การวางแผนต้องใช้เวลาทั้งนี้มิใช่ว่ารัฐบาลจะนอนใจรัฐบาลก็รีบเร่งทำอยู่แต่ลักษณะของกิจการนั้นเองต้องการเวลาซึ่งจะนิรมิตให้ทันทีไม่ได้รัฐบาลได้กำหนดที่จะแบ่งระยะเวลาออกเป็นสมัย ๆ คือสมัยสอบสวนเตรียมการทดลองและสมัยลงมือปฏิบัติอย่างไรก็ดีนโยบายอันเป็นหลักสำคัญของรัฐบาลที่จะดำเนินต่อไปในทางเศรษฐกิจนั้นมีจุดที่หมายอยู่ว่าจะสมัครสมานผลประโยชน์ของคนทุกจำพวกให้ได้ผลดีด้วยกันทุก ๆ ฝ่าย

               หลักการในเรื่องนี้มีเถียงกันอยู่เป็น ๒ ทาง ทางหนึ่งรัฐบาลเข้าจัดทำเองเสียทั้งหมดซึ่งเป็นการตึงเกินไปอาจจะมีเสียยิ่งกว่าได้ และอาจเป็นการเดือดร้อนแก่บุคคลบางจำพวกอีกทางหนึ่งคือรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ราษฎรทำกันเองใครดีใครได้ใครกำลังน้อยก็ย่อยยับไปใครกำลังมากก็ฟุ่มเฟือยดังนี้ก็เป็นการหย่อนเกินไปมีเสียมากกว่าได้เหมือนกันเพราะฉะนั้นจุดที่หมายของรัฐบาลนี้จึงคิดเข้ามีส่วนในกิจการที่เห็นเป็นสำคัญสำหรับประเทศสมควรทำเสียเองก็ทำสมควรเพียงแต่เข้าควบคุมก็เพียงแต่
ควบคุมสุดแต่จะเห็นว่าเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับบุคคลทั่วไปจะเอาประโยชน์ของคนหมู่หนึ่งเป็นที่ตั้งและไม่คิดถึงประโยชน์ของคนอีกหมู่หนึ่งนั้นหามิได้ในเรื่องกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินนั้นตั้งแต่เริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาคณะกรรมการราษฎรได้พูดไว้หลายครั้งและรัฐบาลนี้ก็ยังจะพูดและถือต่อไปว่าทรัพย์ของราษฎรทั้งหลายจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดุจดั่งประเทศอื่น ๆ

๔. สิทธิเสมอภาค และ ๕. เสรีภาพ

               การนี้จะทำได้ก็โดยอาศัยบัญญัติกฎหมายเลิกสิทธิพิเศษดังปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว

๖. การศึกษา

              เพื่อที่จะให้พลเมืองมีการศึกษาโดยแพร่หลายจะต้องอนุโลมตามระเบียบการปกครองที่ให้เข้าลักษณะเดียวกับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติดั่งจะได้กล่าวในตอนนโยบายธรรมการต่อไป

นโยบายซึ่งกระทรวงต่าง ๆ จะปฏิบัติประกอบไปกับนโยบายทั่วไปนั้น ดังนี้

นโยบายทางพระคลังมหาสมบัติ

               เท่าที่แล้วมารัฐบาลได้รู้สึกความตกต่ำของเศรษฐกิจเห็นความฝืดเคืองยากแค้นของราษฎรจึงได้ลดภาษีอากรมีภาษีนาภาษีสวนเป็นต้นเพราะเห็นว่าพวกกสิกรเป็นผู้ที่ได้รับความยากแค้นขัดสนมากแต่ว่าประเทศต้องใช้เงินในการดำเนินการและในการลงทุนเพื่อบำรุงราษฎรทั้งหลายสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงินรายได้ของรัฐบาลมีแต่ในทางภาษีถ้าจะมีแต่การลดภาษีไม่มีการเก็บภาษีบ้างรัฐบาลก็จะไม่มีเงินใช้แต่ว่าการที่คิดเก็บก็ได้ระวังแล้วที่จะไม่ให้เป็นการเดือดร้อนคือเก็บจากผู้ที่พอจะเสียได้และเสียได้โดยไม่มี
ความยากแค้นโดยไม่กระทำให้กิจการค้าขายต้องลดถอยเพราะเหตุภาษีตัวอย่างที่ได้ทำมาแล้ว คือเก็บภาษีจากธนาคาร เป็นต้น

               นอกจากนี้ รัฐบาลเห็นว่าวิธีภาษีอากรของเราในปัจจุบันนี้ไม่ใคร่จะสมกับเหตุการณ์อยู่บ้างกำลังคิดอ่านที่จะวางโครงการภาษีใหม่

               งบประมาณปีนี้กะจำนวนไว้ตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติว่าจะได้ถึง ๗๔ ล้าน และได้กำหนดรายจ่ายไว้ ๗๔ ล้านเหมือนกันเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะกรรมการราษฎรเห็นว่ารายได้จะได้ไม่ถึงเท่าที่กำหนดไว้และไหนจะต้องลดภาษีอากรลงมาเพื่อช่วยกสิกรภาษีใหม่ที่จะเก็บได้ก็ไม่เท่ากับจำนวนที่ต้องลดแต่ว่าเป็นความจำเป็นต้องลดเพื่อช่วยกสิกรจึงได้พากเพียรตัดรายจ่ายลงจนเป็นผลในเวลานี้ประมาณว่ารายได้รายจ่ายจะพอไล่เลี่ยกันในราวจำนวน ๗๑ ล้านแต่ว่าที่จะให้ผลดั่งนี้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจะจำต้องควบคุมการใช้จ่ายอย่างเข้มงวดกวดขัน

               มีเงินกู้ต่างประเทศอยู่รายหนึ่งที่รัฐบาลเรากู้ต่างประเทศเสียดอกเบี้ยแพงถึงร้อยละเจ็ดรัฐบาลเห็นว่าเรามีเงินที่สะสมไว้สำหรับใช้หนี้พอจะใช้เขาได้ถ้าหากเราต้องการเงินเพื่อลงทุนรอนต่อไปก็จะกู้ใหม่ได้โดยดอกเบี้ยถูกกว่านั้นมากจึงได้ประกาศบอกล่วงหน้าใช้หนี้รายนั้นเสียสำหรับปีหน้าเราได้ทุ่นค่าดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้รายนี้ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษเป็นการช่วยงบประมาณปีหน้าซึ่งหวังว่าจะสู่ดุลยภาพได้โดยสะดวก

นโยบายในการป้องกันประเทศ

               ในการป้องกันประเทศนั้นรัฐบาลคงดำเนินนโยบายที่รัฐบาลเก่าได้ดำเนินมาแล้วคือเตรียมกำลังทหารไว้ให้พอสำหรับความสงบภายในและรักษาอิสระภาพของประเทศ

นโยบายในการต่างประเทศ

               ในการต่างประเทศนั้น รัฐบาลจะพยายามรักษาความสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในการนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการทุกอย่างที่จะบำรุงความเข้าใจอันดีซึ่งมีอยู่ระหว่างกันในขณะนี้และส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันให้ยิ่งขึ้นรัฐบาลจะคงพยายามปฏิบัติให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาและพันธกรณีที่มีอยู่กับนานาประเทศโดยเคร่งครัดทุกประการและต่อไปเมื่อหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีที่มีอยู่ ณ บัดนี้ ครบกำหนดอายุแล้วก็จะได้ดำริถึงการต่ออายุหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะแก่กาลสมัยส่วนในทางสมาคมสันนิบาตชาตินั้นเล่ารัฐบาลยังคงเล็งเห็นความสำคัญและพร้อมที่จะสนับสนุนกิจการของสันนิบาตชาติอยู่เสมอ

นโยบายทางเกษตรพาณิชย์

               ความตกต่ำในเศรษฐกิจของโลกเท่าที่กระทบมาถึงประเทศเราเป็นเหตุให้ราคาสินค้าของเราตกต่ำซึ่งรัฐบาลไม่อาจผันแปรแก้ไขได้โดยทางตรงหรือโดยปัจจุบันทันด่วนแต่รัฐบาลจะต้องพยายามป้องกันและแก้อุปสรรคทั้งภายในและภายนอกประเทศอันกีดขัดต่อการจำหน่ายสินค้าของราษฎรให้ได้ราคาดีในบรรดาสินค้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ให้การค้าของสยามได้เปรียบในดุลยภาพนั้นในขณะนี้ไม่มีประเภทใดสำคัญกว่าข้าวเหตุฉะนั้นการช่วยชาวนาผู้กำเนิดสินค้านี้โดยทางตรงและโดยทางอ้อมจึงต้องนับว่าเป็นการสำคัญและเร่งร้อนที่สุดทั้งการพยายามแก้เงื่อนสำคัญนี้ก็จะเป็นวิธีช่วยส่งเสริมความกำเนิดทรัพย์และสินค้าประเภทอื่นด้วย

               ปัญหาสำคัญในเวลานี้คือ ภาระของชาวนา มีหนี้ ขาดเงินทุนที่จะลงต่อไป ราคาข้าวถูก รัฐบาลเห็นใจอยู่แล้วและจำนงที่จะช่วยอย่างที่สุดที่จะทำได้ สิ่งใดพอที่จะทำได้ก่อนก็ได้รีบทำไปแล้ว เช่นการลดหย่อนภาษีค่านา และระหว่างนี้ก็กำลังจะขยายการสหกรณ์ให้กว้างขวางขึ้น เป็นการค้ำจุนในทางทุนรอนและผ่อนผันภาระอันหนักบ่าอยู่นั้นและสอบสวนเหตุการณ์ต่อไปในความเป็นอยู่ในทางหนี้สินในทางทุนรอนในวิธีการที่จะทำให้เกิดผลในทางจำหน่ายเพื่อหาวิธีช่วยเหลือให้มีโอกาสบังเกิดความพอกพูนได้บ้าง แต่ขอให้เห็นใจรัฐบาลบ้างว่าการเช่นนั้นเป็นการใหญ่จะทำกันกระทันหันไม่ได้ ต้องคิดต้องเตรียมต้องทดลองอย่างรอบคอบระหว่างนี้จะได้ก้าวหน้าต่อไปในการช่วยกสิกรทางตรงอีกอย่างหนึ่งคือ การเลือกพันธ์ข้าวเพื่อสะดวกแก่การที่จะตั้งมาตราฐานสินค้าข้าวขึ้น และเพื่อยังไว้ซึ่งชื่อเสียงแห่งเข้าไทยในตลาดต่างประเทศที่กำลังผันแปรอยู่เป็นอันมากในขณะนี้เนื่องด้วยเขื่อนภาษีซึ่งบางประเทศตั้งหรือดำริจะตั้งกันขึ้นอนึ่งในการที่อุดหนุนการเพาะปลูกของประเทศรัฐบาลจำต้องดำเนินการทดลองพืชผลอย่างอื่นทั้งในประเทศ
ซึ่งอาจใช้ปลูกสลับกับข้าวในที่ลุ่มและในประเทศซึ่งเหมาะแก่ที่ดอน เป็นต้น

               การอำนวยให้มีปลาน้ำจืดพอแก่ความต้องการภายในประเทศ และการจัดปรุงให้มีปริมาณปลาขึ้นเป็นสินค้านอกประเทศได้นั้นก็เป็นการอุดหนุนราษฎรโดยทางตรงในกรณีนี้ปัญหาสำคัญอยู่ที่การแก้ไขวิธีผูกขาดการจับปลาและการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรค่าน้ำให้เป็นอุปสรรคในการประมงอย่างน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ การจับปลาตามชายฝั่งทะเลและน้ำลึกก็เป็นปัญหาอีกข้อหนึ่งซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะเผยแผ่
ออกไปอีกได้โดยการร่วมมือกันระหว่างราชนาวีกับเจ้าหน้าที่รักษาสัตว์น้ำ

               อนึ่งในการที่รัฐบาลได้ตั้งกรรมการเผยแผ่กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่าสำคัญมากขึ้นนั้เท่าที่กรรมการได้ปรึกษาเรื่องนี้มาแล้วในระยะเวลาสั้นนี้ ปรากฏว่าไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปแล้วว่าจะต้องขุดร่องน้ำที่สันดอนและในชั้นต้นจะได้ลงมือขุดสันดอนตอนกลางและตอนนอกลงไปลึกระหว่างสองกับห้าฟิดเพื่อเป็นการทดลองให้ทราบผลการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและอาการที่สันดอนจะตื้นขึ้นประการใดบ้างในการที่จะต้องทดลองทีละน้อยก่อนเช่นนี้ก็เพราะเป็นห่วงชาวสวนการขุดตอนต้นนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นการทดลองก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่การเดินเรือค้า โดยที่เรือลำเลียงจะสามารถผ่านสันดอนได้ทุกขณะทั้งจะสามารถบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นได้ในเรือขนาดใหญ่ซึ่งผ่านสันดอนไปมาอีกเป็นอันมากด้วย นอกจากนั้นเมื่อเรือใหญ่เข้ามาบรรทุกข้าวได้ก็เป็นการทุ่นค่าบรรทุกเรือลำเลียง ทั้งนี้เป็นทางหนึ่งที่ช่วยขยับราคาข้าวให้สูงขึ้นได้

นโยบายทางธรรมการ

               ๑) จะประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาให้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองเพื่อให้ได้ปริมาณตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

               ๒) ในส่วนการปรับปรุงคุณสมบัติแห่งการศึกษาทั่วไป จะแก้ไขให้วิเศษขึ้นด้วยตั้งพิธีฝึกหัดครูทุกประเภททุกชั้นจนพอแก่การ เพราะการสอนจะสำเร็จเป็นผลดีสมหมายก็ด้วยได้มีผู้สอนแต่ล้วนเป็นครูที่ได้ฝึกหัดอบรมมาดีแล้ว

               ๓) ในส่วนวิชาอาชีพ จะรีบจัดตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาทั้งแผนกกสิกรรม อุตสาหกรรมและพาณิชยการให้ครบครัน ตั้งต้นแต่ประถมศึกษาขึ้นไปเพื่อจะได้ไม่มีแต่การเรียนหนังสือเป็นสามัญศึกษาไปส่วนเดียวเหมือนเดี๋ยวนี้

               ๔) ในส่วนการศึกษาชั้นสูงจะได้จัดมหาวิทยาลัยให้สามารถสอนชั้นปริญญาที่เราต้องการให้ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในนานาประเทศ เพื่อผู้เรียนจะได้สำเร็จการศึกษาชั้นอุดมได้ในเมืองเราเองโรงเรียนมัธยมบริบูรณ์สำหรับสอนนักเรียนป้อนมหาวิทยาลัยก็จะจัดให้มีในหัวเมืองด้วยเพื่อเด็กมีเชาวน์ผู้เกิดในท้องถิ่นต่าง ๆ จะได้เข้าถึงการเรียนชั้นนี้ได้สะดวก

               ๕) ในส่วนเครื่องอุปกรณ์การศึกษา เช่น แบบเรียน ห้องสมุด ทุนเล่าเรียนการกีฬา การอนุสภากาชาด การลูกเสือ ฯลฯ เหล่านี้ก็จะจัดให้มีขึ้นแพร่หลายจนพอความต้องการ

               ๖) จะอุปถัมภ์การศาสนา อันเป็นปัจจัยสำคัญในการอบรมมนุษยธรรมให้สำเร็จประโยชน์แห่งการอบรมนั้นยิ่งขึ้นแผนดำเนินการทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินไปพร้อมกัน เพื่อให้เป็นอุปกรณ์แห่งกันและกัน และจะเร่งรัดจัดทำตามกำลังทุนที่มีพอจะทำได้

นโยบายทางมหาดไทย

               นโยบายทางมหาดไทยนั้นต้องแล้วแต่นโยบายทั่วไปของรัฐบาลซึ่งเมื่อได้จัดระเบียบและวางทางการไว้แล้วอย่างไรก็ต้องหันเข็มตามนโยบายนั้นการจัดระเบียบนั้นได้กล่าวแล้วในตอนต้น
ว่าจะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ

               ในเรื่องสาธารณสุขนั้นแต่เดิมก็ได้ทำมาบ้างแล้วในกาลต่อไปจะพยายามขยายการบำบัดโรคและการอนามัยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เช่น จัดให้มีโรงพยาบาลหรือสุขศาลาขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ เพื่อราษฎรจะมารับการบำบัดโรคหรือติดต่อกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไดโดยสะดวกการควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญเช่น ไข้จับสั่น โรคเรื้อน วัณโรค ฯลฯ ก็เป็นปัญหาที่อยู่ในโครงการที่จะจัดการให้เป็นผลยิ่งขึ้น นอกจากนี้การแก้ไขลักษณะสุขาภิบาลโดยทั่วไปนับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในวงงานสาธารณสุขซึ่งรัฐบาลจะได้จัดการให้เป็นผลดียิ่งขึ้นด้วยในการปราบปรามโจรผู้ร้ายนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องพิจารณาเพ่งเล็งถึงสาเหตุและทางป้องกันพร้อมด้วยกันกับทางแก้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอยู่ในเวลานี้ในเรื่องนี้รัฐบาลได้ดำริที่จะหาหนทางอบรมพลเมืองในทางจรรยาและศีลธรรมกับในทางจัดการงานที่เป็นอาชีพให้มั่นคงยิ่งขึ้นทั้งดำริจัดระเบียบการราชทัณฑ์อันเกี่ยวแก่การอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับหัตถกรรม อุตสาหกรรม
และอื่น ๆ ของนักโทษ และจะจัดโรงเรียนดัดสันดาน

นโยบายทางการศาลยุติธรรม

               ในทางการศาลยุติธรรมข้อสำคัญที่จะต้องจัดก็คือ ระเบียบการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งจะต้องให้ได้ดำเนินไปโดยความยุติธรรม แต่การที่จะจัดนี้ก็รวมอยู่ในการจัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแพ่งและอาชญา กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งการร่างประมวลเหล่านี้กำลังดำเนินอยู่โดยรีบร้อนดั่งได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น อีกประการหนึ่งการเลือกคัดบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งตุลาการก็จะได้ใช้วิธีเลือกโดยสอบไล่แข่งขันอันรวมอยู่ในนโยบายทั่วไปของรัฐบาลนั้นแล้ว

*รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๔๗/๒๔๗๕ (วิสามัญ) วันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หน้า ๖๘๗ – ๗๐๔