ลำดับความเป็นมาของคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 16


 (11 มิถุนายน 2489 – 23 สิงหาคม 2489)

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2489 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 11 ประกอบด้วย พระสุธรรมวินิจฉัย พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) และนายสงวน จูทะเตมีย์ เป็นผู้ลงนามในประกาศ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ประธานพฤฒสภา และนายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันที่ 11 มิถุนายน 2489 มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังนี้

รายชื่อคณะรัฐมนตรี

1. พลโท จิระ วิชิตสงคราม

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

2. นายปรีดี พนมยงค์

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

3. นายดิเรก ชัยนาม

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

4. นายทวี บุณยเกตุ

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ

5. พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์)

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

6. นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

7. หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

8. นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

9. พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

10. พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

11. นายเดือน บุนนาค

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

12. พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ

เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

13. นายวิจิตร ลุลิตานนท์

เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

14. พันเอก พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค)

เป็นรัฐมนตรี

15. ขุนระดับคดี (ปัญญา รมยานนท์)

เป็นรัฐมนตรี

16. นายวิโรจน์ กมลพันธ์

เป็นรัฐมนตรี

ประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2489

คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2489 และได้รับความไว้วางใจในวันเดียวกัน

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีคณะนี้ ปรากฎในหนังสือราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2489 เล่ม 63 ตอน 42 หน้า 4

หมายเหตุ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 8 มิถุนายน 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นผู้ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ พันตรี วิลาศโอสถานนท์ ประธานพฤฒสภา และนายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคต นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งและโดยที่เห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัย ที่จักได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการแต่งตั้ง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 11 มิถุนายน
2489 คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลง เพราะเหตุที่นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องด้วยตรากตรำทำงานฉลองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาพอสมควร รู้สึกว่าสุขภาพเสื่อมโทรมลง ไม่สามารถจะปฏิบัติภารกิจของรัฐได้เต็มที่ จึงได้ลาออกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2489