กฏหมายสำคัญในราชกิจจานุเบกษา
ชื่อเรื่อง พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐
หัวข้อ | รายละเอียด |
---|---|
สาระสำคัญ |
๑. การปฏิรูปประเทศ ต้องดำเนินการโดย ๑.๑ ให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๗ ของร่างรัฐธรรมนูญ ๑.๒ กำหนดด้านที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข (ด้านตามมาตรา ๒๕๘ ของร่างรัฐธรรมนูญ) รวมทั้งต้องจัดให้มีการปฏิรูปในด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม และด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ๑.๓ ต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒. กำหนดขั้นตอนการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ดังนี้ ๒.๑ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบแล้วเสนอต่อที่ประชุมร่วมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ๒.๒ ที่ประชุมร่วมเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ๒.๓ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ๒.๔ รายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับต่อไป ๓. การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ๓.๑ เมื่อแผนการปฏิรูปประเทศใช้บังคับแล้ว ก็มีสภาพบังคับให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ โดยมีคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่กำกับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ ๓.๒ หากมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านใด เพราะมีการแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บทหรือเหตุอื่นใด ก็สามารถแก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านนั้นได้ โดยให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านนั้นดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ๔. กำหนดกลไกการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ๕. กำหนดการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง โดยกำหนดให้ขั้นตอนการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น และในขั้นตอนการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลต้องเผยแพร่รายงานให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีวิธีการที่ประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้โดยรวดเร็ว ๖. บทเฉพาะกาล ได้กำหนดบทเฉพาะรองรับการดำเนินการในวาระเริ่มแรก เพื่อให้การดำเนินการปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดให้นำรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้วย และให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่อง |
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย |
๑. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน มีหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ โดยมีสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ๒. หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ ๓. คณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่กำกับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ |
วันที่มีผลบังคับใช้ | ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป |
วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา | ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ |
ดาวน์โหลดไฟล์ |