ลำดับความเป็นมาของคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 4
(๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ – ๑๖ ธันวาคม ๒๔๗๖)
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังนี้
รายชื่อคณะรัฐมนตรี
๑. นายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม (เทียบ คมกฤส) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๒. พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (หม่อมราชวงศ์ประยูร อิศรศักดิ์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๓. พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
๔. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร์ ณ สงขลา) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๕. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ
๖. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน) เป็นรัฐมนตรีทำการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
๗. พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เป็นรัฐมนตรี
๘. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) เป็นรัฐมนตรี
๙. นายพันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส) เป็นรัฐมนตรี
๑๐. นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) เป็นรัฐมนตรี
๑๑. นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) เป็นรัฐมนตรี
๑๒. นายนาวาโท หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นรัฐมนตรี
๑๓. หลวงนฤเบศร์มานิต (สงวน จูทะเตมีย์) เป็นรัฐมนตรี
๑๔. หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) เป็นรัฐมนตรี
ประกาศเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖
คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๖ และได้รับความไว้วางใจในวันเดียวกันนั้น
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีคณะนี้ ปรากฎในหนังสือรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๖ หน้า ๕๘-๕๙ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๗๖
นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออก โดยอ้างเหตุผลว่า หย่อนความรู้ในทางกฎหมายและการเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอร้องให้รับตำแหน่งต่อไปและทรงแจ้งไปยังสภาขอให้สนับสนุนคำขอร้องของพระองค์ท่านด้วย ที่ประชุมสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้พระยาพหลพลพยุหเสนาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
คณะรัฐมนตรีมีการเปลี่ยนแปลง คือ
๑. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๗๖
๒. ให้นายนาวาเอก พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) เป็นรัฐมนตรีให้นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๗๖
๓. ให้พระยานิติศาสตร์ไพศาล (วัน จามรมาน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๗๖ ให้พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๗๖
๔. ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๖
๕. นายนาวาเอก พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเพราะป่วย เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖
หมายเหตุ คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลง เพราะได้มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยเลือกสมาชิกประเภทที่ ๑ ขึ้นและสมาชิกประเภทที่ ๒ เดิมที่ให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรีก็สิ้นสุด
ประกาศวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๗๖