คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๓
คำแถลงนโยบาย
ของ
คณะรัฐมนตรี คณะที่ 53
นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี
แถลงต่อรัฐสภา
วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2540
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 นั้น
บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคำนึงถึงบทบัญญัติในหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งมีเป้าหมายหลักที่จะเร่งรัดแนวทางการปฏิรูปทางการเมือง ปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งมุ่งส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน และดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาในระยะยาวโดยเร็วที่สุด
ในสภาวะปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีตระหนักดีว่าปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ไข คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและปัญหามาตรฐานการครองชีพ หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาอย่างทันท่วงทีก็จะทำลายความมั่นคงของประเทศได้รัฐบาลจึงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเร่งด่วนเป็นลำดับแรก ด้วยการระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายในชาติ เพื่อให้เกิดพลังในการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ เพราะลำพังรัฐบาลฝ่ายเดียวย่อมไม่สามารถผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็วได้ จำต้องอาศัยความตระหนักร่วมกันในปัญหาและความเข้าใจในแนวทางการแก้ปัญหา แล้วร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยถือประโยชน์และอนาคตของชาติเป็นเป้าหมายหลัก ถ้าทำได้ดังนี้ก็เชื่อว่าจะสามารถนำประเทศให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ทันการณ์ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะเป็นแกนกลางในการเคลื่อนกลไกทุกส่วนทั้งที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชนให้เดินหน้าแก้ปัญหาทุกปัญหาในจังหวะเดียวกันอย่างสอดคล้องต้องกัน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศไทยใช่ว่าจะเสียหายไปทั้งหมด บางส่วนยังอยู่ในวิสัยที่จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกทาง
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจทุกแขนงของประเทศให้กลับฟื้นคืนสู่ภาวะปกติและพร้อมที่จะเป็นพลังผลักดันการพัฒนาต่อไปในอนาคตอย่างเต็มศักยภาพ รัฐบาลทราบดีว่า การดำเนินการในครั้งนี้มีความยากลำบาก และตกอยู่ภายใต้เงื่อนเวลาที่จะต้องทำอย่างเร่งรีบและเงื่อนไขงบประมาณแผ่นดินอันจำกัด แต่รัฐบาลเชื่อมมั่นว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งชาติ ประกอบกับหลักการสำคัญในการบริหารงานของรัฐบาลอันได้แก่ การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ซื่อตรง และโปร่งใส น่าจะเป็นปัจจัยให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่ประเทศชาติและประชาชนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้
เพื่อความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติของรัฐบาลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน โดยแบ่งออก เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 นโยบายการเมือง การปกครอง การบริหารราชการ ความมั่นคง และการต่างประเทศ ส่วนที่ 2 นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการสองระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน และระยะปานกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ รวมทั่งเพื่อให้เห็นเป้าหมายที่มุ่งเร่งให้บังเกิดขึ้นแต่ละขั้นตามลำดับ ดังนี้
ส่วนที่ 1 นโยบายการเมือง การปกครอง การบริหารราชการ ความมั่นคงและการต่างประเทศรัฐบาลนี้มุ่งเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต โดยจะดำเนินการดังนี้
-
นโยบายการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการ
1.1 การปฏิรูปทางการเมือง
1.1.1 เร่งรัดการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่น ๆ กฎ ข้อบังคับ และการดำเนินการอื่นใดเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือเพื่อให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือเพื่อให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์และบังเกิดผลในทางปฏิบัติ โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการกำหนดเค้าโครงการดำเนินการระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จ และหน่วยงานผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนทั้งจะเร่งดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ในส่วนของคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อนึ่ง รัฐบาลถือว่ากฎหมายตามข้อนี้เป็นกฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 173ของรัฐธรรมนูญ
1.1.2 สนับสนุนกิจการขององค์กรทั้งหลายที่จัดตั้งขึ้นใหม่หรืออยู่ระหว่างเตรียมการจะจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในด้านอัตรากำลัง งบประมาณ และการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจในฐานะองค์กรควบคุมหรือตรวจสอบทางการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการบริหารทรัพยากรสื่อสารของชาติ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ
1.1.3 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของนักวิชาการ และสื่อสารมวลชนทั้งของรัฐและเอกชนในการให้การศึกษาอบรมค้นคว้าวิจัยหรือปฏิบัติหน้าที่ของตน รวมทั้งส่งเสริมให้มีบทบาทในการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจ ในรูปแบบวิธีการ และเนื้อหาสาระของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปทางการเมืองดำเนินไปในแนวทางที่เป็นรูปธรรมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
1.1.4 ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งจะกำหนดมาตรการในการตรวจสอบ ตลอดจนซักซ้อมความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้มีการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าว โดยให้สถาบันการศึกษาและสื่อสารมวลชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทด้วย
1.1.5 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมืองในเรื่องสำคัญการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยวิธีการประชุมปรึกษาหารือกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือชุมชน การทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติแล้วแต่กรณี โดยให้สถาบันทางวิชาการสื่อสารมวลชน องค์กรอาชีพภาคเอกชน และองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์เข้ามามีบทบาทในการร่วมดำเนินการ
1.1.6 จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติด้วยกระบวนการคัดเลือกที่ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ จัดทำแผนพัฒนาการเมืองและมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วประกาศใช้ต่อไป
1.2 การปฏิรูประบบบริหารราชการ
1.2.1 ปรับปรุงและเร่งรัดการจัดโครงสร้างและระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตาม
รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเสมอภาค
1.2.2 ปรับปรุงระบบงานภาคราชการและรัฐวิสาหกิจให้เป็นระบบเปิดโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นปราศจากการเลือกปฏิบัติ และเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม โดยการจัดทำแผนพัฒนาระบบราชการและมาตรฐานคุณภาพงานราชการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
1.2.3 ปรับปรุงคุณภาพข้าราชการในการทำงานโดยเน้นผลงาน การมีคุณภาพ ความซื่อสัตย์สุจริต การมีจิตสำนึกในการให้บริการประชาชน และมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ทำงานคุ้มค่ากับผลตอบแทน โดยจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพและการส่งเสริมขวัญกำลังใจข้าราชการ
1.2.4 ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในวงราชการและวงการเมือง ด้วยการเร่งออกกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในระหว่างนี้จะพัฒนาระบบบริหารราชการของหน่วยงานทั้งหลายที่มีอยู่แล้วให้บุคลากรมีความพร้อมและทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อนึ่ง รัฐบาลถือว่ากฎหมายตามข้อนี้เป็นกฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 173ของรัฐธรรมนูญ
1.2.5 เร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยกำหนดแผนและขั้นตอนดำเนินการเป็นการด่วน ระบุอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างราชการส่วนกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันอย่างชัดเจน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและบทบาทเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการแบ่งสรรภาษีอากรให้แก่ท้องถิ่น นอกจากนั้น จะดำเนินการปรับปรุงรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีเพียง 4 รูปแบบ คือ
(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด
(2) เทศบาล
(3) องค์การบริหารส่วนตำบล และ
(4) การปกครองรูปแบบพิเศษ
ทั้งนี้ สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นอาจจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือโดยความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นก็ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบและระยะเวลาที่เหมาะสม อนึ่ง รัฐบาลถือว่ากฎหมายตามข้อนี้เป็นกฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 173ของรัฐธรรมนูญ
1.2.6 ลดบทบาทการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐพร้อมกับสนับสนุนให้ภาคเอกชนรับไปดำเนินการร่วมกับรัฐหรือแทนรัฐอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยบริการแก่ประชาชนและลดภาระการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ รวมทั้งจะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่มีผลให้เกิดการผูกขาด ทั้งนี้ จะอาศัยมาตรการทางกฎหมายเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ารับช่วงงานบริการประชาชนได้คล่องตัวมากขึ้น ส่วนการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการที่เพียงพอ มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม ก็จะดำเนินการไปพร้อมกันโดยจัดทำแผนแม่บทขึ้นเป็นกรอบกำกับการดำเนินการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาและนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ
1.2.7 เร่งรัดให้มีการออกกฎหมายใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่แล้วเพื่อเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองเด็ก เยาวชนและสตรี การสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค การขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคมและในการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนการปฏิรูปหรือการใช้ประโยชน์ที่ดิน การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยดำเนินการในลักษณะของการปฏิรูปกฎหมายอย่างเป็นระบบ
-
นโยบายความมั่นคง
รัฐบาลมุ่งสานต่อนโยบายความมั่นคงที่ดำเนินการมาก่อนแล้ว โดยกำหนดนโยบายเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนบางประสานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและในโลก ตลอดจนสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของกองทัพในการปฏิบัติภารกิจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในการ่วมเสริมสร้างความสัมพันธ์และความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ โดยใช้ศักยภาพของกองทัพที่มีอยู่แล้ว
2.2 ส่งเสริมและสนับสนุนให้กองทัพปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างกองทัพให้กะทัดรัด แต่ทันสมัย มีการพัฒนาหลักนิยมการเตรียมกำลังกองทัพ การจัดระบบกำลังสำรอง การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้กำลังพลมีความพร้อมและความสามารถในการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้กองทัพพัฒนาระบบสวัสดิการและศักยภาพอื่น ๆ แก่กำลังพล ทหารผ่านศึกและครอบครัวในด้านอนามัย การกีฬา การฝึกอาชีพ เพื่อให้มีสถานะ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และสามารถกระทำภารกิจอื่นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมตามศักยภาพที่มีอยู่ได้
2.4 ส่งเสริมและสนับสนุนให้กองทัพพัฒนากำลังพลทุกระดับเพื่อนำความรู้และทักษะโดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแพทย์ การพยาบาล และความมีระเบียบวินัย มาใช้ในการพัฒนากองทัพและการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิตบุคลากรสาขาขาดแคลนการให้บริหารสาธารณสุขแก่ประชาชน การรักษาระเบียบวินัยในสังคม การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การรักษาทรัพยากรธรรมชาติการแก้ปัญหาสภาวะแวดล้อม และการร่วมมือกับเอกชนในเรื่องอื่น ๆ
-
นโยบายการต่างประเทศ
รัฐบาลยึดมั่นในพันธกรณีที่มีตามกฎบัตรสหประชาชาติสนธิสัญญาและความตกลงต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและจะเน้นการปรับบทบาทของไทยให้เห็นเด่นชัดในความกระตือรือร้นและความรับผิดชอบต่อประชาคมโลก ดังนี้
3.1 ส่งเสริมมิตรภาพ สมานฉันท์ และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยใช้ศักยภาพและประสบการณ์ทางการทูตของไทยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
3.2 เพิ่มพูนและพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการให้เขตการค้าเสรีอาเซียนประสบผลสำเร็จ โดยครอบคลุมถึงผลผลิตด้านการเกษตรและการบริการ ตลอดจนผลักดันให้มีข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการผลิตสินค้า อุตสาหกรรม การลงทุน และการจัดการทรัพยากรมนุษย์
3.3 ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญภายใต้ระบบการค้าเสรี โดยให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ตลอดจนร่วมมีบทบาทในการลดความขัดแย้งระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากปัญหาทางการค้า การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยคำนึงถึงความพร้อมภายในประเทศเป็นหลัก
3.4 ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้จะมุ่งเน้นกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค
3.5 เสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุล
3.6 อำนวยความสะดวก คุ้มครอง ตลอดจนส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทย แรงงานไทย และธุรกิจภาคเอกชนของไทยในต่างประเทศ
3.7 ร่วมมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ในด้านการคุ้มครองและส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
ส่วนที่ 2 นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
โดยที่เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสภาพวิกฤติที่มีปัญหารุมล้อมจากทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การคลัง การค้า การลงทุน และด้านค่าครองชีพ การลอยตัวของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาก มีส่วนผลักดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น นอกจากนี้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังไม่มีผลในการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ที่กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงก่อปัญหาการว่างงาน และปัญหาทางสังคม ซ้ำเติมสภาวะวิกฤติให้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลตระหนักในความรุนแรงของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้จึงกำหนดแผนดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนทุกวิถีทางเพื่อบรรเทาปัญหา และประคับประคองเศรษฐกิจให้พ้นวิกฤติการณ์นี้ให้ได้ โดยกำหนดนโยบายเพื่อดำเนินการเป็น
2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ซึ่งจะดำเนินมาตรการภายในเวลาที่สั้นที่สุด และระยะปานกลาง ซึ่งจะดำเนินการภายในเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้เกิดผลต่อเนื่อง สามารถนำพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติภายในเวลาที่ไม่นานจนเกินควร ดังนี้
-
นโยบายเร่งด่วน : การเสริมสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ
1.1 การเร่งรัดเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
1.1.1 การแก้ปัญหาสถาบันการเงินและการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ
(1) รัฐบาลถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ
ชั่วคราว 58 แห่งทันที โดยเร่งรัดให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
– กลุ่มสถาบันการเงินที่สามารถเพิ่มทุนและดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้พ้นจากการถูกควบคุมและอนุญาตให้เปิดกิจการได้ทันที
– กลุ่มที่จำเป็นต้องควบหรือรวมกิจการ ให้จัดการให้เกิดการควบกิจการทันที
– กลุ่มที่มีปัญหาและต้องปิดกิจการ ให้จัดการแบ่งแยกสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี และเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินภายในและ/หรือต่างประเทศรับไปบริหาร ส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจะได้รับการบริหาร โดยบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.)
(2) สถาบันการเงินและธนาคารที่ยังดำเนินกิจการอยู่ รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการดำเนินการในทิศทางที่ก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ระบบสถาบันการเงินอย่างถาวรต่อไป
(3) เร่งดำเนินการให้มีการแปลงสินทรัพย์เป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องของระบบการเงินอีกทางหนึ่ง
(4) สนับสนุนให้การลงทุนจากต่างประเทศปลอดพ้นจากอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่ยังมิได้รับการแก้ไข
1.1.2 การรักษาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่น
(1) วางแผนปฏิบัติและวางระบบติดตามผลด้านรายรับและรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศทุกด้าน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด
(2) สนับสนุนการดำเนินงานและร่วมมือกับภาคเอกชนด้านการค้าต่างตอบแทนในการนำเข้าสินค้าสำคัญ เช่น ปิโตรเลียม อาวุธยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์ทางโทรคมนาคม เพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศ
1.1.3 การเพิ่มรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
(1) เร่งรัดเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคาเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และผ่านสถาบันทางการเงินของเอกชน
(2) ขจัดอุปสรรคการส่งออก ทั้งด้านภาษีศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งลดต้นทุน โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายศุลกากรและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งสินค้า
(3) ร่วมมือกับภาคเอกชนในการวางแผนและกำหนดเป้าหมายเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างระบบการผลิตในประเทศกับทิศทางการค้าระหว่างประเทศ
(4) เร่งรัดการขยายตัวและขจัดอุปสรรคการท่องเที่ยวโดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนตลอดจนส่งเสริมโครงการ “ไทยเที่ยวไทย” เพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศ
1.1.4 การบริหารงบประมาณแผ่นดิน
(1) การบริหารงบประมาณรายจ่าย รัฐบาลจะดำเนินการโดยยึดเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่จะไม่ให้การบริหารงบประมาณรายจ่ายเกิดผลกระทบต่อการให้บริการด้านการศึกษาและสาธารณสุขพื้นฐาน
(2) สนับสนุนการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ โดยเน้นกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีหุ้นอยู่แล้วในตลาดหลักทรัพย์และที่มีโอกาสจะออกหุ้นทุนขยายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีก ทั้งนี้ เพื่อลดภาระกาลงทุนภาครัฐ
1.1.5 การส่งเสริมการประหยัด
(1) รัฐบาลจะเป็นผู้นำในการประหยัด โดยติดตามควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อป้องกันการรั่วไหล และขจัดความฟุ่มเฟือย
(2) รณรงค์ร่วมกับองค์กรเอกชนและประชาชนในการประหยัดการใช้จ่าย การเพิ่มการออมและการประหยัดพลังงาน
1.1.6 การสร้างเอกภาพและประสิทธิภาพในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม
(1) จัดให้ระบบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมมีเอกภาพในการตัดสินใจ มีความชัดเจนโปร่งใส
(2) ปรับโครงสร้างองค์กรการบริหารเศรษฐกิจส่วนรวมที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบงานที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
1.2 การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
1.2.1 การบรรเทาปัญหาการว่างงาน
(1) ให้หน่วยงานของรัฐเข้ามามีบทบาทในการใช้งบประมาณที่มีอยู่เพื่อขยายการจ้างงานโดยเฉพาะการจ้างงานในชนบท
(2) ประคับประคองให้ธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการตลาดและการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต
(3) แก้ปัญหาแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง โดยเร่งรัดบรรจุงานใหม่ ฝึกอบรมเพิ่มทักษะฝีมือใหม่ และประสานความช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างอย่างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วทุกจังหวัด
1.2.2 การบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ
(1) รักษาอัตราค่าครองชีพโดยเฉพาะของกลุ่มที่มีรายได้น้อยให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยติดตามตรวจสอบต้นทุนของสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และลดการผูกขาดตัดตอน
(2) เพิ่มบทบาทของหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการติดตามตรวจสอบการเอารัดเอาเปรียบประชาชน ทั้งในด้านคุณภาพและราคาสินค้า
(3) เร่งดำเนินการเพิ่มปริมาณสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะติดตามดูแลให้คุณภาพและราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งไม่เกิดภาวะขาดตลาด
1.2.3 การบรรเทาปัญหาด้านสังคม
(1) ประกันโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนไทยที่ครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยใหความช่วยเหลือในรูปของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา
(2) จัดบริการด้านสุขภาพอนามัย รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเร่งขยายการประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงที่ว่างงานหรือกำลังหางานทำ
(3) เพิ่มประสิทธิภาพระบบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมให้สามารถอำนวยความยุติธรรมและดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การค้ายาเสพติด และการลดจำนวนแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมาย
-
นโยบายในระยะปานกลาง : การปรับโครงสร้างและการพัฒนาสังคม รัฐบาลมุ่งเน้นวางรากฐานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อม ๆ กับการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน โดยเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมทุกแขนง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และสานต่อนโยบายการกระจายความเจริญและกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของงบประมาณแผ่นดิน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังและกำหนดทิศทางในการดำเนินการที่ชัดเจน ดังนี้
2.1 การเสริมสร้างแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
2.1.1 พัฒนาตราสารทางการเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะตราสารทางการเงินในระยะยาวและพันธบัตร เพื่อระดมทุนมาใช้ในสาขาการพัฒนาที่สำคัญ
2.1.2 เร่งเพิ่มบทบาทภาคเอกชน โดยดำเนินการให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อม หรือมีสถานะเป็นบริษัจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระจายหุ้นออกขายให้กับผู้ลงทุนที่สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ
2.1.3 ดูแลการใช้เงินกู้จากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างระบบการผลิต และการค้าของภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
2.2 การปรับโครงสร้างการผลิต
2.2.1 การปรับโครงสร้างด้านการเกษตร
(1) ปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตพร้อม ๆ กับการลดต้นทุนการผลิตโดยขยายปริมาณทุนกระจายสู่เกษตรกรผ่านสหกรณ์ให้มากกว่าเดิม ทั้งนี้จากแหล่งทุนที่มีอยู่แล้วในธนาคารของรัฐโดยเฉพาธนาคารออมสิน เพื่อลดต้นทุนการผลิตส่วนที่เกิดจากดอกเบี้ยนอกระบบลงให้ได้มากที่สุดโดยเร็ว
(2) ขยายโอกาสการลงทุนแก่เกษตรกร สถาบันเกษตรและภาคเอกชน ในกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการแปรรูปพืชผลเกษตร เพื่อเร่งรัดการส่งออก รวมทั้งเพิ่มบทบาทในการเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ระบบพหุภาคี และทวิภาคี เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดโลก
(3) สนับสนุนและส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนา เร่งรัดการกระจายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และประมงที่มีคุณภาพ และทั่วถึงแก่เกษตรกร เพื่อปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต ในภาคการเกษตรปศุสัตว์ และการประมง รวมทั้งการเร่งรัดป้องกันการระบาดของโรคพืช และสัตว์
(4) ส่งเสริมและฟื้นฟูระบบการผลิตการเกษตรที่เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตามแนวพระราชดำริว่าด้วยทฤษฎีใหม่ รวมทั้งเร่งรัดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เสร็จสิ้นตามแผนงานที่กำหนดไว้
(5) เพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตร และสหกรณ์ โดยการสนับสนุกระบวนการถ่ายทอดความรู้ วิชาการ ข้อมูลที่สำคัญอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกษตรกร สถาบันเกษตร และสหกรณสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูปสินค้าเกษตรและเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของชุมชนในชนบท
(6) สนับสนุนให้เกษตรกรได้รับราคาสินค้าเกษตรที่มีเสถียรภาพและเป็นธรรม เพื่อเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น โดยการสนับสนุนการเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และการตลาดพร้อมกันนี้จะเร่งพัฒนาระบบชลประทานให้เชื่อมโยงครบตามแผนแม่บทที่มีอยู่ รวมทั้งดำเนินการปฏิรูปที่ดินและแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ผลเร็วขึ้น
2.2.2 การปรับโครงสร้างด้านอุตสาหกรรม
(1) เร่งรัดให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ขยายบริการสินเชื่อและหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนในกิจกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก
(2) ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ผลิตแบบครบวรจร โดยเร่งรัดการขยายอุตสาหกรรมต่อเนื่องในแต่ละสาขา ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยี และขยายการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากระบบประกันการลงทุนจากประเทศที่อำนวยเงินลงทุน
(3) พัฒนาการเชื่อมโยงในระบบการผลิตระหว่างอุตสาหกรรมหลักกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมหลักแต่ละด้าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
(4) เร่งรัดพัฒนาระบบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งการทดสอบและรับรองมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับประเทศผู้ซื้อ ตลอดจนให้การปรึกษาด้านการส่งออก โดยขยายขอบเขตงานของสถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน และสถาบันวิจัยและพัฒนา
2.2.3 การปรับโครงสร้างด้านการบริการ
(1) ด้านการท่องเที่ยว พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศและส่งเสริมนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยอีก โดยกระจายอำนาจการบริหารจัดการงบประมาณการจัดสรรรายได้ รวมทั้งบุคลากรด้านการท่องเที่ยวไปสู่ท้องถิ่นควบคู่กับการส่งเสริมบทบาทของชุมชน และองค์กรเอกชนต่าง ๆ ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น
(2) ด้านบริการการศึกษานานาชาติ กำหนดนโยบาย เป้าหมาย สนับสนุน ส่งเสริมการศึกษานานาชาติ รวมทั้งการประสานงานระหว่างสถาบันศึกษาของไทยกับสถาบันในต่างประเทศ และสร้างระบบอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษานานาชาติที่เข้ามาศึกษาในสถาบันในประเทศ
(3) ด้านบริการส่งเสริมสุขภาพและรักษาพยาบาล ส่งเสริมการเป็นศูนย์รักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพในภูมิภาค โดยกำหนดมาตรฐานและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล พัฒนาบุคลากรในด้านการรักษาพยาบาล การใช้การประชาสัมพันธ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
2.3 การเพิ่มศักยภาพของพื้นที่เขตเศรษฐกิจเฉพาะ เพื่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
2.3.1 ดำเนินการต่อเนื่องที่จะเพิ่มศักยภาพของพื้นที่เฉพาะ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น และดึงดูดการลงทุนและการรวมกลุ่มพัฒนาวงจรอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม นอกจากนี้จะชักชวนให้เกิดการลงทุนจากทั้งภายในและต่างประเทศ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
2.3.2 เร่งรัดการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อรองรับความเจริญเติบโตจาการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้โครงการความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค
2.4 การปรับโครงสร้างพื้นฐาน
2.4.1 ด้านการขนส่ง
(1) การขนส่งทางบก เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบก ทั้งทางถนนและรถไฟให้กระจายและเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั้วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
(2) การขนส่งทางน้ำ ปรับปรุงกลไกการตัดสินใจระดับนโยบายด้านพาณิชย์นาวีให้เป็นเอกภาพเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่มิติใหม่ของระบบการขนส่งระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนสายการเดินเรือแห่งชาติอย่างจริงจัง การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 2 ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและลดการพึ่งพาเรือต่างชาติ รวมทั้งพัฒนาการเดินเรือชายฝั่งเพื่อเพิ่มทางเลือการขนส่งและลดความแออัดของการขนส่งทางบก
(3) การขนส่งทางอากาศ เร่งรัดการพัฒนาท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 ให้เป็นท่าอากาศยานสากลหลักของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศและพัฒนาท่าอากาศยานในส่วนภูมิภาคให้สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.4.2 ด้านการสื่อสาร
ปรับปรุงการบริหารจัดการด้านการสื่อสารของประเทศ โดยเร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อยกเลิกการผูกขาดของภาครัฐและสนับสนุนให้มีการแข่งขันในการให้บริการโดยเสรีควบคู่ไปกับการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลการสื่อสารที่เป็นกลางโปร่งใส และมีเอกภาพ ตลอดจนดำเนินการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสาร โดยคำนึงถึงเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
2.4.3 ด้านพลังงาน
(1) เร่งรัดการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานจากทั้งในและต่างประเทศให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการมีความมั่นคง คุณภาพ และระดับราคาที่เหมาะสม
(2) ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด รวมทั้งเร่งการดำเนินงานอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
(3) ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานและเร่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อนำไปสู่การจัดหาการใช้ และการจำหน่ายพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อนึ่ง รัฐบาลถือว่ากฎหมายตามข้อนี้เป็นกฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 173ของรัฐธรรมนูญ
2.4.4 ด้านสาธารณูปการ
(1) น้ำประปา กำกับดูแลการพัฒนากิจการประปาแห่งชาติให้เป็นระบบและเหมาะสม โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น
(2) ที่อยู่อาศัย เร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร ทั้งในด้านการปรัปปรุงสภาพแวดล้อม การพัฒนาความมั่นคงในอาชีพและรายได้ รวมทั้งดำเนินมาตรการป้องกันการขยายชุมชนแออัดควบคู่กัน โดยให้มีกลไกถาวรในการประสานการปฏิบัติงานและกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ นอกจากนั้น จะดูแลการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนให้ได้มาตรฐานและเป็นไปตามสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม
2.5 การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.5.1 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต โดยเน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับขีดความสามารถของแรงงานในการรับการถ่ายทอด และคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนให้การพัฒนาเทคโนโลยีดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อลดการนำเข้ารวมทั้งลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ
2.5.2 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยให้สิทธิพิเศษด้านภาษีอากรและการส่งเสริมการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้การศึกษาวิจัยสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการมากยิ่งขึ้น
2.5.3 เร่งรัดให้มีการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการผลิตและพัฒนาบุคลากรเพิ่มขึ้น
2.5.4 เร่งรัดการดำเนินงานระบบมาตรวิทยาเพื่อสนับสนุนการส่งออกอันจะทำให้ภาคเอกชนมีโอกาสแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศยิ่งขึ้น
2.6 การพัฒนาคนและสังคม
2.6.1 ด้านแรงงาน
(1) ปรับปรุงกฎหมายแรงงาน ตลอดจนกฎและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิงให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีความปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี
(2) เตรียมการรองรับแรงงานที่ย้ายกลับถิ่นฐานเดิมและผู้ถูกออกจากงานเนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจให้มีงานทำทั้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมในครัวเรือนตลอดจนส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้สามารถเข้าสู่ภาคแรงงานฝีมือได้
(3) เร่งรัดและขยายการผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ขยายบริการด้านการฝึกอบรมและการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานโดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และเร่งรัดการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน
(4) ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ทวิภาคีและไตรภาคี เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนและขยายโอกาสการมีงานทำในภาครวม
2.6.2 ด้านการศึกษา
(1) กำหนดแผนการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยก่วา 12 ปี ที่รัฐจะจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
(2) จัดให้มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติตลอดจนการปรับปรุงการจัดการศึกษาทุกระดับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้การศึกษาเป็นสื่อสร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าการวิจัยในศิลปวิทยาการ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ อนึ่ง รัฐบาลถือว่ากฎหมายตามข้อนี้เป็นกฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 173ของรัฐธรรมนูญ
(3) สนับสนุนให้เอกชน องค์กรวิชาชีพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยเน้นการมีความรู้คู่คุณธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาอบรมวิชาชีพและการจัดการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการจัดดูแลสวัสดิการของเด็กนักเรียนในด้านการรักษาพยาบาลอาหารเสริม นม และอาหารกลางวัน
(4) ให้ความรู้แก่พ่อแม่และครอบครัว ในการวางรากฐานเบื้องต้นของชีวิตและเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กก่อนเข้าเรียนชั้นประถม ตลอดจนการส่งเสริมการจัดการศึกษาก่อนวัยเรียนให้ทั่วถึง
(5) ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาเอกชนมีอิสระในการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพโดยเน้นบทบาทของรัฐในการส่งเสริมและสนับสนุน และจะนำระบบคูปองการศึกษามาใช้เพื่ออุดหนุนการศึกษาเอกชน
(6) เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีพัฒนาการรอบด้านโดยเฉพาะมีคุณธรรม และมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยตนเอง จัดให้มีมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติและระบบการประเมินและประกันคุณภาพทางการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้มีมาตรฐานเป็นเลิศ
(7) เร่งพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่ได้รับการยกย่องเพื่อให้ครูได้ทำงานอย่างมีเกียรติโดยปฏิรูปกระบวนการผลิตครู และการพัฒนาครู เน้นการผลิตครูในสาขาขาดแคลนตลอดจนการสร้างเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการยกย่องให้รางวัลครูที่ดีและเก่งมีความก้าวหน้าในอาชีพ โดยส่งเสริมสวัสดิการของครู
(8) ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการอย่างมีอิสระด้านงบประมาณและการบริหารจัดการ โดยอาจดำเนินการเฉพาะส่วนงานที่มีความพร้อมก่อนก็ได้
(9) กระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบ ให้มีความเชื่อมโยงกัน คือ ระบบวิทยาลัยชุมชน ซึ่งเน้นการผลิตบุคลากรโดยใช้เวลาสั้นหรือการตอบสนองความต้องการของชุมชนและกำลังคนระดับกลางเป็นหลัก ระบบมหาวิทยาลัยซึ่งเน้นการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี และการบริการทางวิชาการแก่สังคมเป็นหลัก และระบบมหาวิทยาลัยซึ่งเน้นการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาและการวิจัยชั้นสูงเป็นหลัก
(10) กระจายโอกาสทางด้านอุดมศึกษาไปยังส่วนภูมิภาคโดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้
2.6.3 ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
(1) ส่งเสริมบทบาทขององค์กรศาสนาต่าง ๆ ในการเผยแผ่หลักธรรมทางศาสนาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
(2) คุ้มครองพระพุทธศาสนาด้วยการร่วมกับองค์กรปกครองคณะสงฆ์ปรับปรุงกฎหมายกฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อความมั่นคงของพระศาสนา สนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ และส่งเสริมการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่อให้มีสถานะเป็นที่รับรองทั่วไป และสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
(3) สนับสนุนให้ประชาชน องค์กร สถาบันต่าง ๆ และชุมชนเข้าร่วมในกิจกรรมการอนุรักษ์ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
(4) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางการศึกษา การวิจัย และการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมทั้งการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาค
2.6.4 ด้านการกีฬา
(1) สนับสนุนเร่งรัดโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่เกี่ยวข้อง ให้ทันต่อการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
(2) กำหนดมาตรการเร่งรัดพัฒนามาตรฐานการกีฬาของประเทศอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างสนามกีฬาและจัดหาอุปกรณ์การกีฬาให้เพียงพอแก่การฝึกซ้อมและการเล่นกีฬาได้อย่างเต็มความสามารถ
(3) เสริมสร้างสวัสดิการเพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจของนักกีฬา รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการส่งเสริมการกีฬาของประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานสากลยิ่งขึ้น
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีนักกีฬาอาชีพประเภทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
(5) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และประชาชนพัฒนาสุขภาพอนามัย โดยการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาโดยให้มีสนามกีฬา อุปกรณ์กีฬาอย่างเพียงพอและทั่วถึง เพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเพื่อความเป็นเลิศในการแข่งขันทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
2.6.5 ด้านสุขภาพอนามัย
(1) สนับสนุนการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ โดยเน้นการให้สุขศึกษาและขยายงานสาธารณสุขมูลฐานเข้าสู่ระดับครอบครัว ทั้งนี้เพื่อให้มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนอย่างเหมาะสม
(2) เร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรง ได้แก่ โรคเอดส์ อุบัติเหตุ โรคมะเร็งโรคหัวใจและหลอดเลือด ยาเสพติด ตลอดจนโรคที่เกิดจาการการทำงานและสิ่งแวดล้อม และโรคที่มากับแรงงานต่างชาติ
(3) ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เหมาะสมร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งการพัฒนาการแพทย์แผนไทย
(4) เร่งรัดการผลิตบุคลากรสาธารณสุขสาขาขาดแคลนให้เพียงพอ มีการกระจายอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะ ในพื้นที่ชนบท และส่งเสริมให้อยู่ในระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
(5) เร่งรัดพัฒนาการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขให้สามารถตอบสนองต่อการผลิตอาหาร ยา เวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ เพื่อการส่งออกและทดแทนการนำเข้า รวมทั้งให้มีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์
(6) เฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนให้อยู่ในระดับมาตรฐาน และคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ ตลอดจนการจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในชนบทอย่างทั่วถึง
2.6.6 ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
(1) รณรงค์เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตสำนึกและตระหนักในการเคารพกฎหมายควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเร่งรัดและกวดขันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเป็นธรรม
(2) พัฒนาคุณภาพของเจ้าหน้าที่ จัดหาเครื่องมือ และพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมตลอดจนการป้องกันอุบัติภัย และสาธารณภัยให้สามารถอำนวยความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างทั่วถึง
2.6.7 ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
(1) กำหนดมาตรการเร่งรัดการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้สินค้าและบริการที่ดี มีความปลอดภัยและมีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม โดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่เอาเปรียบผู้บริโภค
(2) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม และควบคุฒให้การโฆษณาสินค้าและบริการตรงต่อความเป็นจริง
(3) ส่งเสริมให้เอกชนรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อมีบทบาทในการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค
2.6.8 ด้านอื่น ๆ
(1) เร่งรัดการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและสารเสพติดด้วยการใช้มาตรการทาง
กฎหมาย มาตรการทางการศึกษา การกีฬาและดนตรี การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ชุมชนสถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา เพื่อให้มีบทบาทในการแก้ปัญหายาเสพติดและสารเสพติด พร้อมทั้งจะเร่งรัดการปราบปรามผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดและสารเสพติด ทั้งผู้เสพ ผู้ค้า และผู้ผลิตโดยเน้นการดำเนินการกับนายทุนและผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้นจะขยายการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและเร่งผลักดันกฎหมายป้องกันการฟอกเงินอันเนื่องมาจากการค้ายาเสพติด อนึ่ง รัฐบาลถือว่ากฎหมายตามข้อนี้เป็นกฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 173 ของรัฐธรรมนูญ
(2) ดูแล ฟื้นฟู และพัฒนา ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มบุคคลที่สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่นคนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ โดยสนับสนุนให้ได้รับการศึกษา การฝึกอาชีพ การจ้างงานและนันทนาการตามควรแก่กรณี เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างภาคภูมิใจและดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
(3) สนับสนุนสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สื่อสารมวลชน และองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเด็กจรจัด แรงงานเด็ก และโสเภณี
(4) ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชายด้วยการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้หญิงและชายสามารถประกอบอาชีพหรือมีบทบาทในการบริหารและการตัดสินใจทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนโดยเท่าเทียมกันภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ
(5) ปลูกฝังค่านิยมพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนในเรื่องความมีเหตุผล การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ความมีน้ำใจนักกีฬา ความมีระเบียบวินัย ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การพึ่งตนเอง การประหยัด การยึดมั่นในเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นกำเนิดและชุมชนที่อยู่อาศัย การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์การรู้จักคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไม่ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข ยาเสพติด สารเสพติด บุหรี่ และสิ่งมึนเมา
2.7 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.7.1 สนับสนุนมาตรการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงสมรรถภาพของดินและศักยภาพของพื้นที่ เช่น เขตพื้นที่เกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ชุมชน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์
2.7.2 ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ทั้งป่าบกและป่าชายเลน โดยสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้และปลูกสร้างป่าชุมชน ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างเคร่งครัด
2.7.3 เร่งรัดการอนุรักษ์ ควบคุม ดูแลแหล่งน้ำ มิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยกวดขันให้หน่วยงานที่
รับผิดชอบดำเนินงานอย่างเคร่งครัดในการควบคุมคุณภาพน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำและแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการร่วมทุนของรัฐและเอกชนในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวม
2.7.4 เร่งรัดการกระจายอำนาจการจัดการสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นโดยส่งเสริมให้ท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการจัด ทำแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด
2.7.5 กำหนดมาตรการให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมการใช้ประโยชน์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่วิกฤติ
2.7.6 ปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และประชาชนตระหนักในความสำคัญของการอนุรักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนส่วนราชการ ชุมชนและองค์กรเอกชนให้ร่วมมีบทบาทด้วย
2.7.7 สนับสนุนให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนหรือเมืองที่มีการกระจายตัวของประชากรหนาแน่น หรือมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
2.8 การพัฒนากรุงเทพมหานคร
รัฐบาลมีนโยบายที่จะฟื้นฟูบูรณะกรุงเทพมหานครภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ตามแนวทางดังนี้
2.8.1 เร่งรัดให้เกิดการประสานงานระหว่างกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่กำลังก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา เพื่อให้เกิดการประสานโครงข่ายเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และพื้นที่ภาคกลางด้านตะวันตกและภาคกลางตอนบน และเพื่อเร่งการขยายเขตมหานครออกไป พร้อมทั้งกำหนดแผนงานสำหรับการพัฒนาเมืองบริวารและชุมชนชานเมืองของกรุงเทพมหานครในระยะยาว
2.8.2 ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองบริวารและชุมชนชานเมืองที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานคร ด้วยระบบคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย เพื่อลดความแออัดของกรุงเทพมหานครในระยะยาว
2.8.3 เร่งรัดการแก้ไขปัญหาจราจรตามแผนแม่บท
2.8.4 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการป้องกันน้ำท่วมแบบถาวร
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
นับแต่เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ คณะรัฐมนตรีนี้ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นใหม่เป็นคณะแรก กระผมและคณะรัฐมนตรีตระหนักดีว่า รัฐบาลมีภารกิจสำคัญที่จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย สามารถตรวจสอบและวิจารณ์ได้ เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลจะวางรากฐานและเร่งผลักดันให้มีมาตรการประกอบรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรืออยู่ในรูปแบบอื่นใดก็ตามให้สอดคล้องรองรับกันอย่างเป็นระบบครบถ้วน เพื่อความสมบูรณ์ในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ให้บังเกิดความเรียบร้อย ไม่สะดุดเพราะกฎระเบียบหรือความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่และประชาชน ทั้งจะต้องเตรียมการให้มีความพร้อมทั้งฝ่ายควบคุม ผู้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ประการสำคัญคือ ต้องมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม นอกจากสภาวการณ์ทางการเมืองดังกล่าวแล้ว คณะรัฐมนตรีกำลังจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอีกด้วย จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกจับตาดูเป็นพิเศษทั้งจากภายในและภาคนอกประเทศ เพราะการดำเนินการทางเศรษฐกิจของไทยแต่นี้ไปย่อมส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาคมโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้กระผมขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะใช้ความพร้อมที่มีอยู่ ความร่วมมือจากทุกวงการ และบทเรียนจากอดีต ระดมทรัพยากรทุกอย่างมาใช้ให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดและใช้เวลาอย่างมีค่าเร่งแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของชาติ ตามนโยบายและมาตรการที่กราบเรียนมาข้างต้นนี้ด้วยความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต รอบคอบ รวดเร็ว และเฉียบขาดการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลา 3 เดือนแรก เชื่อว่าไม่อยู่ในภาวะปกตินักเหตุที่มีสภาวการณ์พิเศษทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงต่างต้องบริหารงานของตนด้วยความอดทนและอดออมบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลจะรับฟังความเห็นจากประชาชน สื่อสารมวลชน และวงการธุรกิจภาคเอกชนให้กว้างขวางที่สุด ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ การแก้ปัญหาการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ตลอดจนการดำเนินการอื่น ๆ ตามนโยบายที่ได้แถลง และตามแผนปฏิบัติการที่รัฐบาลจะจัดทำต่อไป จะสัมฤทธิผลลงได้ก็ด้วยความเข้าใจและความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้แทนปวงชนชาวไทยในรัฐสภาแห่งนี้ กระผมและรัฐบาลจึงหวังอย่างเต็มเปี่ยมในความร่วมมือสนับสนุนของท่านสมาชิกรัฐสภาและเชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือด้วยดี
———————————————————
ภาคผนวก
บัญชีรายชื่อร่างพระราชบัญญัติอันจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี
——————
คณะรัฐมนตรีขอระบุชื่อร่างพระราชบัญญัติอันจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 173 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้
-
นโยบายการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการ
1.1 การปฏิรูปทางการเมือง
1.1.1 (หน้า 4 – 5)
(1) ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ….
(2) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ….
(3) ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(4) ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(5) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(6) ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ. ….
(7) ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(8) ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ….
(9) ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….
(10) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เกี่ยวกับการปรับปรุงส่วนราชการและการจัดระเบียบราชการต่าง ๆ)
(11) ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เกี่ยวกับการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่าง ๆให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ)
(12) ร่างพระราชบัญญัติการบริหารทรัพยากรสื่อสารของชาติ พ.ศ. ….
(13) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(14) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(15) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(16) ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(17) ร่างพระราชบัญญัติการสงเคราะห์และคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
1.2.5 (หน้า 4 – 5 และหน้า 8 – 9)
(1) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น)
(2) ร่างพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(3) ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(4) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(5) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 พ.ศ. ….
(6) ร่างพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(7) ร่างพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(8) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ….
(9) ร่างพระราชบัญญัติจัดสรรรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(10) ร่างพระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(11) ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
2.6 การพัฒนาสังคม
2.6.2 ด้านการศึกษา (หน้า 31) ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….